ถอดบทเรียน ฟุตบอลโลกหญิงไทย สกอร์ 13-0 ที่ทั่วโลกจับจ้อง

สกอร์แมตช์ประเดิมสนามของทัพชบาแก้วในศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2019 ที่ฝรั่งเศส เป็นประเด็นร้อนในโลกไซเบอร์ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจในหมู่แฟนบอลต่างประเทศ ผลสกอร์ที่ทีมชาติสหรัฐอเมริกายิงทีมไทยถึง 13-0 มีหลากหลายแง่มุมให้ได้ถอดบทเรียนกัน

ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยเคยสร้างปรากฏการณ์ไปฟุตบอลโลกมาก่อนแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้คงต้องบอกว่านัดแรกที่ต้องมาเจอกับแชมป์โลกและชาติที่ขึ้นชื่อว่ามีผู้หญิงเล่นฟุตบอลกันอย่างจริงจัง (ขณะที่ผู้ชายเล่นอเมริกันฟุตบอลและอเมริกันเกมอื่น ๆ) กลายเป็นปรากฏการณ์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตค้นหาเรื่องนี้ในกูเกิลโดยใช้คีย์เวิร์ดว่า “ฟุตบอลโลก” มากกว่า 1 ล้านราย

ประเด็นแรกที่ใกล้ตัวคนไทยมากที่สุดย่อมเป็นเรื่องผลงานของทีม ซึ่งต้องยอมรับว่าแฟนบอลชาวไทยไม่ได้คาดหวังว่าทีมจะต้องเก็บแต้มจากแชมป์โลกได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อว่าสกอร์จะห่างกันมากขนาดนี้ ที่สำคัญคือ ในฐานะกีฬามหาชนด้วยแล้วสกอร์ขนาดนี้ทำให้คนไทย (และทั่วโลก) ตั้งคำถามถึงเหตุผลของปรากฏการณ์นำมาสู่การค้นหาคำตอบในกูเกิลกันอย่างถล่มทลาย

สำหรับผู้ที่ค้นหาคำตอบของ “ปัญหา” ที่เกิดนี้ ก็คงต้องอธิบายด้วยชุดข้อมูลที่คนกีฬาในประเทศกำลังพัฒนาประสบอยู่ อันดับแรกคือ ทรัพยากรดิบในสนามก่อน ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเสมอ เนื่องจากประเทศไทยมีลีกฟุตบอลหญิง (อาชีพ) ไม่ต่อเนื่องกัน คือมีช่วงหนึ่งแล้วก็หยุด และเพิ่งมีขึ้นไม่เกิน 5 ปีด้วย กล่าวแบบรวบยอดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ สโมสรฟุตบอลในไทยที่ต้องทำทีมชายขับเคี่ยวในสนามและหารายได้เลี้ยงสโมสร การจัดทีมหญิงโดยที่รากฐานยังไม่มั่นคงก็ยังเป็นเรื่องเสี่ยงต่อความมั่นคงของสโมสรอยู่ดี ขณะที่ภาพคู่อย่างในเชิงการค้าแล้ว เมื่อผู้สนใจซื้อตั๋วชมเกมฟาดแข้งหญิงมีไม่มาก การหาผู้สนับสนุนก็ทำได้ยากเช่นกัน

เมื่อไม่มีพื้นที่ให้ได้ลับฝีเท้าแบบเป็นอาชีพ นักฟุตบอลหญิงส่วนใหญ่ก็ต้องมีงานอื่นรองรับด้วย การพัฒนาฝีเท้าย่อมแตกต่างกับทีมระดับโลกอย่างสหรัฐ ที่เริ่มมีลีกหญิงแบบอาชีพจริงจังเมื่อปี 2012 แต่ความจริงแล้วสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่กีฬาฟุตบอลมักถูกจับเข้าไปผูกกับผู้หญิงมากกว่าเพศชายดังที่กล่าวข้างต้น เด็กผู้หญิงลงเตะแข่งขันกันตั้งแต่ในสถานศึกษา เป็นรากฐานที่ดีต่อยอดมาสู่ช่วงก่อตั้งลีก หลังจากนั้น ก็มีผู้เล่นระดับดาวดังมากมาย

ด้วยระบบพื้นฐานที่ไม่มั่นคง การพัฒนาศักยภาพผู้เล่นแบบมืออาชีพด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา โภชนาการ และการบริหารจัดการย่อมไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ก็ต้องอาศัยการดูแลแบบเฉพาะหน้า

ตามเหตุการณ์ สื่อต่างประเทศรับรู้กันว่าทีมสาวไทยโชคดีได้ผู้สนับสนุนที่ดี พวกเธอทำงานในบริษัทของผู้จัดการทั่วไปของทีมซึ่งเป็นนักธุรกิจ ในช่วงที่ไม่ได้มีซ้อมหรือโปรแกรมแข่งก็ทำงานเป็นพนักงานให้กับบริษัทในเครือ

