แฟนบอลยอดเยี่ยม กับพื้นที่ของผู้บกพร่องทางสายตาในโลกลูกหนัง

Soccer Football - The Best FIFA Football Awards - Teatro alla Scala, Milan, Italy - September 23, 2019 Silvia Grecco poses with her son after winning the FIFA fan award while former Italy player Andrea Pirlo looks on REUTERS/Flavio Lo Scalzo

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

องค์ประกอบสำคัญซึ่งพอจะเรียกว่าสำคัญที่สุดในการแข่งกีฬาไม่ได้มีแค่นักกีฬาเท่านั้น ปัจจัยที่ทำให้การแข่งสมบูรณ์และหล่อเลี้ยงตัวกีฬานั้นเองคือ “ผู้ชม” ต่างหาก ในโลกธุรกิจกีฬาคงไม่สามารถขาดพวกเขาได้ กลุ่มผู้ชมก็เป็นเช่นเดียวกับนักกีฬา แต่ละคนมีเรื่องราวน่าประทับใจในเส้นทางของตัวเอง

ระหว่างที่คนในโลกฟุตบอลกำลังถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องความโปร่งใสและสถานะฝีเท้าของนักเตะที่ได้รับรางวัลใหญ่ของฟีฟ่า อีกหนึ่งประเด็นซึ่งกลายเป็นหัวข้อไวรัลต่อเนื่อง นั่นคือกรณีของแฟนบอลแม่ลูกจากบราซิล พวกเขาได้รับรางวัลแฟนยอดเยี่ยมจากฟีฟ่า ในงานประกาศรางวัลเมื่อปลายเดือนกันยายน 2019

ซิลเวีย เกรกโก มารดาของนิโคลลาส เป็นแฟนบอลตัวยงของสโมสรพัลไมรัส ในบราซิล เธอมีบุตรชายที่บกพร่องทางสายตาและมีภาวะออทิสติก แต่ซิลเวียไม่ได้ปล่อยให้สภาพร่างกายของลูกชายเป็นอุปสรรคในชีวิตที่มีกีฬาเป็นส่วนสำคัญ เธอใช้ฟุตบอลอันเป็นกีฬาที่เธอชื่นชอบถ่ายทอดมาสู่ลูกชาย และเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ทำให้ชีวิตครอบครัวมีชีวิตชีวาเสียด้วยซ้ำ

ก่อนที่คู่แม่ลูกจะก้าวขึ้นมารับรางวัลในเวทีระดับโลก พวกเขาเป็นไวรัลมาก่อนหน้านี้ จากที่ทีมข่าวในบราซิลตาดีเล็งเห็นซิลเวีย บรรยายเกมให้นิโคลลาสฟัง ตลอดเกมดาร์บี้แมตช์ในสนามที่อัดแน่นไปด้วยแฟนบอล ระหว่างพัลไมรัส กับโครินเธียนส์ และไปสะกิดช่างภาพให้เก็บภาพเอาไว้ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิทัล ไม่กี่นาทีหลังจบเกม แฟนบอลคู่แม่ลูกออกจากสนามไม่นาน ภาพนี้ก็กลายเป็นคลิปไวรัลไปทั่วเมืองแล้ว

ซิลเวียเล่าว่า เธอไม่รู้ตัวว่าถูกถ่ายภาพเอาไว้ ทันทีที่ออกจากสนามถึงรู้ว่าใครต่อใครในบราซิลก็พูดถึงพวกเธอ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมในสนามลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติที่พวกเธอทำกันมาหลายปีแล้ว พวกเธอทำแบบนี้อย่างน้อยเดือนละครั้ง คนทั่วไปอาจเข้าใจว่า ซิลเวียชวนลูกมาเพื่อให้เขาซึมซับในสิ่งที่เธอเองชอบ และใช้เวลาดูเกมบรรยายสภาพในสนามให้ลูกชายเป็นส่วนใหญ่ ความเป็นจริงแล้ว

ซิลเวียมีลักษณะใกล้เคียงกับแฟนบอลทั่วไป ซึ่งเธอร้องเพลงเชียร์ ตะโกนกระตุ้นนักเตะ พร้อม ๆ กับบรรยายเกม อีกทั้งบอกเล่าลักษณะบุคลิกของผู้เล่นในสนามอย่างละเอียด ใส่สตั๊ดสีอะไร ทำผมแบบไหน ใส่เสื้อแขนสั้นหรือยาว

