บั้นปลายสิงห์อมควันในโลกกีฬา จาก “ซาร์รี่” ถึงตำนานทั้งหลาย

ซาร์รี่ Photo by Jonathan NACKSTRAND / AFP
 อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องกีฬา คนทั่วไปย่อมนึกกันว่ากิจกรรมหมวดนี้มาคู่กับสุขภาพ อย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ในหมู่คนในวงการกีฬาที่มีวัยเลข 6 นำหน้า อาจไม่ได้มีพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสุขภาพไปเสียหมด ดังเช่นกรณีของเมาริซิโอ ซาร์รี่ กุนซืออิตาเลียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรายที่ติดบุหรี่งอมแงม

คอลูกหนังอิตาเลียนหรือผู้ที่ติดตามฟุตบอลหลายท่านน่าจะพอคุ้นกันว่าเมาริซิโอ ซาร์รี่ อดีตกุนซือเชลซี ที่ขณะนี้ทำงานกับยูเวนตุส เป็นคนติดบุหรี่อย่างหนัก หลังจากที่ย้ายกลับไปทำงานกับทีมม้าลายในกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ก็มีรายงานว่ากุนซือรายนี้มีอาการทางปอดจนกระทบต่อการทำงาน พลาดคุมทีมเกมลีก 2 นัดแรกเนื่องจากแพทย์แนะนำให้รักษาตัว

กระทั่งช่วงปลายเดือนสิงหาคม ซาร์รี่ตกเป็นข่าวว่าเริ่มกลับมาฟื้นฟูสุขภาพในระดับที่เพียงพอต่อการกลับมาทำงานได้แล้ว ทีมยักษ์ใหญ่แห่งเซเรีย อา ที่น่าจะเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อการทำงานดูเหมือนจะสบายใจมากขึ้นกับสุขภาพของบุคลากรคนสำคัญในปัจจุบัน แต่ไม่นานนักก็มีสื่อเผยภาพซาร์รี่ถ่ายภาพกับแฟน ๆ นอกบ้านพัก ในภาพแสดงให้เห็นว่าซาร์รี่ยังคีบบุหรี่อยู่ ซึ่งแทบจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ซาร์รี่ไม่ได้นึกถึงคำเตือนหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่จะส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงหน้าที่การงานเลย

หากจะบอกว่าซาร์รี่เป็นคนที่มีพื้นฐานหรือเติบโตมาจากโลกกีฬาเลยก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ซาร์รี่เริ่มต้นอาชีพด้วยงานในธนาคาร ก่อนที่จะเริ่มสัมผัสงานด้านโค้ชตอนอายุ 30 ในยุค 60s เป็นช่วงที่องค์ความรู้เรื่องผลกระทบจากการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพยังไม่ถูกยืนยันอย่างชัดเจน อุตสาหกรรมบุหรี่ปฏิเสธเรื่องนิโคตินมีผลทำให้เสพติดมายาวนาน

โยฮัน ครัฟฟ์ Photo by staff / AFP

นักกีฬาที่มีชื่อเสียงหลายรายตกเป็นเหยื่อของยาสูบ โยฮันน์ ครัฟฟ์ ตำนานนักเตะดัตช์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ยอดนักฟุตบอลและโค้ชจากเนเธอร์แลนด์ ติดบุหรี่อย่างหนักในช่วงที่เป็นนักเตะ ตอนที่เขาย้ายมาเล่นให้บาร์เซโลนา ก็มีข้อมูลว่า หลังเกมแมตช์แรกกับบาร์ซ่า แข้งดัตช์ก็พ่นควันทันที ยิ่งในช่วงที่เป็นโค้ชที่ต้องแบกรับความกดดันทั้งระหว่างเกมในสนามและนอกสนาม ครัฟฟ์ก็ต้องจุดสูบเสมอ ไม่ว่าจะจุดในอุโมงค์ก่อนเกม หรือในช่วงปกติทั่วไป บางช่วงสูบไม่ต่ำกว่า 20 มวนต่อวัน

กรณีของครัฟฟ์ ยังโชคดีที่เขาหักห้ามใจได้และได้คนรอบข้างที่เป็นห่วงคอยกระตุ้นเตือนอย่างจริงจัง หลังสุขภาพย่ำแย่จนต้องเข้าผ่าตัดหัวใจ แพทย์ผู้รักษาถึงกับเอ่ยว่า กรณีของเขาโชคดีมากที่มาผ่าตัดทันเวลา ในช่วงที่เขาติดบุหรี่อย่างหนักต้นยุค 90s เป็นช่วงเดียวกับที่บาร์เซโลนาผลงานไม่ค่อยดี แต่หลังเลิกบุหรี่ได้ ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่เพียงทำให้สุขภาพของครัฟฟ์ดีขึ้น ผลงานของสโมสรในคาตาลันก็พลอยยกระดับขึ้นไปด้วย

