ถอดรหัสทีมชาติไทยใต้เงา “นิชิโนะ” อะไรบวก จุดไหนลบ

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

แคมเปญกีฬาที่คนไทยทั้งประเทศจับจ้องกันเปิดฉากศึกแรกแบบที่คนไทยลุ้นกันใจหายใจคว่ำ สกอร์ 0-0 ในแมตช์ลูกหนังคัดฟุตบอลโลก 2022 โซนเอเชียระหว่างไทยกับเวียดนาม อาจไม่เป็นที่พอใจสำหรับบางกลุ่ม แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นทิศทางและแนวโน้มที่น่าคิดจากการทำงานของกุนซือคนใหม่จากญี่ปุ่น

อากิระ นิชิโนะ กุนซือจากแดนซามูไร เข้ามาทำทีมชาติไทยโดยมีแค่เกมอุ่นเครื่องลองทีมแบบปิด และเจอโปรแกรมทางการนัดแรกเป็นของจริงในบ้านเลย ข้อกังวลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการเล่น ตำแหน่งกองหน้าที่มีผู้เล่นธรรมชาติติดในทีมมาไม่กี่คน ก็ได้คำตอบบางส่วนจากเกมนัดแรก รูปแบบการเล่นของทีมชาติไทยสะท้อนหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจอีกด้วย

ทีมชาติไทยโฉมใหม่นับตั้งแต่ศึกคัดฟุตบอลโลก 2022 เป็นต้นไป เริ่มต้นด้วยระบบแบบ 4-4-2 (ไดมอนด์) ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยเฉพาะหน้าหรืออะไรก็ตาม 11 ผู้เล่นตัวจริงทัพช้างศึก ไม่มีชื่อศูนย์หน้าตัวเป้าโดยธรรมชาติ (ตามที่คาดไว้) ผู้เล่นคู่ที่ถูกวางให้ยืนหน้าสุด คือ ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ห้องเครื่องตัวฟิต กับสุภโชค สารชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เล่นอยู่ในแผงแนวรุกแดนกลางเสียมากกว่า

ก่อนหน้านี้หลายคนก็คาดกันแล้วว่า ทีมชาติไทยอาจไม่ได้เล่นด้วยระบบศูนย์หน้าธรรมชาติ และจะต้องเล่นแบบ “false 9” แต่ที่มาที่ไปของการตัดสินใจคงไม่อาจทราบได้ว่า แผนการเล่นนี้ถูกออกแบบอย่างจงใจโดย นิชิโนะ หรือด้วยเพราะสถานการณ์ทรัพยากรที่เป็นอยู่ สภาพที่ออกแบบบางจังหวะอาจทำให้เห็นว่า ระบบที่ไม่ได้ใช้ศูนย์หน้าธรรมชาติเป็นตัวจบสกอร์หลักก็ไม่ได้กระทบต่อโอกาสในการเข้าทำ แต่ปัญหาที่ออกมาคือ ประสิทธิภาพในการจบสกอร์จังหวะสุดท้าย

หลายจังหวะที่ผู้เล่นในตำแหน่งซึ่งถูกจับไปยืนเป็นตำแหน่งจบสกอร์แดนสุดท้ายแทนกองหน้าอาชีพมีโอกาสจบสกอร์ได้ แต่กลับไม่สามารถส่งลูกเข้าก้นตาข่าย

พวกเขาพลาดแบบเฉียดฉิวหลายจังหวะ แน่นอนว่านี่คือจุดอ่อนของระบบ false 9 ซึ่งเป็นกังวลกันมาตลอด ผู้เล่นซึ่งถูกจับไปยืนในตำแหน่งตัวจบสกอร์ไม่ได้มีสัญชาตญาณการทำประตูเทียบเท่ากับกองหน้าอาชีพ

ความกังวลนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นปัญหาจริงจากหลายจังหวะ และที่สำคัญที่สุดคือผลออกมาแบบไม่มีสกอร์ทั้งสองฝั่ง ทั้งที่สถิติแทบทุกด้านในเกมของไทยเหนือกว่าเวียดนามหลายเท่า

