ส่องผลวิจัย สมองเสื่อมจากแรงกระแทก หรือฟุตบอลในอนาคตอาจไม่มีการโหม่ง ?

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ต้องยอมรับว่าปี 2020 สำหรับวงการกีฬายังอยู่กับประเด็นเรื่องโรคระบาดไม่ต่างจากแวดวงอื่น ท่ามกลางเรื่องไวรัส อีกหนึ่งประเด็นสุขภาพที่น่าสนใจ ซึ่งถูกหยิบกลับมาพูดถึงอีกครั้ง คือ ประเด็นเรื่องการโหม่งในกีฬาฟุตบอล ภายหลังจากมีรายงานยืนยันว่า เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ตำนานนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติอังกฤษ มีอาการสมองเสื่อม ซึ่งมีบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยว่า เป็นอาการที่สะสมมาจากการโหม่งหรือไม่

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภรรยาของ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน วัย 83 ปี ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลนี้ต่อสาธารณะ โดยหวังว่าจะช่วยผู้ป่วยรายอื่นที่มีอาการนี้เช่นกัน ข่าวนี้เป็นที่รับรู้กันดีในหมู่แฟนบอลปีศาจแดง และในวงการลูกหนังอังกฤษ สื่อตั้งข้อสังเกตว่า แจ๊ค ชาร์ลตัน พี่ชายของเซอร์บ็อบบี้ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกรกฎาคม ก็ต้องรับมือกับอาการนี้เช่นกัน ขณะที่อดีตนักเตะทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลกปี 1966 อีก 3 รายก็มีอาการสมองเสื่อม หรือไม่ก็มีปัญหาเรื่องความจำ

หากรวบรวมข้อมูลสถิติอาการเจ็บป่วยของนักฟุตบอล ไปจนถึงนักรักบี้ (แต่ประเด็นที่พบมักมุ่งโดยเฉพาะกับนักฟุตบอลอังกฤษ) จะพบว่า อดีตนักเตะที่ลงเล่นยาวนานหลายรายมีอาการทางสมองร่วมกันอย่างน่าตกใจ ตั้งแต่อาการสมองเสื่อมจนถึงอัลไซเมอร์ คำถามที่กลับมาถามกันอีกครั้ง คือ การโหม่งลูกบอล หรือการปะทะตรงส่วนศีรษะบ่อยครั้ง มีผลกระทบต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน

คำถามนี้ไม่ใช่คำถามใหม่ ก่อนหน้านี้เคยมีการเรียกร้องให้ศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจัง เพื่อวางระเบียบแนวทางที่จะช่วยรักษาสุขภาพของนักฟุตบอล จนปรากฏข้อถกเถียง และกลุ่มนักวิชาการได้ศึกษาวิจัยกันมาบ้างแล้ว กรณีที่จุดประกายก่อนหน้านี้คือการสอบสวนการเสียชีวิตของ เจฟฟ์ แอสเติล อดีตกองหน้าของเวสต์บรอมวิช อัลเบียน เมื่อปี 2002 ซึ่งเมื่อตรวจสอบสมองอีกครั้งในปี 2014 พบว่าเขาเสียชีวิตจากโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง (Chronic Traumatic Encephalopathy) ซึ่งเดิมทีแล้วมักเชื่อมโยงกับนักมวย ภายหลังจึงพบกับนักกีฬาประเภทอื่น เช่น อเมริกันฟุตบอล

การศึกษาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอน และมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ เมื่อปี 2017 พวกเขาเผยแพร่ผลที่อ้างอิงจากการชันสูตรศพและสมองของอดีตนักฟุตบอล 6 ราย และพบว่า 4 รายมีสัญญาณของโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง

รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศยังเปิดเผยว่า เมื่อปี 2019 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ และสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ ร่วมกันศึกษา โดยมีที่ปรึกษาเป็นนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ พวกเขานำประวัติการแพทย์ของนักกีฬาอาชีพเพศชาย 7,676 ราย ที่ลงแข่งระหว่าง ค.ศ. 1900-1976 เทียบกับข้อมูลประชากรทั่วไป 23,000 ราย การศึกษาพบว่า อดีตนักฟุตบอลมีโอกาสพบอาการสมองเสื่อมมากกว่าคนปกติทั่วไป 3.5 เท่า

