มรสุมภายใน “บาร์ซ่า” ยกล่าสุด ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด

Photo by Josep LAGO / AFP
อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้โลกกีฬาถูกแช่แข็งมาหลายสัปดาห์ ระหว่างที่การแข่งถูกระงับย่อมกระทบต่อสถานะการเงินไม่แพ้อาชีพอื่น แต่ถ้านั่นไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเพียงพอ คงต้องบอกว่า สถานการณ์ของสโมสรระดับบาร์เซโลนาที่กำลังเจอมรสุมภายในเล่นงานเข้าอีก พวกเขาแทบกลายเป็นสโมสรระดับแถวหน้าของยุโรปที่ตกอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง

ช่วงที่ทั่วโลกประสบความยากลำบากกับการรับมือโรคระบาด บาร์เซโลนา สโมสรยักษ์ใหญ่ของสเปนตกเป็นข่าวท่ามกลางปมการเมืองภายในสโมสร แถลงการณ์จากบาร์ซ่าเมื่อต้นเดือนเมษายนยืนยันการลาออกของสมาชิกบอร์ดบริหาร 6 รายซึ่งโบกมือลาตำแหน่งจากความขัดแย้งกับประธานสโมสร โจเซฟ บาร์โตเมว ในบรรดารายชื่อที่ลาออกมีชื่อบอร์ดที่เคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับบาร์โตเมวอย่าง เอมิลี รูเซาด์

รูเซาด์เคยถูกมองว่าเป็นคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นทายาทประธานสโมสรต่อจากบาร์โตเมว แต่การแตกหักครั้งล่าสุดนี้ รูเซาด์กล่าวโจมตีผู้นำสโมสรอย่างตรงไปตรงมา และเรียกร้องให้เลือกตั้งซึ่งเคยมีกำหนดเดิมในปี 2021 ให้เร็วขึ้น เพื่อให้ทีมบริหารใหม่ได้เข้ามาจัดการสโมสร และล้างบรรยากาศความขัดแย้งอึมครึมภายในโครงสร้าง

เรื่องการบริหารงานของสโมสรในเชิงโครงสร้าง บาร์เซโลนาเป็นสโมสรที่มีเอกลักษณ์เรื่องส่วนร่วมของแฟนบอล สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของสโมสรตามระเบียบจะมีสิทธิโหวตเลือกประธานสโมสร ที่จะมาวางแผนงานระยะ 5-6 ปีตามวาระการดำรงตำแหน่ง สำหรับประธานคนปัจจุบันคือบาร์โตเมว ซึ่งโดนแฟนบอลวิจารณ์เรื่องการบริหารงานหลายด้าน แม้แต่ดาวเตะหัวใจหลักของทีมอย่างลิโอเนล เมสซี่ ซึ่งไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นทางสาธารณะมากนักก็ยังวิจารณ์การบริหารของสโมสรมาแล้ว

ก่อนหน้านี้ บาร์โตเมวกับรูเซาด์ กล่าวหากันไปมาและยกปัญหาคอร์รัปชั่นในสโมสรมาเป็นประเด็น สำหรับบาร์โตเมว เคยทำงานในบาร์ซ่ายุคที่ซานโดร โรเซลล์ ดำรงตำแหน่งโรเซลล์เองก็เพิ่งออกจากเรือนจำจากข้อหาในคดีฟอกเงิน แต่พ้นข้อหาและถูกปล่อยตัวในปี 2019

