เป็นไปได้ไหม ? บอลอังกฤษจะดึงเยอรมันโมเดล บริหารทีมด้วยกฎ 50+1

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ประเด็นเรื่อง “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” โปรเจ็กต์ยักษ์แห่งโลกลูกหนังสร้างกระแสฮือฮาได้ไม่นานก็กลับกลายเป็นถูกแช่แข็งไป เมื่อทีมใหญ่ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีกลับลำถอนตัวอย่างรวดเร็ว ควันหลงของความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อเสนอจัดตั้งรายการใหม่นี้ไม่ได้จางหายไปตามกระแส และดูเหมือนว่าจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมตามมาอย่างน่าสนใจไม่น้อยเลย

เป็นที่รับรู้ว่าไอเดียเรื่อง “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” มีผู้ร่วมก่อตั้งด้วยชุดแรกเป็น 12 สโมสรใหญ่ในยุโรป 12 ทีมที่ว่ามีทีมจากอังกฤษถึง 6 ราย ที่เหลือมาจากสเปนและอิตาลี

แต่เมื่อเกิดกระแสต่อต้านจากแฟนบอลและเหล่าองค์กรที่ดูแลการแข่งขันระดับทวีปและจากองค์กรใหญ่ของโลกลูกหนังอย่างฟีฟ่า กลับเป็นทีมจากอังกฤษที่ถอนตัวก่อนใครเพื่อน

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า ทีมใหญ่จากเยอรมนีมีท่าทีปฏิเสธไอเดียนี้ตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันเมื่อเกิดกระแสต้านตั้ง “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก” กระจายไปในยุโรป ทีมจากอังกฤษล้วนถูกวิจารณ์อย่างหนัก นำมาสู่กระแสที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน โดยแฟนบอลอังกฤษหยิบยกไอเดียนำกฎกติกาว่าด้วยการบริหารงานสโมสรตามโมเดลจากเยอรมนีมาใช้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ผู้บริหารสโมสรเสนอไอเดียแบบนี้ในนามสโมสร ในขณะที่แฟนบอลไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของพวกเจ้าของหรือผู้บริหารสโมสรเกิดขึ้นอีก

โมเดลของกฎกติกาที่แฟนบอล (ในอังกฤษ) มองว่าสามารถเป็นโมเดลตัวอย่างที่ควรค่าพิจารณานำมาประยุกต์ใช้ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษบ้าง ก็คือ โมเดลแบบ “เดเอฟแอล” ที่ดูแลลีกเยอรมนี แวดวงลูกหนังรู้จักกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “กฎ 50+1”

อธิบายโดยคร่าว ๆ ได้ว่า สมาชิกของสโมสร (แฟนบอล) จะต้องถือครองหุ้น (ประเภทที่ทำให้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงตัดสินใจด้านการบริหาร) เป็นสัดส่วนใหญ่ คือ 50% บวกกับอีก 1% หากสโมสรมีนักลงทุนในนามเอกชนถือครองหุ้นเกิน 49% สโมสรจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งในลีกบุนเดสลีกา (กรณีไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น, โวล์ฟสบวร์ก และฮอฟเฟนไฮม์ เข้าเกณฑ์ยกเว้น เจ้าของสโมสรได้รับอนุญาตให้ถือหุ้นส่วนใหญ่ เนื่องจากถือครองนานเกิน 20 ปี ส่วนกรณี แอร์เบ ไลป์ซิก มีข้อแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย)

นั่นหมายความว่า อำนาจตัดสินใจสำคัญต่าง ๆ ยังอยู่ในมือของกลุ่มแฟนบอลตัวจริง ขณะที่กลุ่มผู้ลงทุนเชิงพาณิชย์ที่เข้ามาถือสิทธิสามารถให้คำแนะนำได้ แต่ไอเดียที่มาจากกลุ่มนักลงทุนในสโมสรเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาจากนักลงทุนรายเดียวหรือกี่รายก็ตาม มันจะไม่ถูกขับเคลื่อนต่อ หากปราศจากเสียง (โหวต) หนุนหลังจากแฟนบอล ไม่เพียงเท่านั้น การกระทำต่าง ๆ ของผู้อำนาจบริหารในสโมสรจะไม่ได้เป็นแบบลอยตัว หากทำงานไม่พอใจต่อแฟนบอล พวกเขาอาจตกงานหลังจากเกิดการเรียกประชุมวาระพิเศษในสโมสรก็เป็นได้

