ส่องโอกาส มวยกรง ในโอลิมปิก เมื่อผู้จัดไทยลั่นพร้อมดัน

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

มนุษย์มีเกมการละเล่นที่กลายเป็น “กีฬา” เก่าแก่มากมายหลายชนิด ทุกวันนี้ก็ยังมีเกมหรือกิจกรรมแบบต่าง ๆ ที่กำลังจะถูกพิจารณาจัดว่าเป็น “กีฬา” ระดับสากล และในโลกสมัยใหม่ องค์กรกีฬาระดับนานาชาติที่ดูแลกีฬาชนิดต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้ว มีเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันให้ได้บรรจุในมหกรรมโอลิมปิก สำหรับชนิดกีฬาที่มาแรงในรอบทศวรรษที่ผ่านมาอย่างศิลปะการต่อสู้ผสม หรือ mixed martial arts ก็มีเป้านั้นเช่นกัน

กรณีที่มหกรรมกีฬาระดับนานาชาติบรรจุชนิดกีฬาใหม่ ๆ เข้าไป มักเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเสมอ โดยเฉพาะมหกรรมระดับทวีปจนถึงระดับโลกอย่างโอลิมปิก ซึ่งเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2018 ที่อินโดนีเซียก็ประเดิมเป็นกีฬาสาธิต ขณะที่โอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็เริ่มมีพูดถึงข้อเสนอบรรจุเบรกแดนซ์ อันเป็นการเต้นรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสมัย ไปถึงกีฬาอย่างสเกตบอร์ด ที่เพิ่งผ่านเข้าไปสู่โอลิมปิกที่โตเกียว 2020

สำหรับกีฬาต่อสู้ มีประเด็นที่ถูกพูดถึงมากว่า ชาตรี ศิษย์ยอดธง นักธุรกิจหนุ่มผู้ปลุกปั้น “มวยกรง” รายการ “วัน แชมเปี้ยนชิพ” (ONE Championship) ที่ประสบความสำเร็จในโซนเอเชีย พร้อมหนุนผลักดันศิลปะการต่อสู้ผสมให้เป็นอีกหนึ่งกีฬาในโอลิมปิก

มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษย์ไม่เคยหยุดนิ่งมาตั้งแต่โอลิมปิกที่เอเธนส์ เมื่อปี 1896 ซึ่งครั้งนั้นมีนักกีฬาร่วม 241 รายมาสู่ทุกวันนี้ที่มีนักกีฬาเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 10,000 รายในแต่ละครั้ง ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้เสมอ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นได้ด้วยอย่างง่ายดาย

กระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลมีหลายขั้นตอน และมีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนตั้งแต่ต้องได้การยืนยันรับรองจากไอโอซี เกณฑ์สำคัญคือไอโอซีกำหนดให้กิจกรรมที่จะได้รับสถานะสิทธิ์นั้นต้องมีองค์กรระดับนานาชาติ ซึ่งไม่ได้บริหารงานโดยรัฐเป็นผู้จัดการดูแลความฝันของแฟนมวยและคนในวงการยังต้องผ่านเส้นทางอีกยาวไกล แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ออกก้าวเดินกันไปแล้ว โดยมีการรวมกลุ่มจัดตั้งสมาคมศิลปะการต่อสู้ผสมโลก (GAMMA) ตั้งแต่ปี 2018 กลุ่มนี้มีรายการ ONE จับมือเป็นพันธมิตรในก๊วนด้วย ควบคู่กับการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ศิลปะการต่อสู้ผสมนานาชาติ (IMMAF) ซึ่งกลุ่มนี้มีทัวร์นาเมนต์แถวหน้าของวงการอย่าง UFC เป็นพรรคพวก

IMMAF ยื่นเรื่องให้สมาคมแห่งสหพันธ์กีฬานานาชาติ (GAISF) พิจารณาสถานะขั้นต้นเพื่อนำไปสู่การพิจารณารับรอง “กีฬา” ศิลปะการต่อสู้ผสมต่อไป แต่สหพันธ์แถลงผลการพิจารณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า หนังสือยื่นเรื่องที่จะเป็นใบเบิกทางขั้นต้นไปสู่การพิจารณาสถานะกีฬาต่อไปถูกตีตก

