รถหรูอลเวงฉบับ “โรนัลโด้” ยานพาหนะนักกีฬาดังสะท้อนอะไรได้บ้าง

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ยานพาหนะในโลกสมัยใหม่ไม่ได้เป็นแค่เครื่องยนต์กลไกที่เอาไว้เดินทางอย่างเดียว มันกลายเป็นเครื่องบ่งบอกเกี่ยวกับผู้ขับขี่ได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นตัวตน วิถีชีวิต และข้อที่น่าจะสำคัญอันดับต้นๆ ย่อมเป็นฐานะทางการเงิน นักกีฬาที่มีรายได้สูงติดอันดับโลกก็มักมาคู่กับของเล่นราคาแพงเหล่านี้ด้วย

ความจริงก็เป็นอย่างที่ทุกคนคิดว่า ของหรูหราอยู่กับนักกีฬามานานแล้ว กระทั่งเกิดสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้นักฟุตบอลมีช่องทางสื่อสารส่วนตัวไปถึงแฟนได้โดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา นักฟุตบอลก็เป็นพวกที่นิยมเผยแพร่ภาพทรัพย์สินส่วนตัว (ทั้งที่เป็นของส่วนตัวจริง และที่เป็นของจากสปอนเซอร์) มีรถเป็นอีกหนึ่งวัตถุนั้นด้วย โดยนักฟุตบอลที่เป็นข่าวกับรถหรือของหรูหราบ่อยครั้งในยุคนี้ก็เป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก คริสเตียโน โรนัลโด้

ดาวเตะโปรตุเกส มีชื่อติดลำดับนักกีฬารายได้มากที่สุดอันดับ 3 ของโลกเมื่อปี 2018 (ตามหลังลิโอเนล เมสซี่ และฟลอยด์ เมย์ เวเธอร์ จูเนียร์) โรนัลโด้ เพิ่งตกเป็นข่าวช่วงปลายเดือนเมษายน 2019 ว่า เขาคือผู้ซื้อรถ “La Voiture Noire” ซึ่งเป็นรถรุ่นพิเศษครบรอบ 110 ปีของบริษัท “บูกัตติ” (Bugatti) มูลค่า 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ว่ากันว่าเป็นราคาขายรถที่มูลค่าสูงที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก

ตามรายละเอียดของผู้ผลิต รถคันนี้สามารถเร่งความเร็วได้ถึง 260 ไมล์ต่อชั่วโมง สื่อกีฬาแถวหน้าของโลกจากสเปน, อิตาลี และอังกฤษ รายงานกันว่า ดาวเตะของยูเวนตุส คือผู้ซื้อรถปริศนารายนี้ ซึ่งตะครุบรถหรูที่แทบจะเป็นคันพิเศษ หาที่ไหนไม่ได้อีกไปครองในปีนี้ แม้ว่ากว่าจะได้ขับจริงคือต้องรอถึงปี 2021 ตามตารางที่บริษัทผู้ผลิตคาดว่าจะสร้างสรรค์ผลงานสุดท้ายเสร็จก็ตาม

ข่าวนี้เป็นที่ฮือฮากันไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังกระแสโหมแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ตัวแทนของคริสเตียโน โรนัลโด้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสายธุรกิจดังรายหนึ่งโดยปฏิเสธเรื่องโรนัลโด้เป็นผู้ซื้อปริศนารายนี้ตามที่มีรายงานออกมา

โรนัลโด้ไม่ใช่แค่นักเตะคนเดียวที่ชอบสะสมรถหรู แต่อย่างน้อยคงบอกได้ว่าข้อมูลจากที่สื่อหลายแห่งรวบรวมตลอดหลายปีที่ผ่านมาสามารถบอกได้ว่า โรนัลโด้ต้องติดอันดับนักกีฬาที่ครอบครองรถที่มีมูลค่ารวมมากที่สุดในโลกรายหนึ่งอย่างแน่นอน

ด้วยคอลเล็กชั่นอย่างเบนท์ลีย์, เฟอร์รารี่, ปอร์เช่, ออดี้ และไม่พลาดที่บูกัตติ ก่อนหน้านี้โรนัลโด้มีชื่อเป็นผู้ซื้อ Bugatti Chiron มูลค่าประมาณ 2.5-3 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาแล้ว แต่รถของโรนัลโด้เมื่อปี 2018 ก็ยังไม่ใช่รถของนักกีฬาที่ราคาแพงที่สุดเท่าที่เก็บข้อมูลได้

