เบื้องหลังเศรษฐีซื้อทีมฟุตบอล ยุคคอมมิวนิสต์ล่ม สู่ทุนนิยมเบ่งบาน

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

บรรยากาศของเกมฟุตบอลทุกวันนี้ แฟนบอลส่วนใหญ่ยอมรับกันแล้วว่ามันแปรสภาพเป็นธุรกิจมากกว่าบรรยากาศเดิมที่ฟุตบอลระดับสโมสรถูกดำเนินการด้วย

นักธุรกิจท้องถิ่นด้วยเหตุผลเรื่องใจรักฟุตบอล มาสู่ยุคที่สโมสรต้องพึ่งพานักธุรกิจทั้งในแง่การแข่งขันในสนาม นอกสนาม และความมั่นคง แต่การได้นายทุนเข้ามาบริหารสโมสรก็อาจไม่ได้น่าพิสมัยเสียทุกกรณี

ประเด็นเรื่องธุรกิจฟุตบอลร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีกระแสข่าวว่าอดีตเจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ อย่างนายทักษิณ ชินวัตร เชื่อมโยงกับการเข้าซื้อสโมสรคริสตัล พาเลซ ในพรีเมียร์ลีก กระแสข่าวนี้ไม่ได้แพร่หลายเฉพาะแค่ในไทย แต่ยังเป็นหัวข้อที่สื่ออังกฤษและสำนักข่าวกีฬาทั่วโลกสนใจ เนื่องจากชื่อ “ทักษิณ” นี้เป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจ นักการเมือง ที่เข้ามาในวงการลูกหนังในยุคแห่งนายทุน

หากย้อนกลับไปก่อนหน้าการเข้ามาของนายทุนโลกลูกหนัง (โดยเฉพาะในอังกฤษ) อยู่กับปัญหาอีกแบบที่ไม่ใช่ปัญหาเชิงการแข่งขันทางการเงิน หรือความสำเร็จในด้านธุรกิจ แต่เป็นปัญหาเชิงการบริหารจัดการทั่วไปมากกว่า ปัญหาส่วนใหญ่มาจากกลุ่มฮูลิแกน หรือแฟนบอลหัวรุนแรง บรรยากาศฟุตบอลในอังกฤษที่ว่ากันว่าเหมือนโซนสงครามย่อม ๆ เลยทีเดียว เมื่อถึงเกมระดับยุโรป ปัญหานี้ก็ตามไปพร้อมกับแฟนบอลอังกฤษด้วย

ปลายปี ค.ศ. 1989 เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลง เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นของจุดจบสำหรับคอมมิวนิสต์ในยุโรป ไปจนถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา เหล่านี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงชัยชนะของฝั่งเสรีนิยมประชาธิปไตย และกระแสทุนนิยม เหนือการปกครองแบบเบ็ดเสร็จโดยรัฐ ซึ่ง เจมส์ มอนทาจ

ผู้เขียนหนังสือ The Billionaires Club มองว่า ช่วงเวลาที่กำแพงเบอร์ลินพังทลาย สภาพความโกลาหลในช่วงเวลานั้นสร้างโอกาสให้นักธุรกิจได้เข้ามาหาผลประโยชน์ด้วย

เมื่อสภาพเศรษฐกิจยุคหลังคอมมิวนิสต์ในยุโรปเป็นตัวเร่งให้เกิดการแปรรูปแบบเอกชน และการผ่อนปรนเกณฑ์ต่าง ๆ มุ่งเน้นเรื่องการสร้างฐานะ ความมั่งคั่งอันนำมาซึ่งความยิ่งใหญ่เพิ่มความแตกต่างทางชนชั้น เมื่อเศรษฐีกลายเป็นมหาเศรษฐี วงการลูกหนังก็เป็นอีกหนึ่งโซนที่ได้รับผลกระทบไปด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้คือ แม้แต่ในพรีเมียร์ลีก ก็ได้รับอานิสงส์จากมหาเศรษฐีใหม่ที่มั่งคั่งร่ำรวยแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่งในช่วงกลางยุค 90 นั่นคือ มีนักลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยที่พวกนักธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่คนท้องถิ่น ไม่มีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับสโมสร ไม่สามารถระบุแรงจูงใจอย่างชัดเจนได้ เช่นเดียวกับประวัติและภูมิหลังที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้

