เทรนด์ กุนซือเยอรมัน พลังหนุ่มเพื่อความเปลี่ยนแปลง

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์ลูกหนังที่แฟนบอลทั่วโลกยกย่องต้องมีแนวทางของฟุตบอลเยอรมันเข้ามาอยู่ด้วย นอกจากทีมชาติเยอรมนีจะประสบความสำเร็จหลายชุดตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บรรดาบุคลากรในวงการลูกหนังเยอรมันยังเป็นอีกหนึ่งสินค้าขายดีสำหรับวงการลูกหนังเมืองเบียร์สู่ลูกหนังโลกเช่นกัน

ตั้งแต่ โยอัคคิม เลิฟ พาทีมชาติเยอรมนีโดดเด่นในฟุตบอลโลก 2010 แม้ไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ แต่เลิฟส่งสัญญาณสำคัญว่าลูกหนังเยอรมันกำลังกลับมาแล้ว หลังฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ ฟุตบอลเยอรมันยกระดับตัวเองทั้งนักเตะและบุคลากรด้านการบริหาร จนถึงวันนี้มีกุนซือเยอรมันมากฝีมือในตลาดมากมายหลังจากโยอัคคิม เลิฟ สร้างชื่อให้ตัวเอง และทำให้คนในวงการต้องหันกลับมามองคลื่นลูกใหม่ของลูกหนังเยอรมัน

หลังจากนั้น ชื่อของ เจอร์เก้น คล็อปป์ ซึ่งโด่งดังกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วยการสร้างทีมขับเคี่ยวกับยักษ์ใหญ่อย่างบาเยิร์น มิวนิก ที่มีกุนซือเยอรมันรุ่นใหญ่แบบสูสี ผลพวงจากการทำงานที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จของคล็อปป์ ก็ได้ผลพวงออกมาเป็นบุคลากรอย่าง เดวิด วากเนอร์ กุนซือที่เพิ่งนำฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ เลื่อนชั้นขึ้นพรีเมียร์ลีกอังกฤษเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1972

วากเนอร์ วัย 45 ปี เคยทำงานกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เป็นกุนซือทีมดอร์ทมุนด์ชุดสองด้วยการแนะนำของคล็อปป์ เพื่อนและรุ่นพี่ที่เป็นคนแนะนำให้วากเนอร์เรียนและสอบโค้ชฟุตบอลนั่นเอง ทั้งสองคนสนิทกันขั้นเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวมาแล้ว วากเนอร์พาทีมชุดสำรองได้แชมป์ระดับภูมิภาคในฤดูกาลแรก

แม้รอดตกชั้นมา 2 ฤดูกาลแต่สุดท้ายผลงานก็ออกมาไม่ดีนักจากวิกฤตลูกทีมบาดเจ็บ

หลังคล็อปป์ย้ายจากลีกเมืองเบียร์ วากเนอร์ก็มาร่วมงานกับฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ ในแชมเปี้ยนชิป วากเนอร์พาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดแดนผู้ดีครั้งประวัติศาสตร์แค่ฤดูกาลแรกที่มาทำงานในอังกฤษ เบื้องหลังของผลงานสุดยอดของวากเนอร์ มีปัจจัยมากมาย แต่ทั้งวากเนอร์และสื่อเองก็เชื่อว่าหนึ่งในนั้นคือ การรวบรวมนักเตะจากทั่วยุโรปรวมถึงนักเตะจากบ้านเกิดเมืองเบียร์ที่มาเป็นตัวหลักของทีม

การทำงานกับลูกทีมที่หลากหลาย ทั้งอังกฤษ และต่างชาติ ขณะที่ส่วนใหญ่ก็เพิ่งทำความรู้จักฟุตบอลอังกฤษเป็นครั้งแรก วากเนอร์จัดทริปละลายพฤติกรรม พาทีมไปสวีเดน ให้ลูกทีมใช้ชีวิตร่วมกันโดยให้ยังชีพด้วยตัวเอง

