เส้นทางก่อนและหลัง “ชาราโปว่า” อำลาสนาม

Photo by Mike Owen/Getty Images

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

การประกาศอำลาสนามของมาเรีย ชาราโปว่า ทำให้แฟนเทนนิสและแฟนกีฬาต่างเสียดายไปตาม ๆ กัน ในความรู้สึกของผู้ชมทั่วไปแล้ว โอกาสชมลีลาของนางฟ้ารัสเซียรายนี้ยุติลงรวดเร็วเกินไป ผลงานและเรื่องราวของเธอที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทาง 17 ปีในอาชีพมีบทเรียนมากมายที่น่าสนใจ

สำหรับผู้ที่ติดตามเธอมาคงทราบดีว่า เธอเริ่มต้นย้ายถิ่นจากมอสโก มาที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ หลังจาก มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า ตำนานนักเทนนิสหญิงอีกรายเห็นแววสาวน้อยตัวเล็ก ก่อนที่เธอจะแจ้งเกิด

เมื่อปี 2002 ที่เธอเข้ารอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียน โอเพ่น ระดับจูเนียร์ หลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี ชาราโปว่าแนะนำตัวเองให้แฟนกีฬาทั่วโลกเมื่อเธอล้มเซเรน่า วิลเลียมส์ ในรอบชิงวิมเบิลดัน 2004 ในวัยเพียง 17 ปี เป็นนักเทนนิสอายุน้อยที่สุดอันดับ 3 ซึ่งคว้าแชมป์ที่ออลอิงแลนด์ คลับ

ความสำเร็จในช่วงปีนั้นส่งให้เธอขึ้นแท่นเป็นนักเทนนิสหญิงชาวรัสเซียคนแรกที่ครองมืออันดับ 1 ของโลกก่อนจะอายุขึ้นเลข 2 ด้วยซ้ำ ช่วงเวลานั้นเธอคือสาวดาวเด่นของวงการกีฬาทั้งปวง ความสำเร็จจากแกรนด์สแลมที่หักปากกาเซียนที่สุดอีกครั้งในประวัติศาสตร์และการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกในวัยทีนดึงดูดความสำเร็จทางการเงินมาให้เธอด้วย

AP Photo/Elise Amendola, File

สื่อเปรียบเทียบความสำเร็จในครั้งนั้นว่าเป็นบันไดไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ จากที่เธอย้ายมาอาศัยในสหรัฐ พร้อมคุณพ่อในขณะที่พวกเขามีเงินเก็บแค่ 700 ดอลลาร์สหรัฐ แต่จนถึงวันนี้ เธอคว้าเงินรางวัลรวมทั้งหมดมากกว่า 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขจากสมาคมนักเทนนิสหญิงระบุว่า รายได้รวมจากการแข่งอาชีพของเธอมากเป็นอันดับ 3 รองจากคู่พี่น้องวิลเลียมส์ (ซิโมน่า ฮาเล็บ ที่รั้งอันดับ 4 น่าจะแซงได้ในอนาคต) ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยรูปโฉมที่ต้องใช้คำว่า “งดงาม” เธอยังมีรายได้จากสัญญากับสปอนเซอร์และธุรกิจต่าง ๆ อีกมาก

ตลอดอาชีพของเธอ ไม่ได้มีแค่ช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จ ห้วงที่แฟน ๆ จำกันได้อย่างดีคือ ช่วงที่เธอถูกลงโทษเนื่องจากตรวจพบสารกระตุ้นซึ่งเธอใช้สารนี้มาหลายปีแล้วก่อนหน้าที่จะมีบรรจุเป็นสารต้องห้าม แต่เธอยังใช้สารนี้อยู่หลังจากประกาศบรรจุสารในรายชื่อสารต้องห้ามไม่กี่เดือน (หลังชี้แจงและได้รับพิจารณาว่า “ไม่ได้ตั้งใจโด๊ป” จึงได้รับลดโทษแบน) ประกอบกับเรื่องอาการบาดเจ็บที่เธออธิบายว่า เป็นเหตุผลข้อใหญ่ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจอำลาสนาม และเมื่อดูจากอันดับที่หล่นมาถึงอันดับ 369 ของโลก รวมถึงฟอร์มในช่วงหลังก็เห็นได้ว่า ตกรอบแรกรายการใหญ่บ่อยครั้งรวมถึงออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อต้นปี

แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญมากกว่านั้นย่อมเป็นสถานะคู่ปรับระหว่างชาราโปว่า กับ เซเรน่า วิลเลียมส์ สาวรัสเซียเอาชนะเซเรน่า 2 ครั้งจาก 3 แมตช์แรกที่ทั้งคู่พบกัน หลังจากนั้นชาราโปว่าเป็นฝ่ายแพ้ไปถึง 19 แมตช์ และยังมีกระแสข่าวเรื่องวิวาทะกระทบกระทั่งกัน (เล็ก ๆ น้อย ๆ ) อีกหลายครั้ง กระทั่งในแมตช์ที่ทั้งคู่พบกันหลังสุดคือในศึกออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อมกราคมที่ผ่านมา ชาราโปว่าก็เป็นฝ่ายแพ้อีกครา

เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่จะไม่มีโอกาสได้ชมแมตช์คู่ปรับที่ถูกเทียบได้กับแมตช์ “เฟเดอเรอร์-นาดาล” อีกแล้ว ขณะที่นักเทนนิสรุ่นหลังซึ่งต่างมีทักษะยอดเยี่ยม รูปโฉมงามไม่น้อยหน้าสาวสวยใด ๆ ก็ยังมีสร้างสีสันให้วงการคึกคักได้เสมอ อย่างไรก็ตาม ทัศนคติและอุปนิสัยในการลงเล่นล้วนแตกต่างจากยุคที่มีคู่ปรับคลาสสิกหลายคู่หมุนเวียนกันให้แฟนเทนนิสได้ตื่นเต้นกับการดวลในสนาม

Photo by Fred Lee/Getty Images

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของชาราโปว่า คือ เธอเป็นนักกีฬาหญิงที่มีสัญญาสปอนเซอร์ และเกี่ยวพันกับการทำธุรกิจเยอะทีเดียว ไล่เรียงมาตั้งแต่สปอนเซอร์ชิปก้อนใหญ่ที่สุดคือ ไนกี้ คาดการณ์กันว่าเธอเซ็นสัญญา 8 ปีกับผู้ผลิตสินค้ากีฬาแถวหน้าของโลกมูลค่ามากรวมถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบรนด์ระดับโลกอื่น ๆ ก็มีตั้งแต่รถหรู, เครื่องดื่มระดับพรีเมี่ยม, เครื่องประดับต่าง ๆ

แฟน ๆ ที่ติดตามชาราโปว่าจะคุ้นหูแบรนด์ส่วนตัวของเธอที่ใช้ชื่อว่า “ชูการ์โปว่า” (Sugarpova) ที่ทำขนมหวาน และเมื่อปี 2014 เธอซื้อธุรกิจครีมกันแดดเข้ามา แบรนด์สินค้าตัวนี้ใช้ชื่อว่า Sugargoop หากอ้างอิงตามการประเมินของนิตยสารฟอร์บส รายได้รวมทั้งจากการแข่ง, สปอนเซอร์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น กล้อง และสินค้าประเภทอื่น ๆ อยู่ที่ 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามหลังเซเรน่า วิลเลียมส์ ซึ่งถูกประเมินรายได้ที่ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าชาราโปว่าน่าจะสูญเสียรายได้ก้อนหนึ่งในช่วงที่ถูกแบนไป เมื่อพ้นโทษ สปอนเซอร์รายใหญ่ก็ประกาศกลับมาสนับสนุนเธออีก

คงต้องบอกว่า แฟนเทนนิสเสียดายที่จะไม่ได้เห็นเธอบนคอร์ตอีกแล้ว ส่วนในด้านอื่น เชื่อว่า ชาราโปว่ายังไปได้สวยในสายธุรกิจ ในฐานะนักกีฬาหญิงอันดับต้น ๆ ของโลก ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเธอจะยังได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์กีฬาต่อไปจากสถานะผู้ทรงอิทธิพลและเป็นอีกหนึ่งนักกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน จากสาวที่เดินทางมาตามหาความฝันและเพียรพยายามสุดความสามารถจนประสบความสำเร็จในระดับสูงอย่างงดงาม