หลังม่านวิกฤต “นาโปลี” กับแนวบริหารแบบ “ซูเปอร์บิ๊กบอส”

ในบรรดาสโมสรฟุตบอลทวีปยุโรป เวลานี้คงไม่มีทีมไหนวิกฤตหนักหน่วงเกินกว่า นาโปลี แห่งกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ถึงแม้จะเป็นทีมระดับกลางแต่ถือว่าเป็นสโมสรเก่าแก่ในยุโรปอีกแห่ง และมีฐานแฟนเหนียวแน่น หลายปีที่ผ่านมาก็พัฒนาทีมมาได้อย่างน่าพอใจ แต่มาถึงปลายปี 2019 พวกเขากลับสะดุดกับดราม่าคราใหญ่ที่ส่อสร้างความเสียหายไม่น้อยทีเดียว

สโมสรฟุตบอลแห่งเมืองเนเปิลส์รายนี้เป็นองค์กรกีฬาที่มีความเป็นมาเกือบ 100 ปี ปฏิเสธได้ยากว่า หลายปีมานี้ก็พัฒนาขึ้นมาเบียดแย่งแชมป์กับทีมยักษ์เดิมได้สนุก จบฤดูกาลด้วยผลงานรองแชมป์ลีก 3 ครั้งในรอบ 4 ฤดูกาลหลังสุด ขณะเดียวกัน ประธานสโมสรอย่าง ออเรลิโอ ดิ ลอเรนติส ซึ่งเป็นคนจากสายงานสื่อบันเทิงกลุ่มภาพยนตร์ก็ถูกมองว่าเป็นนักลงทุนที่หวือหวา เช่นเดียวกับโค้ชในทีมหลายรายที่ผ่านมา

แต่ในฤดูกาลล่าสุด เรียกได้ว่าออกสตาร์ตได้ไม่น่าประทับใจ และยังตามมาด้วยปัญหาอื้อฉาวจากที่นักเตะในทีมต่างปฏิเสธการเรียกกลับเข้าซ้อมติวเข้มอย่างเร่งด่วนโดยประธานสโมสร หลังจากผลงานเสมอกับซัลซ์บวร์ก 1-1 ในศึก
ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ยังไม่สามารถกำตั๋วเข้ารอบน็อกเอาต์แบบเป็นทางการ นี่คือสัญญาณใหญ่มากที่บ่งบอกถึงปัญหาหลังฉากของสโมสร ทั้งที่พวกเขาถูกมองในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ ๆ ว่า เป็นทีมที่จะเบียดลุ้นแชมป์อีกปี

ปัญหาเริ่มปะทุขึ้นหลังจากจบเกมดังกล่าวซึ่งทำให้นาโปลี ไม่ชนะใคร 4 เกมติดต่อกันรวมทุกรายการ คาร์โล อันเชล็อตติ กุนซืออิตาเลียนเดินทางออกจากสนามทันที ไม่ได้พูดคุยกับสื่อ และไม่ได้เข้าร่วมแถลงข่าวหลังเกมตามธรรมเนียมปกติ เก้าอี้ของอันเชล็อตติ ยิ่งร้อนกว่าเดิมเมื่อมีรายงานว่า นักเตะในทีมขบถคำสั่งของประธานสโมสรที่เรียกเข้าแคมป์ซ้อมพิเศษเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เป็นธรรมเนียมที่ลูกหนังอิตาลีเรียกกันว่า “ritiro”

ธรรมเนียมข้างต้นมักถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมฟุตบอลที่แปลกประหลาดในอิตาลี ซึ่งสโมสรมักนำนักเตะไปเข้าแคมป์ปิด เก็บตัวซ้อมกันแบบเงียบ ๆ บางคนเชื่อว่ามีที่มาจากยุค 60s โดย เฮเลนิโอ เอร์เรร่า ที่คุมอินเตอร์ มิลาน ในสมัยนั้น โดยทั่วไปแล้วมักทำกันในช่วงก่อนเริ่มฤดูกาลเพื่อเตรียมพร้อมร่างกายก่อนแข่งตลอดปี แต่อีกรูปแบบหนึ่งคือเรียกตัวกันก่อนเกมเลย ในกรณีหลังนี้ทำเพื่อจุดประสงค์กระตุ้นสปิริตทีมและเตรียมความพร้อมสำหรับเกมที่จะมาถึง แต่ที่เป็นประเด็นคือ กรณีเรียกตัวในภาวะพิเศษ

