ททท.-ก.ท่องเที่ยวเร่งเมืองรอง ของบ 3พันล้าน หนุนดึงแบงก์ปล่อยกู้รายย่อย

“ททท.-ก.ท่องเที่ยวฯ” เร่งแผนผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรอง-กระจายรายได้ สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจระดับฐานราก “ยุทธศักดิ์” ผู้ว่าการ ททท. เผยเตรียมชงของบประมาณกลางจากรัฐบาล 3.26 พันล้าน ปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานด้านสินค้าการท่องเที่ยว-สิ่งอำนวยความสะดวกนักท่อง เที่ยว รวมทั้งทำแคมเปญการตลาด ด้าน “วีระศักดิ์” รมว.ท่องเที่ยวฯ หันผนึกเอสเอ็มอีแบงก์จัดทำ “โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” หนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคเอกชนขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนและขยายกิจการ รับการเติบโตของเมืองรอง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้มอบนโยบายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เร่งผลักดันการท่องเที่ยวในระดับเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจระดับฐานรากนั้น ขณะนี้ ททท.อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอแผนโครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งห่วง โซ่คุณค่าด้านการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อส่งเสริมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวให้มีความสามารถในการรองรับตลาดตาม นโยบายของรัฐบาล

ชงของบฯกลาง 3.26 พันล้าน

นายยุทธศักดิ์ ระบุว่า ได้วางกรอบของบประมาณกลางจากรัฐบาลไว้ที่ 3,260 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.งบฯจัดสรรลง 55 จังหวัดรอง จังหวัดละ 50 ล้านบาท รวม 2,750 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงด้านปัจจัยพื้นฐานด้านสินค้าการท่องเที่ยวการจัดเตรียมสิ่ง อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวผ่านการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ การพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับมาตรการภาษีท่องเที่ยวเมืองรองของกระทรวงการคลังที่ช่วยกระตุ้น ฝั่งดีมานด์ของนักท่องเที่ยวคนไทย

2.แคมเปญ เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต หรืออะเมซิ่ง ไทยแลนด์ โก โลคอล (Amazing Thailand Go Local) ใช้งบประมาณรวม 410 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายกระตุ้นการใช้จ่ายราว 1 หมื่นล้านบาทในเมืองรอง 55 จังหวัด และ 3.โครงการทัวริสซึ่ม บิ๊ก ดาต้า ใช้งบประมาณ100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบไอทีในการจัดเก็บข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านการตลาดต่อไป

“ททท.ต้องการให้โครงการเหล่า นี้ช่วยผลักดันการกระจายรายได้ไปสู่เมืองรองและชุมชน สอดรับกับแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเกษตรเป็นหลัก เมื่อมีการประกาศนโยบายท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งดีมานด์และซัพพลาย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางเข้าไป” นายยุทธศักดิ์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ททท.ยังคงเป็นห่วงอยู่คือ เรื่องของศักยภาพการรองรับที่มีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและวิถีของชุมชน ทำให้ ททท.ต้องเร่งเตรียมความพร้อมในจุดนี้ เพื่อเห็นผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว

ทำแผนพัฒนาท่องเที่ยว จว.

พร้อมกันนี้ ททท.เตรียมประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานระดับจังหวัด เพื่อออกแบบแผนพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันให้เข้ากับจุดแข็งและจุดอ่อน และตรงกับความต้องการของแต่ละจังหวัด เช่น หากจังหวัดใดการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน การให้ข้อมูลเดินทางแก่นักท่องเที่ยว การอบรมพัฒนาบุคลากร หรือบางจังหวัดอาจต้องการจัดอีเวนต์เป็นเครื่องมือสร้างการรับรู้และช่วย กระตุ้นตลาด ในกรณีที่จังหวัดนั้น ๆ ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่น เพื่อทำให้จังหวัดดังกล่าวมีเสน่ห์มากขึ้น

นายยุทธศักดิ์กล่าวย้ำ ด้วยว่า ทั้ง 3 โครงการของ ททท.จะไม่ซ้ำซ้อนกับงบฯพัฒนาจังหวัดที่ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางโครงสร้าง พื้นฐาน เพราะโครงการของ ททท.จะไม่เน้นสิ่งปลูกสร้าง แต่จะมุ่งทำให้ชาวบ้านเรียนรู้วิธีสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน และสามารถบริหารจัดการด้านท่องเที่ยวของชุมชนให้พร้อม และอาจเป็นจุดที่งบฯพัฒนาจังหวัดยังเข้าไปเสริมน้อย

ให้สินเชื่อยกระดับชุมชน

เช่นเดียวกับในฟากของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่เดินหน้าสานต่อนโยบาย รัฐบาลอย่างเร่งด่วน โดยนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้จัดเวทีหารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และผู้ประกอบการภาคเอกชน จัดทำ โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคเอกชนขอสินเชื่อเพื่อการ ลงทุนและขยายกิจการ ตามนโยบายรัฐบาลในการซ่อม สร้าง พัฒนา และกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง โดยมองว่า นอกเหนือจากการลงทุนจากภาครัฐแล้ว ยังต้องอาศัยการลงทุนจากภาคเอกชนด้วย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และนำมาซึ่งความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในภาพรวมและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และเกษตรแปรรูป (อาหารและไม่ใช่อาหาร) ซึ่งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนตามนโยบาย Local Economy ของรัฐบาล

วงเงินทั้งโครงการ 5 หมื่น ล.

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเปิดให้บริการถึง 18 ธันวาคม 2561 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อรวมของโครงการที่วางไว้ 50,000 ล้านบาท แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน โดยผู้ประกอบ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ดำเนินธุรกิจเกษตรแปรรูป (food/nonfood) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) วงเงิน 20,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการใหม่หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจผลิต หรือบริการอื่น ๆ วงเงิน 10,000 ล้านบาท

2.กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อโครงการที่มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้เอสเอ็มอีแบงก์ดำเนินการ ประกอบด้วยโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan

3.เป็นการ ให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (refinance) มาจากสถาบันการเงินอื่น และ 4.เป็นผู้ประกอบการ SMEs มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ลงทุน ขยาย และปรับปรุงกิจการ

“วงเงินสิน เชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยบุคคลธรรมดา วงเงินสูงสุดไม่เกิน 2.0 ล้านบาท ส่วนบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และนิติบุคคล วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อรวมวงเงินสินเชื่อเดิมทุกประเภทที่มีอยู่กับเอสเอ็มอีแบงก์ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 15.0 ล้านบาท และโครงการนี้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมรายย่อย (บสย.) จะเข้ามาร่วมค้ำประกันสินเชื่อให้ด้วย” นายวีระศักดิ์กล่าว