มองการตลาด-เทคโนโลยีจากกรณี “คิปโชเก้” ทำลายสถิติมาราธอน

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ความสำเร็จครั้งสำคัญของคิปโชเก้ นักวิ่งจากเคนย่าวัย 34 ปีที่เพิ่งสร้างสถิติวิ่งมาราธอน (42.2 กิโลเมตร) ภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง (1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที) ไม่ใช่แค่สถิติใหม่ของการวิ่งมาราธอนแต่เบื้องหลังของการวิ่งครั้งนี้มีหลายมิติที่น่าคิด

การวิ่งครั้งนี้ใช้ชื่อว่าอินิออส 1:59 ชาเลนจ์ จัดขึ้นที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2019 อีเวนต์นี้ไม่ใช่การแข่งอย่างเป็นทางการเนื่องจากคิปโชเก้ ใช้ “เพเซอร์” 41 คน เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ “พยุง” เวลาและมีส่วนช่วยสร้างสภาวะที่เหมาะสมให้กับการทำเป้าหมายของคิปโชเก้ ประกอบกับมีรถที่ใช้เลเซอร์ส่องทาง มีโค้ชที่ให้น้ำและเจลเพิ่มพลังงานของร่างกายให้ในแต่ละระยะ นั่นจึงทำให้วงการไม่นับเป็นสถิติทางการเนื่องจากปราศจากบรรยากาศแบบ “การแข่งขัน”

ในที่นี้ไม่ได้กำลังจะบอกว่า คิปโชเก้ มีตัวช่วยจึงทำให้ทำลายเป้าหมายได้สำเร็จ ความเป็นจริงแล้วคิปโชเก้ เป็นนักวิ่งที่มีประสบการณ์และยังผ่านการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น การันตีด้วยผลงานเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2016 และเจ้าของสถิติโลกอย่างเป็นทางการที่ทำได้ในรายการแบบแข่งขันจริงอย่างเบอร์ลิน มาราธอน เมื่อปี 2018

เรื่องการวิเคราะห์ความสามารถของคิปโชเก้ เคยถูกพูดถึงกันมากแล้ว เช่นเดียวกับการสื่อความหมายของการวิ่งที่สะท้อนว่า “ขีดจำกัดของมนุษย์ไม่มีจริง” การทำลายสถิติเกิดขึ้นเสมอ แต่ประเด็นที่ถูกพูดถึงเคียงข้างกับความยอดเยี่ยมของร่างกายคิปโชเก้ ก็ยังมีข้อสังเกตเรื่องอุปกรณ์ตามมา

ดังที่ทราบกันในแวดวงนักกีฬาโดยเฉพาะนักวิ่งว่า คิปโชเก้ สวมรองเท้าไนกี้ ซูมเอ็กซ์ เวเปอร์ฟลาย ไม่เพียงแค่คิปโชเก้ นักวิ่งเพื่อนร่วมชาติอย่างบริจิด ก็สวมใส่รองเท้าไลน์เดียวกันในรายการที่เธอทำลายสถิติมาราธอนหญิงไปในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (บริจิดวิ่งในรายการแข่งขันอย่างเป็นทางการ)

เรื่องอุปกรณ์เป็นอีกหนึ่งรายละเอียดที่นักวิ่งบางกลุ่มมองว่า เทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างผลงานของนักกีฬาเป็นการใช้งานอุปกรณ์ที่ “ไม่ยุติธรรม” แม้ว่าแนวคิดเรื่องเทคโนโลยีช่วยพัฒนาผลงานนักกีฬาไม่ใช่เรื่องใหม่ แนวคิดเรื่อง marginal gains สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการกีฬามากมาย เริ่มต้นจากการแข่งจักรยานประมาณทศวรรษก่อนซึ่งมองว่า การเปลี่ยนแปลงจุดเล็ก ๆ หลายจุดมารวมกันย่อมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