ประเด็นซึ่งเป็นที่พูดถึงคือ อาการเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาทอาจไม่ได้มีอาการทันทีทันใด แต่มีบางคนเชื่อว่าเป็นอาการสะสม จากนั้นค่อยปรากฏอาการอย่างช้า ๆ สะสมในระยะยาว และไปปรากฏช่วงบั้นปลายของชีวิต

รายงานจากบีบีซีอธิบายไว้ว่า การโหม่งฟุตบอลส่งผลให้สมอง (ซึ่งลอยตัวในโพรงกะโหลก) เคลื่อนไปกระแทกกับกะโหลกด้านหลัง ทำให้เกิดรอยช้ำ การโหม่งลูกบอลครั้งเดียวแทบไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อร่างกายแบบมีนัยสำคัญ แต่เมื่อผ่านไปในระยะยาว อาจมีแนวโน้มทำให้เกิดผลร้ายได้ อย่างไรก็ตาม การปะทะในกีฬาเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ได้โหม่งลูกบอล กรณีปะทะทางศีรษะอย่างรุนแรงก็อาจเกิดขึ้นได้ อย่าง ไรอัน เมสัน อดีตนักเตะฮัลล์ ซิตี้ ต้องแขวนสตั๊ดเนื่องจากกะโหลกร้าวจากอุบัติเหตุในสนามเมื่อปี 2017

ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงระเบียบว่าด้วยการควบคุมความถี่ของการโหม่งลูกบอลในเด็กได้เริ่มเดินหน้าไปแล้ว ข้อน่ากังวลที่ยังมีอยู่คือ แนวทางการปฏิบัติเฉพาะหน้าเมื่อเกิดเหตุเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ผู้เล่นระดับโลกอย่าง แยน แฟร์ทองเก้น กองหลังของท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ เคยเผยว่า เขายังรู้สึกถึงผลกระทบจากการปะทะนานถึง 9 เดือน หลังพยายามฝืนลงเล่นในเกมต่อเมื่อ 2 ฤดูกาลก่อน

มีเสียงวิจารณ์ว่า ฟุตบอลอังกฤษลงมือปรับตัวและศึกษาเรื่องนี้ช้าไป ส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ฟุตบอลอังกฤษผูกติดกับวัฒนธรรมและสไตล์การเล่นที่นิยมความแข็งแกร่งทางกายภาพ การเข้าปะทะ และลูกชนต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของความกล้าหาญ

แน่นอนว่าหลายฝ่ายยังรอคอยผลการวิจัยที่เชื่อมโยงอาการสมองเสื่อมกับพฤติกรรมการโหม่งลูกบอลได้อย่างชัดเจน ก่อนจะไปถึงวันนั้นมีคำถามที่น่าสนใจว่า หากการโหม่งลูกบอลเป็นสาเหตุต้นตอของโรคจริง การใช้ศีรษะเล่นบอลจะถูกแบนหรือไม่

ไม่มีใครรู้อนาคตได้ สำหรับไรอัน เมสัน เขาเชื่อว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ลูกโหม่งอาจสูญพันธุ์ไปจากเกมลูกหนัง สืบเนื่องมาจากอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวก็เป็นได้

สำหรับวันนี้ มาตรการที่เดินหน้าไปแล้วและเป็นเรื่องสำคัญมากอีกมุม คือ การดูแลเยาวชน อายุเท่าไหร่จึงสามารถใช้ศีรษะเล่นบอลได้ และควรเล่นได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อป้องกันผลกระทบในระยะยาว ล้วนเป็นมาตรการที่จำเป็น แน่นอนว่าคงไม่ใช่เฉพาะสำหรับอังกฤษเท่านั้น ประเทศอื่นอาจต้องพิจารณาไปด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ได้เล่นหนักหน่วงตามแบบฉบับฟุตบอลอังกฤษก็ตาม