“ไพรินทร์” สั่ง “การบินไทย” เร่งทำแผนฟื้นฟูองค์กรฉบับใหม่ ย้ำความชัดเจนของแผนต้องเห็นกำไร-ความยั่งยืน ไม่ใช่แค่ “ไม่ขาดทุน” พร้อมให้ศึกษาโมเดลธุรกิจโลว์คอสต์แอร์ไลน์ หวังดึงจุดเด่นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนมาปรับใช้ แต่ยังคงภาพลักษณ์ความเป็นสายการบินพรีเมี่ยมฟูลเซอร์วิส
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2561 ที่ผ่านมาว่า ได้แนะนำให้การบินไทยจัดทำแผนฟื้นฟูองค์กรฉบับใหม่ให้เห็นภาพและเป้าหมายสุดท้ายขององค์กรที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการทำกำไรและแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เนื่องจากแผนฟื้นฟูฉบับเก่านั้นพูดถึงเพียงแค่คำว่าทำอย่างไรไม่ให้ธุรกิจขาดทุน แต่ธุรกิจควรมีมากกว่าคำว่าไม่ขาดทุน โดยตนจะเข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุงแผนฟื้นฟูของการบินไทยไปเรื่อย ๆ ให้สามารถดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่าการบินไทยจะใช้เวลาไม่นานในการฟื้นฟู
“การบินไทยเป็นองค์การใหญ่ทำให้การปรับตัวอาจจะต้องใช้เวลา โดยมองว่าประเด็นหลักที่การบินไทยต้องโฟกัสคือแผนการลดรายจ่าย อย่างเรื่องทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทน เช่น เครื่องบินเก่าที่รอการขายต่อ อาจจะใช้นโยบายที่เข้มงวดในทางบัญชี ทำการด้อยค่าเครื่องบินที่รอขายไปก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบดุล และสร้างผลประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นของการบินไทย”
นอกจากนี้ ยังได้แนะนำให้การบินไทยไปศึกษาโมเดลธุรกิจของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ว่ามีระบบบริหารจัดการอย่างไร จึงสามารถขายได้ถูกแต่ยังคงมีกำไร เพื่อนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินงานด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุดซึ่งเป็นจุดดีของสายการบินโลว์คอสต์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินพรีเมี่ยมที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (ฟูลเซอร์วิส) แต่ยังรักษาความเป็นสายการบินฟูลเซอร์วิสที่รองรับจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมใช้กลยุทธ์การเปรียบเทียบ (benchmarking) กับสายการบินคู่แข่งตามกลุ่มชั้นที่การบินไทยทำการบินร่วม เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ส และสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบในการทำธุรกิจด้วย
ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า สำหรับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อยู่ในระดับ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีรายได้เป็นสกุลเงินยูโรกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ก็มีการจ่ายหนี้ด้วยสกุลเงินยูโรอยู่ดี จึงไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน ทำให้มองว่าผลกระทบระดับ 1,000 ล้านบาทดังกล่าว ถือว่ามีผลกระทบเล็กน้อยเพียง 0.5% ของรายได้บริษัท ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี
ขณะที่การด้อยค่าสินทรัพย์ในปัจจุบันเป็นการด้อยค่าเครื่องบินเก่าที่รอขายอยู่จำนวน 23 ลำ มีการลงบันทึกด้อยค่าอยู่แล้ว 1.8-2 พันล้านบาทต่อปี
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์