เบื้องหลัง อันเดรสคู คลื่นลูกใหม่เทนนิสแคนาดา

Bianca Andreescu of Canada holds her trophy after she won against Serena Williams of the US after the Women's Singles Finals match at the 2019 US Open at the USTA Billie Jean King National Tennis Center in New York on September 7, 2019. (Photo by TIMOTHY A. CLARY / AFP)

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

เป็นอีกครั้งที่โลกเทนนิสได้เห็นนักหวดรุ่นหลังก้าวขึ้นมาผงาดในวงการเรียงรายกันอย่างต่อเนื่อง เดือนกันยายนแฟนกีฬาได้รู้จักชื่อเบียงก้า อันเดรสคู สาวน้อยวัย 19 ปี เป็นแชมป์ยูเอส โอเพ่น คนใหม่ นำแชมป์เทนนิสแกรนด์สแลมประเภทเดี่ยวกลับสู่แคนาดาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ความสำเร็จของนักเทนนิสหญิงรายนี้ เน้นย้ำถึงสัญญาณที่น่าสนใจซึ่งเกิดถี่ขึ้นในวงการ

อันเดรสคู หวดเอาชนะ เซเรน่า วิลเลียมส์ ในศึกแกรนด์สแลมสุดท้ายของปีที่สหรัฐอเมริกา หักอกแฟนเจ้าบ้านที่เข้ามาลุ้นให้เซเรน่าขยับสถิติที่โดดเด่นในการชูแชมป์แกรนด์สแลมเป็นรายการที่ 24 ในอาชีพ สาวแคนาเดียนเป็นผู้ชะลอความฝันไปอีกปี และยังส่งให้เธอเป็นสาวมหัศจรรย์สำหรับทั้งชาวแคนาดาทั้งประเทศถึงแฟนเทนนิสทั่วโลก

กระแสความนิยมของเธอทำให้อันเดรสคูกลายเป็นฮีโร่ในเมืองบ้านเกิดของเธอนั่นคือมิสซิสซากา (Mississauga) ที่ติดอันดับเมืองน่าอยู่ของแคนาดา จะจัดแรลลี่ต้อนรับเธอในฐานะที่เธอเติบโตที่นี่

เริ่มตั้งแต่เป็นนักเรียน นักกีฬาของเมือง เริ่มต้นเส้นทางนักกีฬา (อาชีพ) ในคลับเทนนิสท้องถิ่นของเมืองก่อนไต่อันดับคว้าแชมป์รายการเมเจอร์ที่นักเทนนิสทั่วโลกใฝ่ฝัน พร้อมพุ่งทะยานขึ้นถึงอันดับ 5 ของโลก

ความสำเร็จของอันเดรสคูเกิดขึ้นตามหลังจากผลงานของ คอรี กอฟฟ์ นักเทนนิสสาววัย 15 ปี (เข้ารอบ 4 ของรายการแกรนด์สแลม) และ นาโอมิ โอซากะ นักหวดสาวเชื้อสายญี่ปุ่น-เฮติ วัย 20 ปี ซึ่งล้ม เซเรน่า วิลเลียมส์ (อีกแล้ว) เมื่อปี 2018 สาวนักหวดทั้ง 3 รายแจ้งเกิดในรอบปีเศษจนทำให้แวดวงเทนนิสหญิงคึกคักผิดหูผิดตา เรียกได้ว่าแซงหน้าฝ่ายชายกันแบบสนุกสนาน

แฟนเทนนิสที่ติดตามชมการเล่นของ อันเดรสคู มักเปรียบเทียบเธอกับมาร์ติน่า ฮิงกิส ตำนานนักเทนนิสสวิสซึ่งเคยเป็นแชมป์แกรนด์สแลมอายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่ยุคโอเพ่นด้วยวัย 16 ปี ใน ค.ศ. 1977 อันเดรสคูมีจุดเด่นที่เรื่องความแข็งแรงของร่างกาย เล่นด้วยความดุดันจนทำให้ชวนนึกถึงฮิงกิส แต่ที่น่าสนกว่าคือ สภาพร่างกายของอันเดรสคูทำให้เธอเล่นดุดันมากกว่าฮิงกิส

หากยังจำแมตช์ชิงแชมป์หญิงเดี่ยวยูเอส โอเพ่น เมื่อปี 2018 ซึ่งโอซากะแจ้งเกิดได้ รายการปีนี้ก็ชวนให้นึกถึงความคล้ายคลึงในสถานการณ์ โดยทั้งโอซากะและอันเดรสคูล้มเซเรน่า วิลเลียมส์ เช่นเดียวกัน ซึ่งเซเรน่าก็เป็นไอดอลของทั้งคู่เหมือนกัน (แน่นอนว่านักเทนนิสหญิงในรอบ 2 ทศวรรษมานี้มีเซเรน่าเป็นฮีโร่เกินครึ่ง)