แนวคิดทำนองนี้เป็นพื้นฐานนำมาสู่ความใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยทั้งหลาย อันจะเห็นได้ว่าบุคลากรจากประเทศยักษ์ใหญ่หลายแห่งใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยมากตั้งแต่ภายในสู่ภายนอก อุปกรณ์เหล่านี้จึงถูกออกแบบที่มุ่งเป้าหมายชัดเจนขึ้น

รองเท้ารุ่นดังกล่าวมีแผ่นรองเท้าเป็นคาร์บอน-ไฟเบอร์ประสานกับวัสดุแบบโฟมตรงส่วนฝ่าเท้าช่วยให้ความรู้สึกสวมใส่สบายแม้จะวิ่งในระยะไกลไปนาน ๆ การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กน้อยแต่ละจุดในรองเท้าช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในผลงานโดยรวม

รอส ทัคเกอร์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มมาจากปัจจัยเรื่องลดการสูญเสียพลังงาน หลายบริษัทพยายามหาทางออกแบบอุปกรณ์ที่ช่วยลดสูญเสียพลังงานมายาวนานกระทั่งมีนวัตกรรมโฟมชนิดใหม่และการออกแบบเฉพาะตัวซึ่งช่วยให้นักวิ่งรักษาพลังงานในร่างกายได้ดีกว่าเดิม ดังคำบอกเล่าของ เจค ไรลีย์ นักวิ่งอเมริกันหนึ่งในผู้จบ 10 อันดับแรกในรายการมาราธอนที่ชิคาโกว่า รองเท้าคู่นี้สวมใส่แล้วเหมือนวิ่งบน “เตียงผ้าใบ”

รายงานข่าวจากบีบีซียกสถิติที่น่าสนใจว่า ผู้จบการแข่งมาราธอนรายการใหญ่ที่ชิคาโก 10 อันดับแรกล้วนสวมรองเท้าชนิดนี้ทั้งสิ้น สถิติหลายอย่างที่เก็บโดยนักวิทยาศาสตร์การกีฬาในแล็บจนถึงสถิติเชิงประจักษ์จากการแข่งที่พบว่า สถิติผู้ชนะมาราธอนอย่างน้อย 5 รายการเป็นของนักวิ่งซึ่งสวมรองเท้าคู่นี้

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์การกีฬาไม่กล้าฟันธงอย่างเต็มปากว่า อุปกรณ์นี้ช่วยทำให้นักวิ่งทำผลงานได้ดีกว่านักวิ่งซึ่งมีความสามารถแบบเดียวกันแต่ไม่ได้สวมรองเท้าที่ออกแบบพิเศษหรือไม่ อย่างน้อยอีเวนต์ก็ช่วยทำให้คนทั่วโลกรู้จักบริษัทปิโตรเคมีที่มีเจ้าของจากแดนผู้ดี ในฐานะสปอนเซอร์ที่จัดรายการนี้ และที่สำคัญก็คือแบรนด์อุปกรณ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ปรากฏในหน้าสื่อและการรับรู้ของผู้ติดตามข่าวสาร

สำหรับคนที่อยู่ตรงกลางแล้ว แถลงการณ์ของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติเกี่ยวกับเรื่องอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า พวกเขาเชื่อว่าเทคโนโลยีบางประเภทมีส่วนช่วยส่งเสริมผลงานของนักกีฬา และพวกเขารับรู้ว่า นี่คืออีกหนึ่งความท้าทายของผู้ควบคุมดูแลการแข่งขันในการหาสมดุลระหว่างระเบียบกลางที่ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรม ขณะเดียวกันระเบียบก็ไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยีและนำมาใช้จริงโดยที่ยังคงรักษาคุณค่าของการแข่งกีฬาอย่างเท่าเทียมกันเอาไว้


บริบทนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีซึ่งสะกิดให้มนุษย์ต้องหาสมดุลในมิติต่าง ๆ ในโลกแห่งเทคโนโลยีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเสมือนหนึ่งองค์ประกอบที่ขยับอัตราเร่งการพัฒนาตัวเองของมนุษย์ให้ขยับเข้าใกล้หรืออาจเกินขีดจำกัดของตัวเองได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