ขณะที่ความพยายามของ IMMAF สะดุด ฟาก GAMMA ก็น่าจะถูกไฟสปอตไลต์ส่องลงมาว่า จะเดินหมากต่อเป็นคู่ขนานเพื่อช่วยผลักดันกีฬาไปสู่ขั้นตอนเบื้องต้นสำหรับรับพิจารณาสถานะกีฬาในทางเทคนิคหรือไม่ โดยชื่อบุคคลที่ตกเป็นข่าวดังในแวดวง “มวยกรง” ระดับโลกคือชาตรี ศิษย์ยอดธง ซึ่งอาจเป็นอีกคีย์แมนที่จะช่วยได้อีกแรง

ไบรอัน มาซิคส์ คอลัมนิสต์สายกีฬาและเกม เขียนบทความลงในเว็บไซต์ของนิตยสารฟอร์บส เล่าว่า เขามีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารรายนี้ ซึ่งเชื่อว่าความเป็นไปได้ในการผลักดันให้บรรจุในโอลิมปิก 2024 หรือ 2028 ยังมีโอกาสอยู่ โดยเฉพาะในปี 2028 ซึ่งจัดขึ้นที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นตลาดใหญ่สำหรับกีฬาชนิดนี้ ไม่แน่ว่าเจ้าภาพอาจยื่นเรื่องแนะนำกีฬานี้ให้ไอโอซีพิจารณาบรรจุแข่งใน 2028 ตามสิทธิ์ของเจ้าภาพ

แต่ก็ต้องยอมรับว่า กติกาในการชกจำเป็นต้องปรับเพื่อสอดคล้องกับการคำนึงเรื่องความปลอดภัยของผู้แข่ง นั่นหมายความว่า อาจมาถึงการห้ามออกอาวุธบางประเภท เช่น ศอก หรือการทำให้ล้ม ขณะที่ความดิบตามต้นฉบับซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะต่อสู้ผสมอาจถูกปรับมาให้สวมหมวกลดแรงกระแทก สนับเข่า-ศอก และนวมที่หนามากกว่าปกติที่ใช้ในทัวร์นาเมนต์

ภาพลักษณ์และผลงานของคนวงการกีฬาไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลกมาหลายทศวรรษ ช่วงแรกอาจเริ่มจากกีฬาไม่กี่ชนิด ภายหลังจากความร่วมมือร่วมใจกันและความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหลายด้าน ทำให้นักกีฬาและคนในวงการกีฬาไทยสามารถพัฒนาไปสู่เวทีระดับโลก เชื่อว่า ประสบการณ์และเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเมื่อประกอบกับความสามารถของคนไทยน่าจะพอช่วยเหลืออีกแรงได้

เป็นที่รู้กันว่า ระเบียบและกฎเกณฑ์การบรรจุกีฬาในโอลิมปิกมีรายละเอียดที่เข้มงวด เต็มไปด้วยขั้นตอนที่เข้มข้น บางประเภทไอโอซีประกาศรับรองสถานะ แต่ก็อาจไม่ได้จัดเป็นอีเวนต์แข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ก็ได้ เนื่องจากกฎระเบียบที่รัดกุมและระดับความเข้มข้นในการพิจารณาที่ถือได้ว่าเป็นที่สุดในกลุ่มการกีฬาแล้ว

เชื่อว่า กระแสของกีฬาที่มาแรงชนิดนี้อาจพอเรียกความสนใจและสร้างกระแสให้คณะกรรมการต้องหันมาฟังบ้าง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว แฟนกีฬาย่อมต้องยอมรับว่ากีฬาชนิดนี้ยังต้องใช้เวลาวางรากฐานอีกหลายปี ไม่ว่าจะในแง่ความปลอดภัย กติกา ตลาด และที่สำคัญคือระดับเยาวชน อันเป็นรากฐานหนึ่งที่คณะกรรมการโอลิมปิกให้น้ำหนักในแง่ประโยชน์ต่อเยาวชน ไปจนถึงผลกระทบทางสังคม ซึ่งเป็นอีกข้อที่ต้องใช้เวลาศึกษาเก็บข้อมูลอีกยาวนานเพื่อมายืนยันพิสูจน์ตัวเอง ลบล้างคำถามคาใจต่อสาธารณชน กว่าจะไปถึงฝันในวันนั้น วันนี้อาจต้องอธิบายกระแสด้วยวลีว่า “หนทางอีกยาวไกลนัก”