False Nine ทีมชาติไทย? ร่างโฉมหน้าช้างศึกยุคกองหน้าแค่ 2 คน

 อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ตำแหน่งกองหน้าในทีมฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นหัวข้อที่แฟนบอลกังวลกันในช่วงหลายปีหลังนี้ ยิ่งเมื่อเห็นรายชื่อ 33 นักเตะที่ถูกเรียกมาเตรียมพร้อมลุยคัดฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกในเดือนกันยายนนี้ ก่อนจะตัดตัวเหลือ 23 คน ใน 33 นักเตะไม่มีชื่อ ธีรศิลป์ แดงดา หัวหอกตัวหลักเบอร์หนึ่งของไทยตลอดทศวรรษหลังมานี้ ขณะที่กองหน้าที่มีชื่อมาด้วยก็ถูกตั้งคำถาม เช่นเดียวกับแผนการเล่น

การตัดสินใจของ อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยชาวญี่ปุ่น ที่ไม่ได้ใส่ชื่อ ธีรศิลป์ แดงดา ศูนย์หน้าที่เป็นตัวหลักของทีมช้างศึกมาตลอด แต่ช่วงหลังก็มีปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บรบกวนบ่อย อาจไม่น่ากังวลเท่ากับรายชื่อของผู้เล่นตัวจบสกอร์แดนหน้า ซึ่งมีแค่ ชนานันท์ ป้อมบุปผา และศุภชัย ใจเด็ด ติดเข้ามาเท่านั้น

 

เป็นที่รู้กันดีว่า ตารางดาวซัลโวของลีกในประเทศถูกจับจองโดยผู้เล่นตำแหน่งศูนย์หน้าจากต่างประเทศ ผู้เล่นไทยที่สอดแทรกเข้ามาก็มาอยู่ในอันดับเลข 2 หลัก อีกทั้งยังเป็นนักเตะตำแหน่งตัวรุกซึ่งไม่ได้ยืนค้ำเป็นตัวจบสกอร์แดนหน้าแบบธรรมชาติ แม้ฟอร์มของศุภชัย ใจเด็ด ในทีมชาติจะน่าสนใจในช่วงรอบปีที่ผ่านมา แต่การใช้งานในตำแหน่งหัวหอกตัวเป้าเลยยังเป็นคำถามอยู่

เมื่อรายชื่อออกมาลักษณะนี้ คำถามที่ตามมาคือระบบการเล่น ในทีมที่มีกองหน้าธรรมชาติแค่ 2 ราย เป็นไปได้ว่า ระบบการเล่นอาจหันไปใช้ระบบที่เรียกว่า False Nine แผนการเล่นที่เริ่มเป็นที่สนใจจากแนวทางของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือชาวสเปนที่แจ้งเกิดกับบาร์เซโลน่า

เดิมทีระบบการเล่นเกมรุกในยุโรปส่วนใหญ่จะมีกองหน้าตัวเป้า เบอร์ 9 ที่ยืนค้ำอยู่หน้าประตูคู่แข่ง ประกบกับกองหลังฝั่งตรงข้ามที่ยืนต่ำที่สุด ให้เพื่อนร่วมทีมนำบอลเข้ามาให้จบสกอร์ในพื้นที่เข้าทำ นั่นก็คือในกรอบเขตโทษ

แต่ระบบ False Nine จะไม่ได้มีกองหน้าเบอร์ 9 ที่ยืนในกรอบเขตโทษแบบตายตัว ผู้เล่นที่ยืนตำแหน่งนี้จะถอยต่ำลงมาอยู่ใน “พื้นที่อันตราย” ระหว่างแนวผู้เล่นกองหลังกับผู้เล่นกองกลางทีมฝ่ายตรงข้าม

ประโยชน์ของการยืนแบบ False Nine ช่วยให้ทีมสร้างโอกาสที่คาดไม่ถึงได้ เมื่อกองหลังตัวกลางของคู่แข่งสับสน เพราะไม่รู้ว่าจะตามขึ้นมาประกบ หรือจะรักษาไลน์เดียวกันกับแผงกองหลังหรือไม่

คำว่า “False Nine” แพร่หลายเพราะแนวคิดของเป๊ป ที่ให้ลิโอเนล เมสซี่ มายืนในตำแหน่งนี้เมื่อปี 2008 ขณะที่ทีมชาติสเปนก็ใช้แผนนี้เช่นกันในช่วงยุครุ่งเรืองของพวกเขาระหว่าง 2010-2012 โดยมี เชส ฟาเบรกาส มิดฟิลด์หนุ่มเป็น False Nine ของทีมกระทิงดุ

