“นิกิ เลาด้า” ตำนาน F1 กับหนึ่งวีรกรรมกล้าหาญ ที่สุดในโลกกีฬา

“กล้าหาญ” ในความหมายของคนทั่วไปอาจมีนิยาม คำจำกัดความ และภาพการกระทำบางอย่างในจินตนาการที่อธิบายว่าเป็นความกล้าหาญแตกต่างกันออกไป สำหรับคนกีฬาก็ไม่ต่าง การกระทำหลายอย่างของนักกีฬาถูกจัดให้เป็น “ความกล้าหาญ” ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกีฬาเสี่ยงอันตรายอย่างรถแข่งในยุค 70

เหตุผลที่เลือกบอกเล่าเกี่ยวกับ “ความกล้าหาญ” ในวงการกีฬาช่วงนี้ เป็นเพราะโลกเพิ่งสูญเสียนักกีฬาที่เชื่อกันว่ากล้าหาญที่สุดอีกรายอย่าง นิกิ เลาด้า ตำนานนักแข่งเอฟวัน ชาวออสเตรียน วัย 70 ปี สำหรับแฟนกีฬารุ่นใหม่อาจพอรู้จักชื่อเจ้าของแชมป์โลกเอฟวัน 3 สมัยกันบ้างจากภาพยนตร์เรื่อง Rush (2013) ซึ่งเล่าการขับเคี่ยวระหว่างนิกิ เลาด้า กับเจมส์ ฮันท์ คู่ปรับที่แย่งชิงเจ้าความเร็วอย่างเข้มข้นอีกคู่ในยุค 70 และอาจเป็นคู่แข่งที่ดุเดือดที่สุดอีกคู่ในวงการกีฬาด้วย

ความทรงจำที่คนกีฬายุคก่อนคุ้นเคยวีรกรรมของเขานั่นคือ การกลับมาลงแข่งหลังบาดเจ็บอย่างรุนแรงในอุบัติเหตุระหว่างเยอรมัน กรังด์ปรีซ์ เมื่อปี 1976 อุบัติเหตุทำให้เลาด้าได้รับแผลไฟไหม้ระดับ 3 ซึ่งทำให้ใบหน้าซีกหนึ่งของเขาเป็นแผลไฟไหม้ เสียหูข้างขวาเกือบหมด กว่าที่นักขับรายอื่นจะเข้ามาถึงรถที่เพลิงลุกไหม้แล้วช่วยดึงเขาออกจากรถเลาด้าก็สูดสารพิษเข้าไปในปอดปริมาณหนึ่งแล้ว

เรียกได้ว่าอาการของเลาด้าเข้าขั้นโคม่า แต่นักขับออสเตรียนพักรักษาตัวเพียง 40 วัน พลาดแข่งแค่ 2 สนามแล้วกลับมาแข่งจนจบที่อันดับ 4 ในรายการอิตาเลียน กรังด์ปรีซ์ หลังจบการแข่งเขาพบว่าหมวกผ้าเปียกโชกไปด้วยเลือดจากแผลไฟไหม้ที่ยังไม่หายสนิทดี เมื่อเขาพยายามถอดหมวกผ้าที่ใช้แข่งออกกลับพบว่ามันติดกับผ้าพันแผลไปแล้ว และต้องฉีกมันออก

การรอดชีวิตและการตัดสินใจกลับมาลงแข่งเมื่อปี 1976 เป็นที่จดจำสำหรับแฟนกีฬาเจ้าความเร็วเสมอมา อาการบาดเจ็บของเขายังส่งผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องจากเขาสูดดมสารพิษเข้าไปเมื่อปลายปี 2017 มีรายงานว่า นิกิ เลาด้า เพิ่งผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายปอดเมื่อเดือนสิงหาคม กระทั่งกลางปี 2018 ครอบครัวของเขา เปิดเผยว่า เลาด้าเสียชีวิตอย่างสงบในโรงพยาบาลที่ซูริก โดยก่อนหน้านี้เขาก็ป่วยมาระยะหนึ่งแล้ว และเคยรับบริจาคไตข้างหนึ่งจากภรรยาคนที่ 2 เมื่อปี 2005 หลังจากไตที่เปลี่ยนถ่ายเมื่อปี 1997 ล้มเหลว