Motor Biscuit เว็บไซต์เกี่ยวกับยานยนต์เผยแพร่ข้อมูลว่า ฟลอยด์ เมย์ เวเธอร์ จูเนียร์ ซื้อรถยนต์ที่ทะลุเพดานซูเปอร์คาร์ ไปเป็น “ไฮเปอร์คาร์” ของ Koenigsegg CCXR Trevita ซึ่งทำมาสำหรับในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะแค่คันเดียว (ฟลอยด์อ้างว่ารุ่น Trevita ทำมาแค่ 2 คันเท่านั้น) มูลค่าประมาณ 4.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2015 แต่ก็ประกาศขายไปเมื่อปี 2017 โดยมีรายงานว่าเคาะราคาขายต่อที่ 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับโรนัลโด้แล้วมูลค่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่น่าจะทำให้หนุ่มวัย 34 ปีเดือดร้อนเรื่องการเงิน จากการสำรวจของนิตยสารฟอร์บส โรนัลโด้ทำรายได้เมื่อปี 2018 รวมทั้งค่าเหนื่อยและผู้สนับสนุนที่เป็นแบรนด์ระดับโลกประมาณ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรื่องการซื้อรถ (แม้จะเป็นข่าวลือหากอ้างอิงตามตัวแทนของแข้งดัง) คงเป็นเรื่องไม่เหลือบ่ากว่าแรง

แต่ก็อย่างว่า โลกการสื่อสารทุกวันนี้เดินไปเร็ว ถ้าหากรายงานข่าวจาก Business Insider ที่อ้างว่าสัมภาษณ์ตัวแทนโรนัลโด้มีมูลระดับหนึ่ง นั่นย่อมทำให้เห็นว่า กลยุทธ์ไม้เด็ดในการหาข่าวของสื่อกีฬาก็ยังมีเอกลักษณ์ที่การนำ “ข้อมูล” บางส่วนมาปะติดปะต่อแล้วร้อยเรียงเรื่องราวขึ้นมาตั้งข้อสังเกต ไม่ต่างจากกลยุทธ์ทำข่าวการย้ายทีมในระยะตลาดซื้อ-ขายนักเตะกำลังทำการ

สื่อตะวันตกในแวดวงกีฬาเมื่อหลายทศวรรษก่อน ก็เริ่มต้นการทำข่าวย้ายทีมลักษณะคล้ายกับข่าวซุบซิบที่เริ่มเฟื่องฟูในวงการสื่อสารมวลชนเมื่อกลางยุค 50 ถึงยุค 60 กรรมวิธีในการทำบางครั้งอาจไม่ยากและไม่ง่ายอย่างที่คิด บางครั้งเริ่มด้วยการโยนประเด็น อาทิ ใครบางคนกำลังย้ายทีม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนอ่านไม่มีทางรู้เลยว่าแหล่งข่าวหรือต้นตอของข้อมูลที่สื่อต้องปกปิดอยู่แล้วนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือหากมีตัวตนจริงแล้วสื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาจริงหรือไม่อย่างไร

สิ่งที่ได้กลับมาคือ ผลิตข่าวสารออกมาขายได้ (บางครั้งสื่อก็ถูกฟ้องถ้าข่าวโจมตีรุนแรงเกิน) หากเกิดกระแสขึ้นผู้ที่ตกเป็นข่าวอย่างน้อยก็ต้องออกมาโต้ตอบ นั่นเท่ากับเป็นข้อมูลให้หยิบมาทำเป็นเนื้อหาข่าวสารต่ออีกทอดหนึ่ง

เรื่องนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับกีฬาโดยตรง ในแง่หนึ่งมันยังกระตุกต่อมว่า รถยนต์ไฮเอนด์ระดับโลกอาจไม่ต้องมาทำการตลาดด้วยวิธีนี้ แต่ในขณะเดียวกัน หากจะบอกว่าสื่อหาข่าวมาขายก็อาจพอมีน้ำหนักส่วนหนึ่ง แต่ถ้าจะให้เชื่อตัวแทนของโรนัลโด้ซะทีเดียวก็คงปักใจลำบาก เนื่องจากมีหลายครั้งที่ตัวแทนคนดังออกมาให้ข่าวแต่ท้ายที่สุดก็ปรากฏว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอยู่ดี

ในโลกที่ข้อเท็จจริงเพียงหนึ่งเดียว หรือความจริงสูงสุดมีให้สัมผัสน้อยลงทุกที กรณีข่าวซุบซิบในวงการกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลแสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นเรื่องจริงแท้ถาวรจนกว่าจะได้ข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างเป็นทางการ ไม่แน่ว่าปี 2021 อาจคดีพลิกอีกก็ได้