เร่งประมูล”ดิวตี้ฟรี”สุวรรณภูมิ คาดรู้ผลสิ้นปี-พร้อมบริหารสนามบินทย.

เตรียมเปิดประมูล - ทอท. ผู้บริหารสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เตรียมความพร้อมสำหรับเปิดประมูลคัดเลือกบริษัทเอกชนรายใหม่ที่จะเข้ามาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือพื้นที่ร้านค้าดิวตี้ฟรี ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อทดแทนกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ที่จะหมดสัญญาลงในเดือนกันยายน 2563

ทอท. เร่งสรุปทีโออาร์ประมูล “พื้นที่เชิงพาณิชย์-ดิวตี้ฟรี” สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนสัญญากับ “คิง เพาเวอร์” จะหมดลงในช่วงปลายปี”63 ตั้งเป้าได้บริษัทรับสัมปทานใหม่ภายในสิ้นปีนี้ เผื่อเวลา 2 ปีให้ผู้ชนะประมูลมีเวลาติดต่อแบรนด์เนมระดับโลกมาลง-รีโนเวตพื้นที่ใหม่ทั้งหมด ยันมีความพร้อมเต็มที่ในการเข้าบริหารสนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยานทุกรูปแบบ หวังกระจายนักท่องเที่ยวบินตรงสู่ภูมิภาค ลดปริมาณการจราจรทางอากาศเข้าดอนเมือง-สุวรรณภูมิ คาดปีนี้ปริมาณผู้โดยสารทั้ง 6 สนามบินในความดูแลยังขยายตัวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10%

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท. ได้เร่งกำหนดกรอบและรายละเอียดของทีโออาร์สำหรับการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อทดแทนบริษัท คิงเพาเวอร์ ที่จะหมดอายุสัญญาลงในสิ้นเดือนกันยายน 2563 นี้

มั่นใจได้ผู้รับสัมปทานใหม่สิ้นปีนี้

โดยคาดว่าจะสามารถสรุปและเปิดให้เอกชนที่สนใจได้เสนอตัวเข้ามาร่วมประมูลในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปและคัดเลือกบริษัทที่ชนะการประมูลภายในเดือนกันยายนนี้ หรือหากล่าช้าสุดก็ไม่เกินสิ้นปีนี้แน่นอน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมีเวลาอย่างน้อย 2 ปีในการวางแผนธุรกิจ ติดต่อประสานงานกับแบรนด์ระดับโลกให้เข้ามาเปิด รวมถึงรีโนเวต ปรับปรุงร้านค้าภายในพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นรูปโฉมใหม่ทั้งหมดได้ทันก่อนที่สัญญาเดิมจะสิ้นสุดลง

“ในสัญญาเดิมที่กลุ่มคิง เพาเวอร์บริหารอยู่นั้นมีพื้นที่เชิงพาณิชย์รวมประมาณ 20,000 ตารางเมตร แต่สำหรับการประมูลรอบใหม่นี้เราจะรวมพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารแซทเทลไลท์ของโครงการพัฒนาสุวรรณภูมิ เฟส 2 ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2562 อีกกว่า 10,000 ตารางเมตร” นายนิตินัยกล่าว และว่า สำหรับพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบิน หรือ Pick up Counter นั้นอาจต้องรวมอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะเปิดประมูลด้วย แต่จะเพิ่มเงื่อนไขว่าผู้ชนะการประมูลต้องให้รายอื่นสามารถมาใช้บริการได้ด้วย

พร้อมบริหารสนามบิน ทย.

นายนิตินัยยังกล่าวถึงความพร้อมในการเข้าไปพัฒนาสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ด้วยว่า ทอท.มีความพร้อมในการเข้าไปบริหารในทุกรูปแบบ ซึ่งทาง ทอท.ได้นำเสนอเข้าบริหารในรูปแบบคลัสเตอร์ไปยังกระทรวงคมนาคมไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา โดยครั้งนั้นทาง ทอท.เสนอตัวบริหารสนามบินของ ทย.จำนวน 15 แห่ง

“ล่าสุดนี้ทางกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อศึกษาแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง ดังนั้น ทอท.เองก็ต้องรอดูว่าแผนดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับแนวทางการนำเสนอของ ทอท.หรือไม่ ทำให้เวลานี้ทาง ทอท.ไม่สามารถตอบได้ว่า ทอท.จะได้เข้าไปบริหารสนามบินในจังหวัดไดบ้าง” นายนิตินัยกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวนี้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้รับปากว่าจะรีบหาข้อสรุปให้ได้ภายใน 3-6 เดือนนี้

กระจายสล็อตการบินสู่ ตจว.