ไม่น่าเชื่อว่าทริปนี้จะทำให้ทีมผูกพันกัน สร้างทีมสปิริตจนกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ฮัดเดอร์สฟิลด์สามารถพลิกตัวเองจากช่วงวิกฤตกลับมาเค้นฟอร์มที่ต้องการในเวลาที่พวกเขาต้องการ ขณะที่ฤดูกาลแรกในพรีเมียร์ลีก ทีมก็เปิดตัว 3 นัดแรกอย่างสวยงามด้วยสถิติ ชนะ 2 เสมอ 1 ยิง 4 ประตู โดยไม่เสียประตูเลย ติด 4 อันดับแรกของตารางอย่างสวยงาม

วากเนอร์ไม่ใช่กุนซือหนุ่มเยอรมันที่น่าจับตาอีกคนยังอยู่ที่บุนเดสลีกา เยอรมันอย่าง ยูเลียน นาเกลส์มันน์ กุนซือวัย 30 ปี เจ้าของสถิติเทรนเนอร์อายุน้อยที่สุดในบุนเดสลีกา จากการรับตำแหน่งในปี 2016

นาเกลส์มันน์ถูกจับตาจากผลงานพาทีมทำผลงานยอดเยี่ยม แพ้แค่ 3 นัดจาก 28 เกมในลีก ติดอันดับ 4 ของตารางไปเล่นฟุตบอลถ้วยยุโรปรายการเล็ก นาเกลส์มันน์เป็นกุนซือหนุ่มจอมแท็กติกและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทำงานของนาเกลส์มันน์ก็มีส่วนคล้ายกับวากเนอร์ ซึ่งทำงานแบบคนรุ่นใหม่ คือทำงานแบบไม่ซับซ้อนแต่ต้องได้ผล และอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย

ปรากฏการณ์กุนซือเยอรมันรุ่นใหม่ในบุนเดสลีกา น่าจะเป็นผลพวงที่ถอดรหัสย้อนไปตั้งแต่การหาทางออกจากวิกฤตลูกหนังต้นยุค 2000 ที่เยอรมันล้มเหลวจากศึกลูกหนังชิงแชมป์แห่งชาติทวีปยุโรป องค์กรลูกหนังอย่างเดเอฟเบ ปฏิรูประบบตั้งแต่ต้น จน 10 ปีต่อมาถึงเริ่มเห็นผลในบอลโลก

ขณะที่บุนเดสลีกายุคนี้ มีโค้ช 12 รายที่ไม่เคยมีประสบการณ์คุมทีมชุดใหญ่ในลีกสูงสุดมาก่อน ไล่มาตั้งแต่กุนซือที่ขึ้นมาแทน เจอร์เก้น คล็อปป์ จนถึง อเล็กซานเดอร์ นูริ ของเบรเมน หรือนี่คือเงาสะท้อนการปฏิรูปกรอบการทำงานในลูกหนังเยอรมันอีกครั้ง

ฟุตบอลเยอรมันต้องการไอเดียใหม่ ๆ จากพลังหนุ่มที่พร้อมใช้ขุมกำลังขนาดย่อมด้วยต้นทุนน้อยกว่าทีมหัวแถวอย่างบาเยิร์น มิวนิก และดอร์ทมุนด์ ซึ่งการทำงานด้วยงบฯน้อยหมายถึงการทำงานกับนักเตะหนุ่ม และดูเหมือนว่าส่วนผสมระหว่างกุนซือหนุ่มกับนักเตะดาวรุ่งจะไปได้สวยกว่าจนกลายเป็นเทรนด์ที่ลีกอื่นอาจเริ่มเห็นบ้างจนมาสู่โอกาสของวากเนอร์ และเขาก็พิสูจน์ตัวเองได้ด้วย

กระแสคลื่นลูกหลังจากพลังหนุ่มในลูกหนังเมืองเบียร์ตั้งแต่ปี 2016 เป็นสัญญาณบางอย่างสำหรับหลายแวดวง ไม่ใช่แค่ในฟุตบอลเท่านั้น เทรนด์การทำงานกับคลื่นลูกใหม่และไอเดียใหม่ ๆ อย่างทริปสวีเดนของวากเนอร์มีแนวโน้มขยายตัวกว้างกว่าแค่เยอรมัน ถ้าทีมในลีกอื่นกล้าปฏิรูปตัวเองเหมือนกับที่ลูกหนังเยอรมันกล้าทำหลังล้มเหลวต้นยุค 2000 เหมือนกับที่บางคนว่า “การไม่เสี่ยงคือความเสี่ยงแบบหนึ่ง”