ไม่เพียงแค่ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ แต่ในอิตาลี ก็เริ่มเป็นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี เข้าเทกโอเวอร์เอซี มิลาน ประมาณ 1986-87 สร้างทีมมิลาน ชุดที่ว่ากันว่า

ยอดเยี่ยมที่สุดอีกยุคหนึ่งขึ้นมาและพาทีมประสบความสำเร็จอย่างสูง) หลังจากนั้นก็เริ่มมีนักธุรกิจเข้ามาลงทุนในฟุตบอลมากมายจนกระทั่งปัจจุบัน ลีกแถวหน้าของยุโรปเต็มไปด้วยมหาเศรษฐีจากทุกมุมโลกเข้ามา และที่โดดเด่นคือเศรษฐีจากเอเชีย, ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก ไม่เพียงแค่เอกชน ยังมีระดับรัฐของกาตาร์ ที่เข้ามาชักใยบริหารปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในฝรั่งเศส

นักธุรกิจเหล่านี้ล้วนเอ่ยปากเรื่องการพัฒนาสโมสรและความรักในฟุตบอล หากแต่แฟนบอลรับรู้กันดีว่าแรงจูงใจเบื้องหลังที่แท้จริงนั้น ยากที่จะบอกได้แบบเจาะจง และแต่ละรายล้วนมีเป้าหมายแตกต่างกัน ที่น่าสนใจคือกรณีของเหล่าผู้มีบรรดาศักดิ์ระดับเจ้าชายหรือท่านชีกห์ (Sheikh) ซึ่งมาถือครองสโมสรใหญ่และปั้นทีมด้วยงบฯมหาศาลจนเถลิงแชมป์ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศที่มาจากการแข่งขันกันเรื่องทางการค้าและความเป็นหนึ่งในภูมิภาค บางคนมีอิทธิพลจากหลังม่าน บางคนเผยตัวหน้าม่าน

การบริหารทีมสำหรับมหาเศรษฐีที่ว่านี้ ไม่ง่ายอย่างที่คิด ใครหลายคน หรือแม้แต่ นายทักษิณ ชินวัตร เองยังยอมรับว่า การบริหารทีมในพรีเมียร์ลีกต้องมีหลายกระเป๋ามาก เรื่องจำนวนกระเป๋ายังไม่พอ แต่ละกระเป๋าก็ต้องหนาด้วย เมื่อโดนยึดเงินก็ต้องหาทางหยิบยืม สุดท้ายก็ขายไปให้ชีกห์ มานซูร์ ที่เป็นบุคคลสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อรัฐบาลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้จะไม่เปิดเผยตัวเลขกำไร แต่สื่ออังกฤษคาดกันว่าทักษิณขายสโมสรได้เงินเข้ากระเป๋าตัวเองประมาณ 50 ล้านปอนด์

สำหรับนักธุรกิจแล้ว การบริหารทีมฟุตบอลทุกวันนี้สูบเงินในกระเป๋ารวดเร็วกว่ากำไรที่ได้มา แต่สิ่งที่จะซื้ออายุขัยในวงการธุรกิจลูกหนังและมอบรางวัลทางอ้อมให้คือ ความสำเร็จที่มอบให้แฟนบอล นั่นย่อมมาพร้อมกับภาพลักษณ์เชิงบวก หากคุณสามารถพาทีมได้แชมป์ ย่อมเป็นฮีโร่ในสายตาแฟนบอลหรือแม้แต่คนทั่วโลก เมื่อทีมสำเร็จก็ย่อมสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์สโมสร นั่นหมายความว่า ราคาขายที่เพิ่มมากขึ้น และโอกาสในการทำกำไรกลับคืนมา

แต่ใช่ว่านักธุรกิจทุกคนจะประสบความสำเร็จไปตลอดรอดฝั่ง หลายรายทั้งจากเอเชียและตะวันออกกลางที่เข้ามาลงทุนในทีม อัดฉีดงบประมาณเข้าไปได้ บางทีมได้แชมป์ แต่ไม่สามารถประคองตัวเองได้นานก็ตกชั้นไปแล้วมากมาย อาทิ กรณีของพอร์ตสมัท คงต้องบอกว่า โลกธุรกิจฟุตบอลวันนี้ก็อยู่ยากทีเดียว