สำหรับกรณีของอันเครสคู เธอเคยดวลกับเซเรน่า มาหลายหน ครั้งหลังสุดก็ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้ายูเอส โอเพ่น ที่เข้าชิงแชมป์โรเจอร์ส คัพ เธอโชคดีเล็กน้อย

เมื่อเซเรน่าถอนตัวกลางแมตช์ไป แชมป์รายการนี้ทำให้เธอเป็นนักเทนนิสสาวแคนาดาคนแรกที่ได้แชมป์รายการนี้อีกต่างหาก จากนั้นจึงตามมาด้วยความสำเร็จในแกรนด์สแลม ในแวดวงอเมริกันเกมส์ หรือแถบเพื่อนบ้าน เรียกได้ว่าปีนี้เธอเป็นกระแสตีคู่มากับผลงานของทีมบาสเกตบอลอย่างโตรอนโต แรปเตอร์ส เส้นทางของเบียงก้าไม่แตกต่างจากซูเปอร์สตาร์ข้ามคืนรายอื่นเท่าใด ปี 2018 เธอยังเป็นเด็กสาวมืออันดับ 178 ของโลกอยู่ ลักษณะนิสัยตัวตนของเธอก็ยังดูสดใสและสร้างสีสันให้กับบรรยากาศในห้องสื่อมวลชน แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เธอเป็นดาวรุ่งแคนาเดียนในบรรดารายชื่อนักหวดหนุ่มสาวที่สร้างชื่อมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

เคอร์ติส รัช คอลัมนิสต์ด้านกีฬาของนิตยสารฟอร์บส เล่าการพัฒนาของวงการเทนนิสแคนาดาไว้อย่างน่าคิด เส้นทางที่พวกเขาใช้ก่อนจะสร้างให้เห็นผลกินเวลาถึง 12 ปี ช่วงเวลานั้นแคนาดาใช้งบสร้างศูนย์กลางฝึกฝนเทนนิสในมอนเทรอัล ใช้เทคโนโลยีและมีเครือข่ายที่ทันสมัย งบประมาณรวมกันทั้งหมดมากถึง 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างน่าพอใจทีเดียว เบียงก้าเป็นผลผลิตจากศูนย์ฝึกเยาวชนอายุต่ำกว่า 14 ปี แห่งชาติในโทรอนโต เธอเข้าฝึกฝนกับศูนย์ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ และคว้าแชมป์ในรายการระดับเยาวชนอายุ 14 ปี ในฝรั่งเศสเมื่อปี 2014 เป็นรายการเดียวกับที่มาร์ติน่า ฮิงกิส ได้แชมป์เมื่อปี 1991 และ 1992 ส่วนราฟาเอล นาดาล ได้แชมป์เมื่อปี 2000

อัตราการเติบโตของเธอก็ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จได้ต่อเนื่อง หลังจากแชมป์เยาวชนก็มาสู่แชมป์ดับเบิลยูทีเอทัวร์รายการเมื่อปี 2017 อีกไม่กี่ปีต่อมาก็ได้เข้าชิงแชมป์กับฮีโร่ของเธอ แล้วจึงมาชูแชมป์แกรนด์สแลม อันเป็นรายการเมเจอร์ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จสูงสุดของนักเทนนิส

คำถามอมตะสำหรับปรากฏการณ์นี้คือ เธอจะสามารถสานต่อความสำเร็จระดับสูงสุดได้แบบต่อเนื่องหรือไม่ เหล่ากูรูและแฟนเทนนิสเชื่อว่า เธอมีศักยภาพเช่นนั้น ไม่เพียงแค่เธอมีสภาพร่างกายและจุดเด่นในสไตล์การเล่นที่เหมาะสม หากมองไปถึงปัจจัยสำคัญอย่างเรื่องสภาพจิตใจหรือการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่มีผลสำคัญต่อผลงานนักเทนนิสที่สัมผัสความสำเร็จตั้งแต่ช่วงต้นอาชีพ อันเดรสคูมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

อันเดรสคูมีทีมงานครบถ้วนตั้งแต่โค้ช นักจิตวิทยา ทีมผู้จัดการซึ่งจะดูแลเรื่องความเหมาะสมของงานนอกสนาม สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่นักเทนนิสซึ่งประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยไม่มี เหนือสิ่งอื่นใด เครื่องมือเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์ใด ๆ หากตัวเองไม่หมั่นดูแลรักษาและพัฒนาตัวเองต่อ