นายนิตินัยกล่าวต่อไปอีกว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมาสนามบินทั้ง 6 แห่งภายใต้การบริหารของ ทอท.นั้นมีปริมาณผู้โดยสารรวมที่ประมาณ 130 ล้านคน ขณะที่ศักยภาพในการรองรับ (capacity) นั้นรองรับได้เพียง 100 ล้านคน ดังนั้น จำนวนผู้โดยสารในปีที่ผ่านมามีปริมาณที่มากกว่าศักยภาพในการรองรับ (over capacity) ที่ประมาณ 30%

ขณะที่ตามแผนการลงทุนมูลค่า 2.2 แสนล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี (2559-2568) พร้อมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพในการรองรับของทั้ง 6 สนามบินหลักให้เป็น 184 ล้านคนนั้นส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จในปี 2567-2568 มีเพียงแค่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้นที่คาดว่าสุวรรณภูมิเฟส 2 นั้นจะสามารถใช้งานได้ในช่วงประมาณปี 2564-2565

“จากแผนดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ทอท.ไม่สามารถขยายศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสารของสนามบินทั้ง 6 แห่งได้สอดรับกับการขยายตัวของปริมาณผู้โดยสารแน่นอน ทำให้ท่านรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมกังวลว่าระหว่างปีนี้ไปจนถึงปี 2565 นั้น ทอท.จะบริหารจัดการสนามบินอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาความแออัด และให้มีศักยภาพในการรองรับได้ดียิ่งขึ้น” นายนิตินัยกล่าว และว่า ในส่วนของ ทอท.นั้นได้ทำการเก็บข้อมูลเชิงสถิติแล้วว่าที่ผ่านมามีผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปต่างจังหวัดแต่ต้องมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนแล้วค่อยต่อเครื่องภายในประเทศไปยังจังหวัดจุดหมายปลายทางไหน ในปริมาณที่มากน้อยแค่ไหน เพื่อบริหารจัดการให้มีสายการบินบินตรงจากต่างประเทศมุ่งหน้าไปยังเมืองจุดหมายปลายทางนั้น ๆ เลย โดยไม่ต้องเสียเวลามาต่อเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้จะเป็นการลดช่วยปริมาณผู้โดยสารที่จะผ่านเข้าออกสนามบินหลักทั้ง 2 แห่งในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังสามารถช่วยบริหารปริมาณการจราจรทางอากาศไม่ให้มาแออัดที่สุวรรณภูมิและดอนเมืองได้อีกด้วย

คาดปีนี้ผู้โดยสารยังโตอีก 10%

นายนิตินัยยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับผลประกอบการในปี 2561 นี้คาดว่าในภาพรวมของปริมาณผู้โดยสารทั้ง 6 แห่งของสนามบินในความดูแลของ ทอท. น่าจะยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ราว 9-10% โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา (ตุลาคม-ธันวาคม 2560) พบว่ามีปริมาณผู้โดยสารขยายตัวอยู่ในอัตราที่ราว 13-14% ทั้งนี้ เป็นผลจากในปีที่ผ่านมามีตัวเลขที่ต่ำ และยังดีต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 (มกราคม-มีนาคม 2561) ทำให้คาดว่าในครึ่งแรกของปีงบประมาณนี้ จำนวนผู้โดยสารของ ทอท. จะขยายตัวอยู่ที่ราว 12%

ส่วนครึ่งปีหลังของปีงบประมาณนั้นในปีที่ผ่านมาฐานตัวเลขค่อนข้างสูงทำให้คาดว่าอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนัก ทำให้คาดว่าตัวเลขการขยายตัวตลอดทั้งปีของปีงบประมาณ 2561 นี้น่าจะได้ที่ราว 9-10% แน่นอน