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ความรู้สึกเบื้องหลังที่เลาด้าเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกที่เขาเอ่ยว่า เอาชนะความกลัวได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม เขาสารภาพในภายหลังผ่านหนังสืออัตชีวประวัติว่า นั่นไม่เป็นความจริง และยอมรับว่าคงเป็นเรื่องไม่เข้าท่าหากไปทำอะไรอย่างอื่นที่เผยจุดอ่อนให้กับคู่แข่ง ซึ่งย่อมทำให้สถานการณ์เข้าทางคู่แข่งแทน เลาด้าลงขับรถเพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับร่างกายและจิตใจของเขาแทนที่จะนอนบนเตียงคิดฟุ้งซ่าน ซึ่งอาจทำให้เขาหมดอาลัยตายอยากจนไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ได้

นอกเหนือจากเรื่องการกลับมาที่ลือลั่นแล้ว แฟนกีฬายังจดจำการขับเคี่ยวชิงความเป็นหนึ่งระหว่างเจมส์ ฮันท์ นักขับชาวอังกฤษของทีมแม็กลาเรนในช่วงยุค 70 ได้ดี ฮันท์เป็นนักขับขึ้นชื่อเรื่องรูปลักษณ์ดี มีลักษณะบุคลิกแบบเพลย์บอย ขณะที่เลาด้ามีบุคลิกแบบเคร่งขรึมจริงจังและแทบเหมือนคนไม่แสดงอารมณ์ด้วยซ้ำ

ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งคู่ออกมาแบบเติมความดุเดือดแบบ “ศัตรู” เข้าไป แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ขณะที่ในสนามก็แข่งขันกันไปตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองแม้ว่าจะขับเคี่ยวแย่งตำแหน่งและรางวัลกันอย่างดุเดือด บทสรุปฤดูกาล 1976 ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์พลิกโผแบบดราม่าที่สุดในวงการเช่นกัน

เลาด้าลงแข่งสนามสุดท้ายในเจแปน กรังด์ปรีซ์ โดยครองความได้เปรียบ คะแนนรวมนำฮันท์ 3 แต้ม

ระหว่างแข่งดันเกิดฝนตกหนัก เลาด้าถอนตัวหลังรอบ 2 โดยให้เหตุผลว่าอันตรายเกินไปที่จะแข่งต่อ เมื่อพิจารณาจากสภาพการมองเห็นที่ลดลงหลังจากเคยบาดเจ็บหนัก ฮันท์แข่งไปจนจบรายการในอันดับ 3 ส่งให้คู่ปรับปาดหน้าคว้าแชมป์ด้วยคะแนนรวมเหนือกว่า 1 แต้มเท่านั้น เลาด้าต้องกลับมาแก้ตัวคว้าแชมป์โลกอีกครั้งในปี 1977

นักขับออสเตรียนเกิดอารมณ์ศิลปินขึ้นในปี 1979 และแจ้งกับผู้บริหารรายการเอฟวันว่า เขาไม่ต้องการขับรถแข่งวนเป็นวงกลมอีกแล้ว หันเหไปเป็นผู้บริหารสายการบิน “เลาด้าแอร์” ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นในบ้านเกิดแบบเต็มเวลา (สายการบินถูกควบรวมกับแบรนด์ออสเตรียน แอร์ไลน์ส ในปี 2013) ภายหลังเขายังหวนคืนสนามกลับมาได้แชมป์อีกครั้งเมื่อปี 1984

บทบาทของเลาด้ากับวงการเอฟวันยังดำเนินต่อเนื่อง ถึงจะไม่ใช่ในบทบาทนักแข่ง โดยพลิกมาเป็นผู้บริหาร ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการในกลุ่มต่าง ๆ ของแวดวงเอฟวัน

บทบาทสำคัญอย่างการคว้าตัวลูอิส แฮมิลตัน มาร่วมทีมเมอร์เซเดสเมื่อปี 2012 ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่คนในวงการจดจำได้


การตัดสินใจของนักกีฬาจำนวนมากในทุกวันนี้ก็อาจถูกจดจำในบางแง่มุมว่าเป็น “ความกล้าหาญ” เชื่อว่าวีรกรรมและบุคลิกแบบ “เลาด้า” คงยากจะพบเห็นอีก วีรกรรมของนิกิเหมือนบอกกับเราว่า บางครั้งการตัดสินใจชั่วขณะอาจเปลี่ยนแปลงคุณและภาพความทรงจำของคนอื่นที่มีต่อคุณไปตลอดกาล