ภาพสะท้อนยุคของคนรุ่นใหม่ เมื่อ ‘เบรกแดนซ์’ ถูกบรรจุในโอลิมปิก

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ระหว่างที่ทั่วโลกกำลังปรับตัวรับมือโควิด-19 มหกรรมกีฬาโอลิมปิกมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อมีรายงานยืนยันบรรจุการเต้นที่เรียกกันติดปากว่า “เบรกแดนซ์” เป็นกีฬาชิงเหรียญในโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซี ในยุคใหม่มีนโยบายพยายามทำให้การแข่งขันสอดรับกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเพิ่มบรรยากาศ “ความเป็นเมือง” มากขึ้น ทิศทางนี้จึงนำมาสู่การพิจารณาชนิดกีฬาที่จะแข่งขันกันในมหกรรมด้วย รายงานข่าวล่าสุดในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2020 ยืนยันแล้วว่า ไอโอซีบรรจุกีฬา “breakdancing” ในมหกรรมที่กรุงปารีส

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในโอลิมปิกจะเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า “เบรกกิ้ง” (breaking) ตามคำที่ถูกเรียกในช่วงแรกของวัฒนธรรมที่ก่อตัวขึ้นราวยุค 60-70s ท่ามกลางชุมชนเมืองในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามข้อมูลที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ การเต้นชนิดนี้ก่อตัวเป็นรูปร่างชัดเจนควบคู่กับวัฒนธรรม “ฮิปฮอป” เมื่ออ้างอิงตามข้อมูลนี้ หมายความว่า “กีฬา” ชนิดนี้มีอายุราว 40-50 ปีเท่านั้น

อันที่จริงกิจกรรมการเต้นชนิดนี้เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ถูกใช้ในการประชันกันระหว่างกลุ่มก๊วนวัยรุ่นในเมืองอยู่แล้ว การเต้นชนิดนี้ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในปี 2016 สหพันธ์กีฬาเต้น (ลีลาศ) โลกสนับสนุนไอเดียผลักดันกีฬาเต้นเข้าไปอยู่ในมหกรรมกีฬาระดับโลก เมื่อไอโอซีเห็นว่าการเต้นชนิดนี้เข้ากับคนรุ่นใหม่ เข้าข่ายเป็นกิจกรรมในเมือง และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์น่าสนใจจึงบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬายูธโอลิมปิกที่อาร์เจนตินาเมื่อปี 2018

สื่อต่างประเทศเล่าบรรยากาศการแข่งกีฬา “เบรกแดนซ์” (breakdancing) ในยูธโอลิมปิกว่าได้รับความสนใจจากผู้ชมและผู้เล่นแบบล้นหลาม เสียงตอบรับไม่เป็นรองกีฬาชนิดอื่น ๆ และถึงขั้นแซงหน้าเสียด้วยซ้ำ ขณะที่ฝั่งผู้สมัครเข้าแข่งขันก็มีผู้ส่งหลักฐานเป็นคลิปมาร่วมแข่งเฉียดหลักพันรายจากทั่วโลก แน่นอนว่ากีฬาชนิดนี้ไอโอซีเล็งให้เป็นตัวดึงดูดผู้ชมด้วยการเลือกสนามจัดแข่งที่ตั้งใจกลางเมืองด้วย

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นข่าวดีสำหรับนักกีฬารุ่นใหม่ที่อยู่ในสายกีฬาประเภทเต้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นข่าวไม่ค่อยดีนักสำหรับชนิดกีฬาดั้งเดิมอื่น ๆ เมื่อไอโอซีประกาศตัดการชิงเหรียญในกีฬาที่มีปัญหาภายในองค์กรผู้บริหารจัดการแข่งขันมากที่สุดอย่างมวยและยกน้ำหนัก

สำหรับแฟนกีฬาที่สงสัยว่ารูปแบบกีฬาเต้น “เบรกกิ้ง” ในโอลิมปิกจะแข่งขันกันอย่างไร เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้รูปแบบผู้เข้าแข่งขัน 32 คน เป็นชายและหญิงเท่ากัน แข่งกันแบบตัวต่อตัว “แบตเทิล” ใช้เวลาแข่ง 2 วัน วันแรกแข่งรอบแรก อีกวันแข่งรอบตัดสิน

เกณฑ์การตัดสินในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะคล้ายกับที่เคยใช้ในมหกรรม World Urban Games เมื่อปี 2019 โดยมี 6 เกณฑ์ตัดสินหลัก คือ เทคนิค, ความหลากหลาย, การแสดง, การแสดงประกอบดนตรี, ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

กีฬาชนิดนี้ต่างจากกีฬาเต้นบางชนิด กล่าวคือ นักกีฬาเต้น “เบรกกิ้ง” จะ “แบตเทิล” กับคู่ต่อสู้โดยใช้เพลงที่เลือกกันในสนามนั้นเลย โดยนักกีฬาไม่ได้เป็นผู้เลือกเพลงเอง ขณะที่บรรยากาศการแข่งขันยังคงรักษาวัฒนธรรมเดิม คือ ให้มี “ดีเจ.” และ “ผู้บรรยายเสียง” หรือที่เรียกว่า “MC” มาประจำตำแหน่งท่ามกลางผู้ชมที่ล้อมวงรอบผู้แข่งขัน โดยการเต้นจะประชันกัน 3 รอบสลับกันเต้นไปมา

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามปรับตัวตามยุคสมัยของ “โอลิมปิก” แต่ยังตามมาด้วยคำถามว่า ใช้นิยามชนิดใดคัดแยกกิจกรรมนั้น ๆ ว่าเป็น“กีฬา” ในกรณี “การเต้นเบรกกิ้ง” ก็ถูกตั้งคำถาม บางคนมองว่าเป็น “กิจกรรมทางวัฒนธรรม” รูปแบบหนึ่งเท่านั้น

คำตอบของคำถามข้างต้นส่วนหนึ่งมาจากคนวงการกีฬาสายเต้นเองที่มองว่า การใช้ร่างกายของนักเต้นจะต้องแข็งแรงเป็นพิเศษ ใช้ร่างกายทุกส่วนตั้งแต่หัวจดเท้า พิสูจน์ทักษะการเคลื่อนไหวที่ใช้ทั้งความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่น ผสมกับทักษะการเคลื่อนไหวเพื่อการแสดงในเชิงศิลป์

ด้วยกีฬาชนิดนี้เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ในเมือง เชื่อว่าตัวอย่างนโยบายยุคใหม่ของโอลิมปิกน่าจะบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยและอีกหลายแง่มุมให้ได้เก็บไปคิดกันต่อ ไม่แน่ว่าเด็กที่ซ้อมเต้นอยู่บนท้องถนน แบตเทิลกับคนในชุมชนเล็ก ๆ อาจได้ไปยืนผงาดในเวทีระดับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกก็เป็นได้