แต่อย่างน้อยปัญหานี้ไม่ใช่เกิดกับทีมชาติไทย แต่เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่แทบทุกชาติในเอเชียนอกเหนือจากทีมระดับแถวหน้าของเอเชีย แทบทุกทีมพบกับเรื่องน่าปวดหัวแบบนี้กันหมด สืบเนื่องมาจากระบบลีกที่สโมสรซึ่งกำลังพัฒนาล้วนพึ่งพาผู้เล่นต่างชาติในตำแหน่งสำคัญที่สุด ซึ่งก็คือ กองหน้า รองลงมาก็คือปราการหลังตัวกลาง

ยิ่งเมื่อผู้เล่นตัวหลักที่นิชิโนะดันขึ้นไปเล่นในแดนหน้า อย่าง ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ไม่สามารถใช้งานได้ ปัญหาน่าปวดหัวสำหรับทีมชาติไทยที่ขาดแคลนผู้เล่นแดนหน้าอยู่แล้ว ก็ยิ่งน่ากลุ้มใจเข้าไปกว่าเดิม งานที่จะไปเยือนอินโดนีเซียในเกมที่ 2 ของทีมชาติไทยภายใต้แคมเปญคัดบอลโลกก็ไม่ง่ายแน่นอน

จากแดนหน้าที่เป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดเกี่ยวกับทัพช้างศึก หากถอยหลังกลับมาที่เกมรับก็น่าจะเป็นอีกจุดที่เป็นห่วง เริ่มเกมมาไม่ถึง 5 นาทีก็เกือบเสียประตู เวลาที่เหลือก็มีจังหวะที่คู่กองหลังตัวกลางคือ มานูเอล ทอม เบียห์ร กับ พรรษา เหมวิบูลย์ ทำให้แฟนบอลหวาดเสียวอยู่ด้วย แต่ยังโชคดีที่เวียดนามไม่สามารถฉวยโอกาสลงโทษไทย ก็ถือว่ารอดไป แต่เกมในฐานะทีมเยือนที่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันมากกว่านี้ น่าวิตกว่าเกมรับจะปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

จุดที่น่าสนใจสำหรับผลงานชิมลางของนิชิโนะ น่าจะเป็นเรื่องเกมเคลื่อนเกมแดนกลางที่มี สารัช อยู่เย็น, ธนบูรณ์ เกษารัตน์ และ พิธิวัต สุขจิตธรรมกุล บวกกับ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ทำผลงานได้ไม่ขี้เหร่เลย ระบบการเล่นดูสร้างสรรค์เกมและควบคุมจังหวะช้าเร็วได้ตามสถานการณ์

ต้องยอมรับว่า การทำงานกับทีมชาติแตกต่างจากการทำงานสโมสรชัดเจน นิชิโนะมีทรัพยากรจำกัดในการบริหารจัดวางเพื่อให้ได้ออกมาตรงตามเป้าหมายของโค้ช แต่อย่างน้อยระบบการเล่นที่เป็นจุดเด่นของโค้ชญี่ปุ่น บวกกับความเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยที่หากใช้เวลาขัดเกลามากขึ้น น่าจะช่วยขันความมั่นคงของเกมรับได้มากขึ้น

ส่วนเกมรุกที่น่ากังวลใจเกี่ยวกับผู้เล่นตัวจบสกอร์ ในระยะสั้นคงต้องฝากพึ่งพาทั้งกึ๋นในการวางแผนของกุนซือ ที่สำคัญคือทักษะในการดึงประสิทธิภาพของผู้เล่นเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงให้ออกมาสูงที่สุด ขณะเดียวกัน ทัศนคติของนักเตะไทยเวลานี้จะเป็นช่วงที่พวกเขาได้โอกาสพิสูจน์ตัวเองว่าจะสามารถลบคำสบประมาทได้หรือไม่


สัญญาณแนวโน้มหลังได้ยลโฉมผลงานของกุนซือญี่ปุ่นกับไทยช่วงประเดิมเปิดซิงแล้วไม่น่าจะบอกได้ว่า มีแนวโน้มเชิงบวกในด้านระบบการเล่นได้แบบเต็มประตู และก็ไม่ได้ออกมาในเชิงลบในแง่เกมรุกจนน่ากังวลใจไปเสียหมด ภาพที่ออกมาโดยรวม “น่าสนใจ” มากกว่า และชวนให้ติดตามจับตาดูการพัฒนาของทีม หากมีเวลาเตรียมตัวหรือมีจำนวนแมตช์มากขึ้น น่าจะทำให้เห็นสัดส่วนเชิงบวกเยอะขึ้นกว่าสัดส่วนแนวโน้มเชิงลบ