ผลกระทบจากคดีจอร์จ ฟลอยด์ สะเทือนถึงรากสังคม (กีฬา) อเมริกัน

AP Photo/Julio Cortez

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ในช่วงโรคระบาดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนทั่วไปในสังคม มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาไม่เพียงต้องรับมือกับตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากการติดโรคโควิด-19 ที่พุ่งสูงเป็นอันดับต้นของโลก สถานการณ์ภายในประเทศยังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้ประท้วงขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ซึ่งคนในแวดวงกีฬาก็มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวด้วย

คลิปเหตุการณ์ขณะ นายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวดำวัย 46 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินนิอาโพลิสจับกุมตัว โดยใช้เข่ากดทับลำคอเขากับพื้น นายฟลอยด์ที่นอนราบบนพื้นเอ่ยว่า “ผมหายใจไม่ออก” แม้ฟลอยด์จะถูกนำตัวขึ้นรถพยาบาล แต่เขาเสียชีวิตในภายหลัง ภาพและข่าวคราวการเสียชีวิตของฟลอยด์ตอกย้ำปมใหญ่ที่ค้างคาในสังคมอเมริกันมายาวนาน อย่างเรื่องการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อคนทุกกลุ่ม เรื่องนี้เป็นประเด็นที่พูดคุยกันมายาวนาน แน่นอนว่า โลกกีฬาก็เกิดกรณีเหยียดชาติพันธุ์กันมาก่อนหน้านี้ และเคยได้หยิบยกมาบอกเล่ากันบ้างแล้ว

AP Photo/Julio Cortez

สำหรับครั้งนี้ คลิปบันทึกภาพของเหตุการณ์เป็นหลักฐานที่ทั้งชัดเจนและน่าสะเทือนใจ ข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ จึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว นำมาสู่การเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชายวัย 46 ปี ที่ถูกจับในเหตุการณ์ที่แถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เนื่องจากได้รับแจ้งเรื่องบุคคล “ใช้ธนบัตรปลอม” แถลงการณ์จากเจ้าหน้าที่ระบุว่า ขณะเกิดเหตุฟลอยด์อยู่ในสภาพ “มึนเมา”

ด้วยเบื้องหลังของฟลอยด์ที่เคยผ่านประสบการณ์เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลและฟุตบอลของโรงเรียนในระดับวิทยาลัยก็เล่นบาสเกตบอล แวดวงกีฬาอเมริกันเกมเองก็น่าจะสะทกสะท้อนกับเรื่องนี้ไปด้วย จึงมีบุคลากรในวงการทยอยร่วมเคลื่อนไหวและวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์มากขึ้น

นักกีฬาและโค้ชจากหลายทีมในศึกเอ็นเอฟแอล อเมริกันฟุตบอล ล้วนออกมาแสดงจุดยืนและเผยแพร่แถลงการณ์ โรเจอร์ กูเดลล์ ประธานเอ็นเอฟแอล ย้ำจุดยืนเรื่องความรับผิดชอบของลีกในการเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนความยุติธรรมทางสังคมผ่านแพลตฟอร์มที่พวกเขามี ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่กินระยะในวงกว้างมาก

หากย่อขนาดลงมาในระดับท้องถิ่นมากขึ้น ทีมในพื้นที่เกิดเหตุ อย่างมินเนโซตา ไวกิ้งส์ หรือทีมบาสเกตบอลหญิง มินเนโซตา ลินซ์ ไปจนถึงมหาวิทยาลัยแห่งมินเนโซตา ล้วนแสดงจุดยืนในกรณีนี้ ซึ่งในมุมมองของ ไบรอันท์ โฮเวิร์ด จากอีเอสพีเอ็น สื่อกีฬาชั้นนำในสหรัฐมองว่า ไม่บ่อยนักที่จะเห็นการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ หลังจากเหตุก่อการร้าย 9/11 สโมสรและทีมกีฬาหลายแห่งในสหรัฐ มักมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหนึ่งในองค์ประกอบในการทำธุรกิจ เจ้าหน้าที่ทางการ อาทิ ทหาร หรือตำรวจ มักมีสถานะเป็น “ฮีโร่” ประจำท้องถิ่นในบรรยากาศของเกม การกระทำลักษณะนี้ค่อนข้างตรงกันข้ามกับวิถีในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสะท้อนกลับไปสู่คำถามว่า จุดยืนของทีมเหล่านี้จะนำพาพวกเขาไปสู่บรรยากาศแบบไหนหลังเหตุการณ์จบลง

ในส่วนของวงการยัดห่วง มีอดีตนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอ อย่างสตีเฟ่น แจ็คสัน ผู้เล่นชุดแชมป์เมื่อปี 2003 ของทีมซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส อดีตนักกีฬารายนี้เป็นเพื่อนเก่าของฟลอยด์ ซึ่งออกมากล่าวในที่สาธารณะและให้สัมภาษณ์สื่อในฐานะเพื่อนที่เติบโตมาพร้อมกันในวัยเด็กที่ฮูสตัน เช่นเดียวกับผู้เล่นทีมท้องถิ่น อย่างมินเนโซตา ทิมเบอร์วูล์ฟส ที่มีบางรายออกมาเดินขบวนบนถนนเรียกร้องความยุติธรรมให้ฟลอยด์

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักในแวดวงธุรกิจสายผลิตภัณฑ์กีฬาก็คือ แคมเปญพิเศษของไนกี้ แบรนด์ระดับโลกที่มีคติคุ้นหูอย่าง “Just Do It” หรือ “แค่ลงมือทำ” ก็ออกคลิปที่ใช้คำว่า “Don’t Do It” กับกรณีพฤติกรรมเหยียดสีผิว และการมองข้ามความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอเมริกัน ขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงของไนกี้ ก็ส่งอีเมล์ถึงพนักงานของบริษัท ย้ำจุดยืนว่า บริษัทไม่เพิกเฉยกับความอยุติธรรมโดยใช้คำ “Don’t Do It” เช่นเดียวกัน

เหล่านี้เป็นเพียงแรงสะเทือนส่วนหนึ่งที่ปรากฏในสังคมอเมริกันจากแง่มุมด้านกีฬา ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่น่าเป็นห่วง หนำซ้ำยังมาพร้อมกับกระแสสังคมที่ขยายขอบเขตและระดับความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ยิ่งห้ามปรามระงับการเดินขบวนประท้วงหรือการเคลื่อนไหวก็มักปรากฏภาพการปะทะมากขึ้น

สื่อมวลชนบางรายมองกันว่า เหตุการณ์ของจอร์จ ฟลอยด์ สร้างแรงสั่นสะเทือนในสังคมอเมริกันครั้งใหญ่อีกหน และครั้งนี้ก็สั่นสะเทือนไปถึงปมรากของปัญหาทางสังคมที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของดินแดนมหาอำนาจแห่งนี้มายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเชิงสังคม การเมือง หรือในแวดวงกีฬา

ดังที่กล่าวแล้วว่า ความไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นทางเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ล้วนปรากฏให้เห็นเป็นระลอก มีความพยายามแก้ไขมาก่อนหน้านี้มากมายด้วย แต่สำหรับครั้งนี้อาจเป็นอีกหนึ่งหนที่ย้ำคำถามว่า ความเข้มข้นของกระบวนการแก้ปัญหานี้เพียงพอหรือไม่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว