Project Big Picture ร่างแผนปรับพรีเมียร์ลีกสะท้อนอะไรบ้าง

Photo by Matt Dunham / POOL / AFP
 อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ฟุตบอลอังกฤษได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่น ขณะที่เบื้องหน้าต้องปรับตัวกัน หลังฉากของฟุตบอลอังกฤษห้วงปลายปี 2020 มีประเด็นร้อนแรงซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หนาหูเกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย หัวข้อที่ว่าคือเรื่อง “Project Big Picture” หรือแผนข้อเสนอปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลายประการในลีกอังกฤษ

ในช่วงโควิด-19 สโมสรหลายแห่งประสบปัญหาการเงิน รายได้หดเพราะไม่มีผู้ชมในสนาม แต่รายจ่ายให้บุคลากรต่าง ๆ ในทีมยังเหมือนเดิม สถานการณ์นี้ทำให้แผนการหลังฉากซึ่งเริ่มร่างขึ้นโดยสโมสรคู่อริตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถูกหยิบยกนำมาสู่กระบวนการพิจารณาอย่างจริงจัง

แผนที่ว่านี้มีข้อเสนอหลักใหญ่ใจความสำคัญเรื่องให้พรีเมียร์ลีกแบ่งเงิน 250 ล้านปอนด์ให้ทีมในลีกรองถัดลงไปจากพรีเมียร์ลีกอย่างแชมเปี้ยนชิพ, ลีกวัน และลีกทู (ทั้ง 3 ลีกบริหารโดยบริษัท English Football League-EFL) ในทันทีโดยให้ไปแชร์กันเอง เป็นเงินช่วยเหลือ

เฉพาะหน้าให้ประคับประคองธุรกิจในช่วงโควิด ซึ่งแม้แต่ทีมในพรีเมียร์ลีกเองยังเจ็บตัวหนัก คงจินตนาการสภาพการเงินของทีมเล็กในลีกรองได้ไม่ยาก เท่านั้นไม่พอ แผนนี้ระบุว่าจะจัดส่วนแบ่งรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่พรีเมียร์ลีกได้มาให้กับ EFL อีก 25% เลยทีเดียว

ข้อเสนอข้างต้นจะต้องแลกกับการลดจำนวนทีมในพรีเมียร์ลีกเหลือ 18 ทีม พร้อมยกเลิกรายการลีกคัพ (ปัจจุบันใช้ชื่อ “คาราบาวคัพ”) และคอมมิวนิตี้ชิลด์ เพราะทีมใหญ่ในพรีเมียร์ลีกต้องการลดจำนวนแมตช์ให้ลดลง เมื่อโปรแกรมลด ตารางการวางแผนงานจะสามารถโฟกัสกับรายการหลักอย่างฟุตบอลถ้วยยุโรป และโปรแกรมทัวร์หรือแมตช์อุ่นเครื่องช่วงพรีซีซั่นได้มากขึ้น

การลดจำนวนโปรแกรมลงย่อมเป็นผลดีกับทีมใหญ่ที่ต้องลงแข่งหลายรายการมากกว่าทีมเล็ก สโมสรเหล่านั้น จึงต้องมีขนาดทีมใหญ่ จ้างนักเตะมากขึ้นรองรับการหมุนเวียนนักเตะ เมื่อโปรแกรมลดลง หมายความว่าทีมใหญ่ก็จะปรับลดขนาดทีมลง ประหยัดต้นทุนบริหารไปได้ด้วย

อีกประการหนึ่งที่ข้อเสนอนี้ระบุคือ “บิ๊ก 6” สโมสรใหญ่ในพรีเมียร์ลีกคือ ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, อาร์เซนอล, ทอตแน่ม ฮอตสเปอร์ และเชลซี บวกกับอีก 3 สโมสรคือ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด, เอฟเวอร์ตัน และเซาแธมป์ตัน จะเป็นทีมที่มีสิทธิพิเศษในการโหวตบางกรณี ต่างจากระบบเดิมที่ 20 ทีมในลีกสามารถลงเสียงได้ 1 โหวตต่อทีมที่ให้สิทธิพิเศษกับ 9 ทีมก็เพราะว่า ทีมใหญ่เห็นว่าบรรดาสโมสรขนาดกลางจนถึงขนาดเล็กไม่ได้อยู่ในลีกแบบถาวร บางปีก็ตกชั้น

Photo by Michael Regan / POOL / AFP

ไม่กี่ฤดูกาลต่อมาถึงเลื่อนชั้นกลับมา ทีมพวกนี้มักโหวตเลือกสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์ ไม่ได้มองใน “ภาพรวม” ของทั้งลีก

ข้อเสนอนี้เป็นที่ถกเถียงอย่างหนักหน่วงในห้วงปลายปี 2020 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 บรรดาทีมเล็กก็ต้องการเงินทุนสนับสนุนเพื่อเลี้ยงตัวเองในสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่แน่นอนว่า บรรดาทีมในพรีเมียร์ลีกที่เหลือต่างไม่เห็นด้วย เพราะพวกเขาจะเสียสิทธิ์โหวตในกรณีสำคัญ (แม้ว่ากรณีที่พวกเขาตกชั้นก็จะได้รับเงินสนับสนุนมากขึ้นก็ตาม) บางสโมสรยังมองว่า การปรับเปลี่ยนนี้จะทำให้ความกระหายของทีมเล็กลดลง เมื่อนั้นเสน่ห์ของพรีเมียร์ลีกก็จะหายไปด้วย โอกาสที่ทีมขนาดกลางจะสร้างปรากฏการณ์แบบเลสเตอร์ ซิตี้ ก็น้อยลง

ท้ายที่สุดแล้ว ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมระหว่าง 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก ข้อสรุปที่ได้กลายเป็นว่าลีกสูงสุดของอังกฤษจะมอบเงินก้อนสนับสนุนให้ทีมในลีกรอง และจะให้ทีมในลีกรองที่ต้องการการช่วยเหลืออีกสามารถกู้เงินแบบไม่คิดดอกเบี้ยอีกก้อนหนึ่งแทนที่ข้อเสนอตามร่าง Project Big Picture

พอจะกล่าวได้ว่า เรื่องนี้สะท้อนภาพ “การเมือง” ว่าด้วยการจัดวางสมดุลทางอำนาจและจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในวงกว้าง ขณะที่ทีมในลีกรองต้องการเงินช่วยเหลือ แต่ทีมที่เหลือในพรีเมียร์ลีกนอกเหนือจาก 9 ทีมที่จะได้สิทธิ์โหวตพิเศษก็ยอมรับไม่ได้กับการให้อำนาจกับทีมใหญ่ไป

เรื่องนี้สามารถมองได้หลากหลายแง่มุม แต่อย่างน้อย แผนการที่ปรากฏขึ้นในช่วงโควิด-19 นี้ถูกมองว่าสะท้อนตัวตนของคนแต่ละกลุ่มในวงการกีฬาได้ แกรี่ เนวิลล์ อดีตนักเตะทีมชาติอังกฤษและอดีตผู้เล่นสโมสรปีศาจแดงแสดงความคิดเห็นว่า เขารู้สึกละอายที่เห็นทีมในพรีเมียร์ลีกถลุงเงินมหาศาลในการเสริมทีมในช่วงตลาดซื้อ-ขายนักเตะเพียงไม่กี่เดือน แต่กลับใช้เวลาถึง 6 เดือนเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือทีมในลีกรอง ด้วยเงินก้อนอันเล็กน้อยหากเทียบกับจำนวนเงินซึ่งทีมในพรีเมียร์ลีกทั้งหมดใช้เสริมทีมรวมกันหลายเท่า

สื่อหลายแห่งยังวิเคราะห์เกี่ยวกับรายละเอียดสอดไส้เกี่ยวกับสิทธิ์อื่นที่ทีมใหญ่ในพรีเมียร์ลีกจะได้มาหากข้อเสนอนี้ผ่านการรับรองด้วย ถึงจะยังไม่มีข้อยืนยันแบบเป็นทางการ แต่สื่อส่วนหนึ่งก็วิจารณ์โดยตั้งประเด็นว่า ตัวตนและใจคอของคนย่อมเผยออกมาชัดเป็นพิเศษในช่วงวิกฤต