รายชื่อของคนกีฬาที่ติดบุหรี่ก่อนหน้ายุค 60s เรียงรายยาวเหยียด ในสเปนก็มีอดีตแข้งบาร์ซ่า รุ่นพี่ของครัฟฟ์ อย่าง ริคาร์โด ซาร์โมร่า ผู้รักษาประตูทีมชาติสเปนที่เล่นให้กับทั้งเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา ก็สูบบุหรี่จัด 3 ซองต่อวัน และเคยโดนจับเนื่องจากลักลอบขนซิการ์หลังช่วงโอลิมปิกปี 1920 ที่เบลเยียม แล้วที่โดนจับก็สืบเนื่องจากแอบแกะมาสูบเพราะทนไม่ไหว กระทั่งเจ้าพนักงานศุลกากรได้กลิ่นพิรุธที่ติดตัวไปด้วย

ผลร้ายของบุหรี่เป็นที่รับรู้อย่างแจ่มแจ้งในช่วงยุค 90s อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นคนในวงการกีฬาบางกลุ่มในบางชนิดกีฬาอาจต้องยอมรับข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งว่า ในช่วงยุค 60s ตอนที่ข้อมูลทางสาธารณสุขยังไม่ยืนยันอย่างแข็งแรงโดยปราศจากอิทธิพลจากอุตสาหกรรมยาสูบเท่าทุกวันนี้ บางชนิดกีฬาได้รับการสนับสนุนจากคนในวงการยาสูบ

ช่วงปลายยุค 60s ถึงต้นยุค 70s บริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่ของโลกเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มรายการทัวร์ โดยเทนนิสหญิงที่ไม่ยอมลงเล่นรายการซึ่งปฏิเสธเพิ่มเงินรางวัลให้ใกล้เคียงกับเงินรางวัลนักเทนนิสชาย ทัวร์นี้เองกลายเป็นจุดตั้งต้นของการก่อตั้งดับเบิลยูทีเอทัวร์ ทัวร์ของนักเทนนิสฝ่ายหญิงในปัจจุบัน

หากจะเอ่ยถึงนักกีฬาหรือคนที่เกี่ยวข้องกับเกมแข่งที่สูบบุหรี่ในยุคปัจจุบัน คนที่โด่งดังเป็นข่าวมากที่สุดอาจเป็นซาร์รี่ ด้วยเพราะเขาเคยจุดสูบข้างสนามเป็นประจำยุคที่คุมทีมนาโปลีในอิตาลีบ้านเกิด อย่างไรก็ตาม เมื่อมาคุมเชลซีก็ต้องปรับพฤติกรรมไป สำหรับแฟนบอลยุคนี้ พฤติกรรมของซาร์รี่คงเป็นภาพประหลาดพอสมควร แต่หากย้อนกลับไปก่อนยุค 60s ช่วงนั้นมีนักกีฬาที่จุดระหว่างเกมกันบ่อยครั้ง

ลอยด์ แมนกรัม ยอดนักกอล์ฟยุคหลังสงครามช่วงยุค 40s แชมป์ยูเอส โอเพ่น ปี 1946 ก็มักถูกพบเห็นว่าคาบบุหรี่กันต่อหน้าต่อตาระหว่างวาดวงสะวิง มีผู้ชมที่รู้เรื่องรู้ราว (ในยุคนั้น) ตะโกนเข้าไปในสนามว่า “นักกีฬาไม่ควรสูบบุหรี่” แต่หนุ่มลอยด์ตอบกลับไปว่า “ผมไม่ใช่นักกีฬาครับ ผมเป็นนักกอล์ฟ” หลังจากที่เขาประสบภาวะหัวใจวายหลายหน สุดท้ายก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ลอยด์เสียชีวิตจากหัวใจวายจนได้ด้วยวัยแค่ 59 ปี

ในยุคที่ข้อมูลด้านสาธารณสุขชัดเจนอย่างยิ่งยวด และมีเครื่องมือช่วยเหลือในการลด/ละ/เลิกให้เข้าถึงอย่างสะดวก เชื่อว่า มีนักกีฬาไม่กี่รายที่ยังต้องจุดสูบกันอยู่ แต่นอกเหนือจากนั้น สำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้องซึ่งติดมากับพฤติกรรมในสภาพแวดล้อมแบบดั้งเดิมก็คงต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เพื่อต้นสังกัดและแฟนเท่านั้น แต่อย่างน้อยก็คงเพื่อครอบครัวคนรอบข้างของตัวเอง