ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ คืนชีพได้อย่างไร หลังล้มเหลวเกือบ 5 ปี

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ในบรรดาทีมฟุตบอลทีมชาติประเภททีมชายภายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทีมกังหันสีส้ม พลพรรคเนเธอร์แลนด์ เป็นทีมที่ตกต่ำอย่างน่าใจหาย จนกระทั่งผลงานในช่วง 6 เดือนหลังมาจนถึงการทะลุเข้ารอบชิงชนะเลิศในรายการเนชั่นส์ ลีก เป็นสัญญาณการกลับมาของอัศวินสีส้มในแวดวงลูกหนังโลก ที่ทำให้แฟนบอลทั่วโลกสนใจทีม “สีส้ม” อย่างคึกคักมากขึ้น

แม้ว่ารายการเนชั่นส์ ลีก ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป จะมีสถานะเสมือนเกมกระชับมิตรในรูปแบบที่จริงจังกว่าเดิม แต่รายการก็ยังไม่ถูกมองว่าเป็นการแข่งเทียบเท่าระดับเมเจอร์ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ระดับความเข้มข้นของการแข่งขันก็ไม่ด้อยไปกว่ารายการที่เล่นชิงตำแหน่งระดับภูมิภาคเสียเท่าไหร่ ซึ่งในการประเดิมทัวร์นาเมนต์ของเนเธอร์แลนด์ก็ทำได้เกินคาด

พลพรรคชุดส้มในลีกเอ ซึ่งอยู่ร่วมกลุ่มกับแชมป์โลก 2 ทีมหลังสุดอย่างฝรั่งเศส และเยอรมนี กลับสามารถคว้าจ่าฝูงกลุ่ม ผ่านเข้ารอบตัดเชือก มีลุ้นได้ชิงอันดับ 1 ของลีกเอ ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงที่คว้าอันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล ครั้งนั้นเป็นทีมชุดของหลุยส์ ฟาน กัล แต่หลังจากนั้นมาเรียกได้ว่าเป็นช่วงตกต่ำของเนเธอร์แลนด์ อาจกล่าวได้ว่าถึงขีดสุดในรอบทศวรรษก็ว่าได้

อัศวินสีส้มไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้งในยูโร 2016 และฟุตบอลโลก 2018 ช่วงเวลานั้นแทบจะเป็นอีกหนึ่งยุคมืดของลูกหนังดัตช์ เช่นเดียวกับช่วงก่อนหน้าช่วงต้นยุค 70s กระทั่งกลางยุค 70s ซึ่งเป็นยุคทองของฟุตบอลดัตช์

และยุคของ total football สไตล์การเล่นอันลือลั่นในชุดที่มี โยฮันน์ ครัฟฟ์ ตำนานนักเตะอาแจ็กซ์ และบาร์เซโลนา ซึ่งผู้เล่นในทีมสามารถสลับตำแหน่งกันเล่นได้อย่างอิสระ (ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกัน อาทิ ฝั่งริมเส้นสามารถสลับตำแหน่งกันได้ตลอดแนว)

โยฮันน์ ครัฟฟ์ เสียชีวิตเมื่อปี 2016 ในช่วงที่ลูกหนังดัตช์เริ่มมีสัญญาณปัญหาการถ่ายเลือดนักเตะที่แข้งพลังหนุ่มช่วงนั้นยังไม่แข็งแกร่งพอจะพาทีมขับเคี่ยวกับคู่แข่งในยุโรป ช่วงเวลา 1-2 ปีหลังยูโร 2016 ก็ยังคงล้มลุกคลุกคลาน ขุมกำลังแข้งดัตช์ช่วงนั้นไม่มีตัวหลักที่ฝีเท้ายอดเยี่ยมพอจะประคับประคองทีมได้ ระหว่างเวลานั้น เนเธอร์แลนด์เปลี่ยนกุนซือเวียนหน้ากันไป 4 ราย ก่อนมาลงเอยที่ โรนัลด์ คูมัน ในช่วงต้นปี 2018

คูมัน เป็นผู้เล่นที่โยฮันน์ ครัฟฟ์ ดึงมาร่วมทีมบาร์เซโลนา เมื่อปี 1989 เขาได้รับการบ่มเพาะฝีเท้าและฝึกสอนในแง่การเล่นเกมรับ (ดั้งเดิมแล้ว คูมัน ไม่ได้เป็นผู้เล่นเกมรับที่กุนซือโดยทั่วไปใฝ่ฝันจะได้ใช้งาน) หากย้อนกลับไปมากกว่านั้น กุนซือในรอบ 5 ปีหลังของเนเธอร์แลนด์ เรียกได้ว่าต้องมีสัมพันธ์หรือมีความหลังกับสโมสรดังในประเทศอย่าง อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม

อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม เป็นสโมสรที่ใกล้ชิดกับทีมชาติ และอาจพอกล่าวได้ว่า มีอิทธิพลอย่างมากต่อฟุตบอลในเนเธอร์แลนด์ โยฮันน์ ครัฟฟ์ ปรมาจารย์คนสำคัญแห่งลูกหนังดัตช์ เล่าในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาที่ชื่อ My Turn ว่า ระบบการฝึกซ้อมของทีมอัศวินสีส้ม มักถอดแบบมาจากการฝึกซ้อมของสโมสรอาแจ็กซ์ ช่วงหนึ่งที่อาแจ็กซ์มีปัญหาเรื่องผลงานในสนาม ก็คงไม่แปลกที่พอจะเห็นว่าทีมชาติเนเธอร์แลนด์ที่ถอดโมเดลจากสโมสรแถวหน้าของประเทศไป ก็มีปัญหาเรื่องการเล่นไปด้วย

ยิ่งเมื่อผ่านช่วงต้นยุค 2000s มาเกือบทศวรรษ ผู้เล่นระดับเยาวชนก็ยังขาดแคลน (ผู้เล่นระดับที่ใช้งานได้ในทีมชุดใหญ่) ในหมู่สโมสรและทีมชาติ ขณะที่ช่วงต้นยุค 2010 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่า ฮอลแลนด์ ก้าวขึ้นสู่จุดพีก

อีกหนึ่งยุค จากช่วงที่ผู้เล่นดาวดังมากมายคับคั่งในทีมกำลังอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพ ผลกระทบจากสัดส่วนผู้เล่นเยาวชนในทีมที่จำกัดยังไม่กระทบต่อผลงานทีมเท่าไหร่ แต่เมื่อผ่านปี 2014 ไปแล้ว เมื่อผู้เล่นดาวดังล่วงเลยจุดสูงสุดไป นั่นจึงเห็นผลว่า ลูกหนังเนเธอร์แลนด์ถ่ายเลือดไม่ทัน พลังหนุ่มที่ขึ้นมาเล่นไม่สามารถทดแทนฝีเท้าของรุ่นพี่ได้

กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี ผู้เล่นเยาวชนระลอกที่ 2 นับจากช่วงปี 2014 เป็นต้นมา เริ่มเติบโตขึ้น พัฒนาฝีเท้าขึ้นมา เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ ย้ายมาแจ้งเกิดในพรีเมียร์ลีก เมื่อปี 2015 ขณะที่ผู้เล่นดาวรุ่งรายอื่นก็ตามหลังมาอย่าง แฟรงกี เดอ ยอง และ แมตเธียส เด ลิกต์ ผลผลิตจาก

อคาเดมีของอาแจ็กซ์ ก็เริ่มทำผลงานเข้าตามากขึ้น ผู้เล่นระลอกแรกหลังจากที่ผ่านยุคเฟื่องฟูเมื่อปี 2014 ซึ่งบางรายเคยเป็นดาวรุ่งที่จรัสแสง แต่ไปล้มลุกคลุกคลานกับประสบการณ์ช่วงต้นที่ไม่ดีกับสโมสรใหญ่ จนต้องย้ายมาอยู่สโมสรระดับเล็กลงอย่าง เมมฟิส เดปาย ก็เริ่มกลับมาหาฟอร์มของตัวเองได้ หรืออย่าง จอร์จินิโอ ไวจ์นาลดุม ที่ยกระดับตัวเองหลังได้ย้ายไปสโมสรใหญ่

องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่ง คือ การพัฒนาของสโมสรใหญ่ในประเทศอย่างอาแจ็กซ์ ภายหลังจากที่ครัฟฟ์ วางรากฐานและปฏิรูปสโมสรในช่วงต้นยุค 2000s ทีมเริ่มสร้างผู้เล่นเยาวชนมากมายจนประสบความสำเร็จในรายการระดับทวีป ผู้เล่นเยาวชนที่โตขึ้นมาพร้อมกับทีมพลอยได้ประโยชน์ ซึมซับประสบการณ์จากการร่วมเล่นในรายการสโมสรระดับทวีป เมื่อมาเล่นให้ทีมชาติก็เริ่มเห็นผลต่างมากขึ้น


พัฒนาการของฟุตบอลดัตช์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา กำลังมาสู่ช่วงกราฟเหวี่ยงตัวกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง อย่างน้อยก็ยังเห็นสัญญาณในรายการระดับย่อม ขณะที่บททดสอบจริงในรายการระดับเมเจอร์ก็ใกล้เข้ามาแล้ว อีก 12 เดือนข้างหน้า หากทีมกังหันทำผลงานได้สม่ำเสมอ เชื่อว่าเราจะได้เห็น “สีส้ม” ที่คุ้นตากลับมาอีกครา