แต่หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ศัพท์เรียกผู้เล่นลักษณะนี้ก็ได้รับความนิยมมาแล้วในช่วงยุค 1920-1930s มาจนถึงยุค 1950s ในทีมฮังการี ซึ่งถล่มอังกฤษมาแล้ว (อังกฤษเล่นโดยพึ่งพาความแข็งแกร่งทางกายภาพ และยึดกับกองหน้าเบอร์ 9 แบบดั้งเดิม) หลังจากนั้นก็มีผู้เล่นที่ถูกจับไปเล่นในตำแหน่งนี้อีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน, ฟรานเชสโก ต็อตติ (ช่วง 2007), โยฮันน์ ครัฟฟ์ หรือแม้แต่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ อย่างน้อยก็เคยเล่นในบทบาทนี้บางช่วงด้วย

ผู้เล่นที่รับบทบาทนี้อาจสลับตำแหน่งหรือลงมาสร้างสรรค์โอกาสให้กับเพื่อนร่วมทีม แน่นอนว่าต้องเป็นผู้เล่นที่มีเขี้ยวเล็บรอบตัว บทบาทนี้จึงจะประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากความสามารถเฉพาะตัวแล้ว ระบบทีมที่แข็งแรงก็เป็นหัวใจสำคัญในการใช้งานเช่นกัน ทีมชาติสเปนสามารถประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลกและยูโร ก็ไม่ได้พึ่งพาอาศัยศูนย์หน้าดาวซัลโวที่เหนือกว่าทีมอื่น แต่ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะของระบบทีมที่แฟนบอลรู้จักกันดีว่า tiki-taka

ในบริบทรายชื่อ 33 ผู้เล่นไทยที่ถูกเรียกมาขั้นแรกก่อนตัดตัว ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่นิชิโนะ อาจใช้งาน False Nine ก็เป็นได้ ผู้เล่นที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับบทบาทนี้อาจเป็น ชนาธิป สรงกระสินธ์ ผู้เล่นแนวรุกที่มีสไตล์การเล่นซึ่งถูกหยิบไปเทียบเคียงกับ ลิโอเนล เมสซี่ อยู่แล้ว ข้อกังวลที่ผุดขึ้นมาก็ย่อมเป็นเรื่องระบบทีมเสียมากกว่า

ทีมชาติไทยภายใต้การทำงานของนิชิโนะ โปรแกรมเดิมคือเข้าแคมป์เก็บตัวในวันที่ 27 สิงหาคม และอุ่นเครื่องแบบปิด 1 เกม จากนั้นจึงตัดตัวเหลือ 23 คน และจะลงสนามนัดแรกในศึกคัดฟุตบอลโลก 2022 พบกับเวียดนาม ในวันที่ 5 กันยายน เวลาของนิชิโนะในการเซตระบบทีมมีไม่มากเลย

ทีมที่เล่น False Nine พึ่งพาผู้เล่นแดนกลางเพื่อครองบอลและเคลื่อนที่จากแนวลึก นำบอลไปเพื่อทำประตู ขณะที่ False Nine จะลงมาต่ำระหว่างไลน์กองกลางกับกองหลัง หาพื้นที่เพื่อทำเกม ผู้เล่นริมเส้นก็สอดขึ้นมา หัวใจของการเล่นที่บาร์ซ่ายึดกันคือ การครองบอล คำถามคือศักยภาพของผู้เล่นในระบบนี้กับการประสานงานกัน และทำความเข้าใจระหว่างผู้เล่นในทีมด้วยระยะเวลาที่มี

แต่จนกว่าจะถึงเกมจริง หรือถ้าเป็นเกมอุ่นเครื่องจริงเกิดขึ้นก่อนเกมกับเวียดนาม แผนการเล่นของนิชิโนะ ในการประเดิมงานกับทีมชาติไทยก็ยังคงเป็นแค่ข้อสังเกตที่ส่งเสียงไปถึงทีมงาน สิ่งที่จะพิสูจน์และลบข้อกังขาก็คือ ผลงานในสนาม ผลงานจริงจะเป็นคำตอบทั้งหมดว่า ทีมชาติไทยอีกยุคจะมีโฉมหน้าอย่างไร