แต่สำหรับสโมสรในอังกฤษ สภาพการบริหารงานของสโมสรมักไม่มีแฟนบอลเข้ามามีสิทธิในการตัดสินใจใด ๆ เสียงก่นด่าวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเขาไม่มีผลต่อการบริหารงานของเหล่ากลุ่มทุนที่เข้ามาถือครองและบริหารงานสโมสรตามสิทธิโดยสมบูรณ์ ทั้งที่แวดวงลูกหนังยึดถือกันว่ารากฐานของสโมสรโดยแท้จริงแล้ว คือ แฟนบอล

แต่ใช่ว่าโมเดลของเยอรมนีจะสมบูรณ์แบบ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะโครงสร้างกติกาการบริหารแบบนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มทุนไม่ค่อยสนใจมาลงทุนในสโมสรเยอรมันมากนัก เมื่อเทียบกับพรีเมียร์ลีก อังกฤษ โดยเฉพาะในยุคฟุตบอลท่ามกลางโลกทุนนิยม และแฟนบอลล้วนทราบดีว่าในแง่หนึ่งเงินทุนเป็นกุญแจสำคัญในการไขไปสู่เส้นทางลัดเพื่อคว้าความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

หลายปีมานี้มีความพยายามเปลี่ยนแปลงกฎ 50+1 แต่ก็เจอกระแสต้านจากแฟนบอลในเยอรมนี นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ควันหลงจากประเด็น “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก” ยังคุกรุ่นอยู่ในบรรยากาศของฟุตบอลอังกฤษ เรื่องนี้แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลยังให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากฟุตบอลไม่เพียงเป็นวัฒนธรรมสำคัญ ยังส่งผลถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และอีกหลายด้าน

มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลอังกฤษผลักดันให้เปิดกระบวนการสำหรับกลุ่มแฟนบอลมาวิเคราะห์ทบทวนโครงสร้างระเบียบการบริหารจัดการในลีกฟุตบอลอังกฤษใหม่อย่างเป็นระบบ ครอบคลุมเรื่องการถือครองสโมสร การเงิน และส่วนร่วมของแฟนบอลในสโมสร เมื่อได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะแล้วจะนำไปรายงานต่อรัฐบาลและสมาคมฟุตบอลอังกฤษ

น่าสนใจว่าควันหลงในครั้งนี้จะนำพาลีกอังกฤษไปสู่การบริหารฟุตบอลโฉมใหม่หรือไม่ ปฏิเสธได้ยากว่าโครงสร้างการบริหารสโมสรและกลุ่มทุนผู้ลงทุนกับสโมสร คือปัจจัยสำคัญในความสำเร็จ หรือล้มเหลวของทีม เรื่องนี้ไม่เพียงแค่ครอบคลุมถึงการตัดสินใจสำคัญ ดังเช่นกรณีซูเปอร์ลีก แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการเงิน อย่างเช่น การกำหนดราคาค่าตั๋ว และโมเดลการทำธุรกิจรูปแบบหารายได้ ไปจนถึงเรื่องแนวคิดการบริหารจัดการ


และน่าจับตาอย่างยิ่งว่า หากการขับเคลื่อน “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” ไม่ได้จบลงเพียงแค่โทษสถานเบาต่อสโมสรที่เกี่ยวข้อง เป็นไปได้ไหมว่ามันจะกลายเป็นไฟลามทุ่งสำหรับเหล่าผู้บริหารสโมสร จนนำมาสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ตามที่แฟนบอล (อังกฤษ) เคยเรียกร้องกันหลายปีก่อนจะเกิดเหตุซูเปอร์ลีก