ถ้าถามว่าฟุตบอลมีผลอย่างไรต่อเด็กที่บกพร่องทางสายตาและมีภาวะออทิสติกร่วมด้วย ซิลเวียเล่าว่า เมื่อนิโคลลาสเข้าชมเกม เด็กคนนี้เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เขาปล่อยตัวตามสบาย ได้เป็นตัวของตัวเอง ลุกขึ้นยืน กระโดด และเชียร์ทีมอย่างสนุกสนาน โดยอาศัยซิลเวียเสมือนสายตาของเขา

ในโลกของฟุตบอลที่เป็นกีฬากระแสหลัก เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ กลุ่มแฟนบอลผู้มีความบกพร่องทางร่างกายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชุมชน นั่นเป็นเหตุผลที่หลายคนเริ่มสนับสนุนแฟนบอลกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นญาติมิตร หรือเทคโนโลยี ที่ช่วยให้ผู้บกพร่องทางสายตาได้ชมเกมผ่านแว่นชนิดพิเศษ

ที่ผ่านมามีผู้ออกแบบอุปกรณ์พิเศษที่ช่วยให้ผู้บกพร่องทางสายตา ซึ่งเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลรับชมเกมได้ โดยแฟนบอลรายนี้มองเห็นได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ด้วยอุปกรณ์พิเศษซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ขยายภาพ และฉายขึ้นบนหน้าจอที่ติดกับหมวก ช่วยให้แฟนบอลเห็นภาพได้มากกว่าเดิม

ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องราวการช่วยเหลือแฟนบอลที่บกพร่องทางร่างกายปรากฏให้เห็นมากมายในหลายสโมสรทั่วโลก ความสัมพันธ์ของพวกเขามักเป็นเพื่อน อาทิ แฟนบอลบาร์เซโลนา ที่บกพร่องทั้งทางสายตาและการได้ยิน มีเพื่อนช่วยเหลือโดยนำบอร์ดรูปทรงสนามฟุตบอลขนาดย่อส่วนมาวางและสัมผัสมือเลื่อนไปตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้รับรู้ความเคลื่อนไหวของเกมได้

ชุมชนที่ก่อเกิดจากกลุ่มแฟนบอลกันเองแพร่หลายมากขึ้นในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ ความเคลื่อนไหวนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ดูแลการแข่งขันบ้าง สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า ก็สนับสนุนโปรแกรมที่ดำเนินการเรื่องการบรรยายเกมผ่านทางแอปพลิเคชั่น หรือวิทยุส่วนตัว ระหว่างการแข่งขันเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อหลายปีก่อน โปรแกรมนี้ยังได้รับความสนใจจากแฟนบอลที่ไม่ได้บกพร่องทางสายตาด้วยเช่นกัน ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ 2 ต่อด้วย

ในไทยเองก็มีแฟนบอลที่เป็นกลุ่มผู้บกพร่องทางสายตาอยู่จำนวนหนึ่ง แฟนกลุ่มนี้นิยมชมเกมในสนามเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในหนทางนี้กลายเป็นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคในเมือง (โดยเฉพาะการเดินทาง) ที่ยังไม่เอื้อกับกลุ่มผู้บกพร่องทางสายตา หรือด้านอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน โครงสร้างของสโมสรในยุโรปก็มีส่วนที่เอื้อให้กับแฟนบอลกลุ่มนี้ หลายสโมสรในยุโรปร่างโปรแกรม จัดพื้นที่ให้ริมสนาม พร้อมหูฟังให้แฟนบอลรับฟังการบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในสนาม บาเยิร์น มิวนิก สโมสรชั้นนำของเยอรมนี เริ่มต้นโปรแกรมนี้ตั้งแต่ปี 2005 ทีมอื่นในยุโรปก็ทยอยเดินตามกันอย่างน่าชื่นชม

การเติบโตของชุมชนลูกหนังยังเดินหน้าไม่หยุด ท่ามกลางการเดินเครื่องอย่างต่อเนื่อง วลีที่น่าตระหนักไม่แพ้กัน คือ “อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง” กีฬาควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้เช่นเดียวกับแง่มุมอื่น