ภาวะที่ว่าย่อมหมายถึงช่วงเวลาวิกฤตภายในทีม อาทิ กลางฤดูกาล การเรียกเก็บตัวช่วงวิกฤตทำเพื่อ “สลายพฤติกรรม” กระตุ้นทีมให้โฟกัสกับเรื่องฟุตบอล กลับมาเก็บชัยชนะให้ได้อีกครั้ง แต่ในทางกลับกัน การเรียกเก็บตัวช่วงกลางฤดูกาลแบบเร่งด่วนก็ย่อมหมายถึงนักเตะต้องทิ้งระยะห่างจากครอบครัวโดยไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า นักเตะอิตาเลียนยุคลูกหนังอิตาลีเฟื่องฟูคุ้นเคยกับวิธีนี้ดี ช่วง 4-5 ปีก่อนก็ยังมีให้เห็นกันอยู่

ลอเรนติส เคยทำแบบนี้เช่นกันในช่วงดังกล่าว เวลานั้นทีมกลับมาเก็บชัย 3 นัดติดได้หลังผลงานย่ำแย่ไม่ชนะใครหลายนัดติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ถูกวิจารณ์บ่อย และไม่ค่อยได้รับความนิยมในวงการโค้ชยุคหลังแล้ว ผู้เล่นก็มองว่า เป็นวิธีล้าสมัย และไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่ในแง่ปฏิบัติจริง

แรงเสียดทานและความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายบริหาร โค้ช และผู้เล่น สโมสรขู่ว่าจะมีบทลงโทษทางกฎหมาย
และปรับเงิน ขณะที่มีรายงานว่า คาร์โล อันเชล็อตติ กุนซือใหญ่ ได้รับอำนาจตัดสินใจว่าจะขับเคลื่อนการเข้าแคมป์ต่อ หรือเคาะทางเลือกอื่นเพื่อหาทางลงจากสถานการณ์ รายงานข่าวบางแห่งบอกว่า อันเชล็อตติ มีท่าทีเลือกเก็บตัวแค่คืนเดียว จากเดิมที่ประธานสโมสรบอกว่า จะให้เก็บตัวแบบเต็มสัปดาห์

ไม่เพียงแค่เรื่องราวในหน้าสื่อ ยังมีเสียงลือว่า หลังฉากของทีมก็ปรากฏความไม่ลงรอยกันระหว่างลูกชายของ ดิ ลอเรนติส ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธาน ไปจนถึงเรื่องเหตุการณ์ระหว่างอันเชล็อตติ กับดิ ลอเรนติส ที่เหมือนมีปากเสียงกันด้วย

สำหรับแฟนบอลที่ติดตามลูกหนังอิตาลี นับตั้งแต่ปี 2004 ที่ดิ ลอเรนติส (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 70 ปีแล้ว) เข้ามาบริหาร ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงกราฟขาขึ้นอีกครั้งของนาโปลี จากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาตกต่ำจากเรื่องภาวะการเงินอยู่ในสภาพล้มละลายจนตกชั้นไปเล่นลีกล่าง ยุคที่ประธานสโมสรผู้มาจากแวดวงแผ่นฟิล์มสามารถเลื่อนชั้นกลับขึ้นมาในเซเรีย อา อิตาลี ได้และพัฒนาทีมมาสู่ช่วงที่เบียดแย่งแชมป์ รั้งตำแหน่งหัวตารางได้

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีหลัง ดิ ลอเรนติส เริ่มมีปัญหาไม่ลงรอยกับบุคลากรที่ทำงานร่วมกันดังกรณีข้างต้นหรือกรณีอื่น อาทิ เมาริซิโอ ซาร์รี กุนซือที่เคยร่วมงานกันก่อนย้ายไปเชลซี แล้วโยกมาทำงานกับยูเวนตุส ซึ่งเป็นคู่ปรับกันก็พูดถึงกันแบบไม่ค่อยดีนัก (แน่ล่ะ เพราะไปทำงานให้คู่ปรับ) ในช่วงเวลาที่ทำงานร่วมกับ ดิ ลอเรนติส ก็ถูกเอ่ยถึงในแง่อิทธิพลต่อโค้ช หรือแม้แต่การเข้ามาเลือกทีม

คงกล่าวได้ว่า ดิ ลอเรนติส เป็นนักลงทุนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สื่ออิตาลีเองก็วิจารณ์เขาในแง่วิธีการไปสู่เป้าหมาย ซึ่งลักษณะการทำงานในสโมสรฟุตบอลแบบนี้เป็นดาบสองคมดังที่เห็นตัวอย่างมาแล้วมากมาย หากไปได้สวยก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ถ้าเกิดงัดข้อขึ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมเป็นปมที่แก้ยากกว่าเดิม