บาร์โตเมวขึ้นมารับตำแหน่งแทนโรเซลล์แบบชั่วคราวเมื่อปี 2014 แล้วชนะเลือกตั้งในปี 2015 ตั้งแต่นั้นมาเขาตกเป็นข่าวหลายครั้งในแต่ละห้วงปัญหาภายในของสโมสร ขณะที่ช่วงโควิด-19 ก็ยิ่งเป็นประเด็นร้อน หลังจากเขาเพิ่งตกเป็นเป้าโจมตีว่าอยู่เบื้องหลังการจ้างกลุ่มคนมาปั่นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ สร้างบัญชีที่กล่าวอ้างว่ามีผู้ดูแลเป็นแฟนบอลบาร์เซโลนามาโจมตีใครฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับเขา ไม่ว่าจะเป็นวิกเตอร์ ฟอนต์ ที่แสดงตัวว่าจะลงชิงเก้าอี้ ไปจนถึงนักเตะผู้เป็นแกนนำของสโมสรอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ และ เคราร์ด ปิเก้ ดูเหมือนว่าฟอนต์จะเป็นคนที่เมสซี่เห็นดีเห็นงามด้วย ขณะที่สโมสรปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ไปแล้ว กลางเดือนเมษายน สโมสรยังขู่จะฟ้อง รูเซาด์ ที่กล่าวหาอันเป็นเท็จ

เมสซี่ไม่เพียงเป็นแค่นักเตะที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของบาร์ซ่าในยุคนี้ แต่กูรูนักวิเคราะห์มองกันว่า เมสซี่และปิเก้ คือผู้มีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจต่าง ๆ เกี่ยวกับด้านกีฬาของสโมสร ถึงแม้ภาพลักษณ์ภายนอกอาจดูไม่ค่อยออกสังคมมากนัก แต่หลังม่านของทีม เมสซี่ คือผู้นำที่กำหนดทิศทางต่าง ๆ ในด้านฟุตบอลไซมอน คูเปอร์ คอลัมนิสต์ของอีเอสพีเอ็นอ้างอิงแหล่งข่าวภายในสโมสรหลายรายที่ต่างบอกตรงกันว่า เมสซี่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ-ขายนักเตะ การวางแผนทางแท็กติก ไปจนถึงการเลือกโค้ชด้วยซ้ำ

โครงสร้างการบริหารในช่วงหลังจึงมีปัญหาคานกับผู้มีอิทธิพลในทีม หลังผ่านยุค เป๊ป กวาร์ดิโอล่าโค้ชที่สโมสรจ้างมาถูกมองว่าไม่ได้เป็นกุนซือชื่อระดับโลก นั่นสะท้อนกับการกล่าวอ้างของแหล่งข่าวภายในสโมสรที่บอกว่า บาร์ซ่ายุคนี้ โค้ชไม่ใช่ “บอส” ของทีม ขณะเดียวกันสไตล์การเล่นที่เคยเป็นลายเซ็นของสโมสรอันมาจากการวางรากฐานของ โยฮันน์ ครัฟฟ์ ก็เริ่มเสื่อมมนต์ขลังลงทุกวัน สภาพเช่นนี้บ่งชี้แนวทางอย่างหนึ่งของผู้บริหารว่า พวกเขาน่าจะมีกลยุทธ์ในแนวทาง “ไม่มีบุคคลใดใหญ่เกินสโมสร”

ท่ามกลางสงครามภายในสโมสรอันยิ่งใหญ่ของสเปน ก็มีคนเห็นโอกาสเช่นกัน โจน ลาปอร์ต้าอดีตผู้บริหารใหญ่อีกรายของบาร์ซ่า ที่เคยแพ้เลือกตั้งให้บาร์โตเมว ก็เปรยว่าเขาเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพแก้ไขปัญหาภายในอันยุ่งเหยิง

บาร์โตเมวเป็นประธานในยุคที่สโมสรรุ่งเรือง เขาย่อมมีส่วนในความสำเร็จตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกัน เวลานี้เขาก็เป็นตัวแปรหนึ่งในวังวนของมรสุมครั้งนี้ด้วย และยังมีบุคคลอีกหลายรายที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของบาร์ซ่า ไม่ต่างจากประธานสโมสรที่เป็นคนท้องถิ่นคาตาลันรายนี้ เมื่อผูกได้ คราวนี้คงต้องหาทางแก้ปมกันยกใหญ่ นี่คือหัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์ของบาร์ซ่า ท่ามกลางศึกชี้ชะตาของคนทั่วโลกในช่วงไวรัสระบาด