ประเด็นข้างต้นเป็นการมองแบบโครงสร้างพื้นฐานทรัพยากรของเราเองก่อนมองไปที่ปัจจัยภายนอก หากจะพูดถึงปัจจัยภายนอกมีประเด็นที่น่าคิดจากคอลัมนิสต์ต่างชาติที่ตั้งข้อสังเกตว่า ที่สกอร์ห่างกันขนาดนี้ส่วนหนึ่งก็ต้องมองไปที่ระบบการคัดเลือกทีมด้วย ซึ่งกรณีนี้ต้องชี้นิ้วไปที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ที่มีมติขยายจำนวนทีมแข่งฟุตบอลโลกหญิงรอบสุดท้ายจาก 16 เป็น 24 ทีมเมื่อปี 2015 ทีมจากทวีปเอเชียได้โควตา 5 ทีม และปีนั้นไทยเป็นทีมที่ 5 ซึ่งผ่านเข้ารอบ ตัดภาพกลับมาสู่ปัจจุบันก็คงจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ที่ทีมหน้าใหม่เมื่อมาเจอกับทีมแถวหน้าของโลกย่อมต้องแสดงให้เห็นถึงระยะห่างที่มากขนาดนี้

กูรูด้านกีฬาส่วนหนึ่งและนักกีฬาเห็นว่า การลดจำนวนทีมไม่ใช่ทางแก้ แต่เป็นการเพิ่มจำนวนทีมให้มากขึ้นต่างหาก (อาจเพิ่มเป็น 32 ทีม) จะช่วยให้สมาคมฟุตบอลในประเทศหรือระดับทวีปให้ความสนใจและช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพัฒนาฟุตบอลหญิงแต่ละประเทศให้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างทีมที่พัฒนาไปมากกับทีมจากประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นตั้งไข่

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากสมาคมหรือองค์กรที่บริหารจัดการฟุตบอลในแต่ละประเทศย่อมไม่เพียงพอ นำมาสู่ประเด็นสำคัญซึ่งนักกีฬาหญิงและคนทั่วโลกเรียกร้องกัน คือ ความเท่าเทียมกับเพศชายในเชิงรายได้ ค่าตอบแทน ค่าชดเชยต่าง ๆ และเงินรางวัลจากการแข่ง

ความสนใจในตัวทีมชาติไทยอันสืบเนื่องมาจากความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ไม่เพียงทำให้ทีมชบาแก้วเป็นที่สนใจ ทีมชาติสหรัฐเองก็ถูกวิจารณ์เช่นกัน แต่ไม่ใช่วิจารณ์ฟอร์ม กลับเป็นวิจารณ์ทัศนคติและการแสดงออกในเกมมากกว่า การยิงคู่ต่อสู้ในรายการใหญ่ให้ขาดลอยแบบนี้ และยังแสดงการดีใจทุกครั้งอาจดูเหมือนไม่ให้ความเคารพคู่แข่ง พวกเธอถูกกระแสตีกลับมาเหมือนกัน

ประเด็นของสาวอเมริกันอาจดูเป็นเรื่องความคิดเห็นต่อความเป็น “นักกีฬา” แตกต่างกันมากกว่า แต่บางรายมองว่าไม่ว่าจะเป็นดราม่าในเกมประเดิมสนามของแชมป์โลกรวมไปถึงเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับทีมชาติไทยทั้งหลายที่เรียกได้ว่าแทรกไปทุกอณู อย่างน้อย

ก็เป็นเสมือนการ พี.อาร์.แบบธรรมชาติที่ช่วยให้คนสนใจทัวร์นาเมนต์นี้ในวงกว้างกันมากขึ้น นั่นเป็นบันไดอีกขั้น เมื่อมีผู้ชมย่อมหมายถึงกลุ่มเป้าหมายสำหรับเชิงพาณิชย์ได้ และเป็นอีกแรงในการขับเคลื่อนกีฬาหญิงไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ในอนาคต

สำหรับไทยแล้วก็คงต้องอาศัยกำลังจากทุกฝ่ายไปช่วยผลักดันกัน ไม่ใช่เพียงแค่ฝากฝังไว้กับฝ่ายเอกชนไม่กี่กลุ่มที่กลายเป็นว่าต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนอุ้มเอาไว้

ต้องมองในแง่การพัฒนาระยะยาวให้กีฬาหญิงเป็นระบบนิเวศที่อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วย เราทุกคนต้องสนับสนุนไปพร้อม ๆ กัน