AAAเพิ่มทุนรับพันธมิตร จ่อเปิด5รูตบินใหม่เสริม

ภาพจากเว็บไซต์ www.asiaatlanticairlines.com/th/

“เอเชีย แอตแลนติก แอร์ไลน์ส” ลุยเพิ่มทุนหลังได้พันธมิตรเอเย่นต์ทัวร์จีนเสริมแกร่ง รุกเปิด 4-5 เส้นทางบินใหม่ขนนักท่องเที่ยวแดนมังกรมาไทย ด้าน “กพท.” คาด “FAA” ยกระดับมาตรฐานการบินของไทยเป็น category 1 กลางปีนี้แน่นอน ฟาก “กบร.” เตรียมประชุมกำหนดกรอบเพดานตั๋วโลว์คอสต์เส้นทางในประเทศวันที่ 26 มกราคมนี้

นายชาย คล่องอักขระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินเอเชีย แอตแลนติก แอร์ไลน์ส (AAA) เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 มกราคม 2561 นี้ บริษัทจะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นใหม่อีก 2 ราย คือ เอเย่นต์ทัวร์จากเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน ซึ่งมีตลาดลูกค้าชาวจีนในมืออยู่แล้ว และเอเย่นต์ทัวร์ในไทยรายหนึ่งที่สนใจมาร่วมลงทุนด้วย ขณะที่อีกส่วนเป็นการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม จากปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 260 ล้านบาท

ชาย คล่องอักขระ

โดยแผนการเพิ่มทุนดังกล่าวนี้เพื่อนำไปเช่าเครื่องบินเพิ่มอีก 3 ลำ ซึ่งอาจเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 767-300ER หรือแอร์บัส A330-200 ความจุประมาณ 330 ที่นั่ง ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากปัจจุบันมีฝูงบินรวม 2 ลำ คือ โบอิ้ง 767-300ER ความจุประมาณ 152-162 ที่นั่ง เมื่อมีฝูงบินรวม 5 ลำในปีนี้ คาดว่าจะช่วยรายได้ให้เติบโตได้ดีขึ้น จากการนำไปเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ สู่จีน ขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นชาติที่มาเที่ยวไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งเป็นตลาดที่ให้ส่วนต่างกำไรที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับตลาดเส้นทางบินไปญี่ปุ่นที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ AAA ปัจจุบัน (อัพเดตเมื่อเดือนมิถุนายน 2560) คือ แอโรแลนซ์ 59%, บริษัท เอช.ไอ.เอส. ทัวร์ จำกัด (บริษัทในไทย) 28%, นายพันธ์เลิศ ใบหยก ประธานกรรมการเครือใบหยก 12%, บริษัท เอช.ไอ.เอส. จำกัด (บริษัทในญี่ปุ่น) 1% และบริษัท สกายครูซเซอร์ โฮลดิ้ง 0.02%

นายชายยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทเพิ่งได้รับมอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา และเปิดให้บริการเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ซัปโปโร (สนามบินชินชิโตเสะ) เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ราคาตั๋วปัจจุบันไป-กลับอยู่ที่ 1.2-1.6 หมื่นบาท ปัจจุบันเปิดให้บริการเป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารที่ดีประมาณ 80-90% และอยู่ระหว่างขอเปิดเป็นเส้นทางบินประจำในเส้นทางดังกล่าว รวมถึงเส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว (สนามบินนาริตะ)

ส่วนเส้นทางบินไปจีน บริษัทตั้งเป้าเปิดให้บริการเส้นทางที่เคยบิน ได้แก่ กรุงเทพฯ-เสิ่นหยาง และภูเก็ต-เสิ่นหยาง ในวันที่ 27 มกราคมนี้ โดยทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC) ต้องการให้ทำการบินเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน เมื่อทาง CAAC ให้ผ่านมาตรฐาน จึงจะอนุมัติให้บริษัทเปิดเส้นทางบินใหม่เพิ่มได้อีก 4-5 เส้นทางบินสู่ประเทศจีน อาทิ เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปฉงชิ่ง, อู่ฮั่น, ออโดส อิจิน และโฮฮอท นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดเส้นทางบินไปเกาหลีใต้ ส่วนอีกเส้นทางที่ดีอย่าง ไทเป ไต้หวัน บริษัทอยู่ระหว่างวิจัยการตลาดเพื่อบินเชื่อมกรุงเทพฯ-ไทเป-ซัปโปโร

“โจทย์ของบริษัทในปีนี้ คือ ต้องหยุดขาดทุนให้ได้ หลังจากหยุดบินไปนาน 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา คาดรายได้ปีนี้เติบโต 10-20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่จำนวนผู้โดยสารคาดเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งเคยได้ถึง 2 แสนคน”

นายชายกล่าวและว่า นอกจากนี้ยังเตรียมปรับปรุงแผนประชาสัมพันธ์สายการบิน AAA ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงระบบออนไลน์บุ๊กกิ้ง ซึ่งทำไปได้กว่า 90% แล้ว และยังได้ปรับฐานเงินเดือนนักบินสูงขึ้นกว่า 20% เพื่อดึงดูดคนให้สนใจมาสมัครเป็นนักบินมากขึ้นด้วย

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กพท.จะยื่นขอให้สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) เข้ามาตรวจสอบการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย จากที่ FAA ได้ปรับลดระดับความปลอดภัยด้านการบินไทยลงจาก category 1 มาที่ระดับ category 2 ในเดือนมีนาคมนี้ โดยเปลี่ยนแผนที่จะไม่ต้องให้ FAA เข้ามา preaudit ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“หลังจาก FAA เข้าตรวจ คาดว่าจะประกาศผลในอีก 2 เดือน หากผ่าน FAA จะปรับระดับของไทยเป็น category 1 ก็จะสามารถบินเข้าสหรัฐได้ ทั้งนี้ การบินไทยซึ่งเคยทำการบินเส้นทางสหรัฐ และเคยหยุดบินไป หากจะกลับมาบินก็จะง่ายขึ้น” นายชายกล่าว

นอกจากนี้ ในวันที่ 26 มกราคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เพื่อพิจารณากำหนดกรอบเพดานค่าโดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) เส้นทางบินภายในประเทศ โดยจะกำหนดเพดานเก็บไม่เกิน 9.40 บาท/กิโลเมตร และหลังจากนั้นจะประกาศเป็นกฎกระทรวง คาดใช้เวลา 30 วัน ถือเป็นการกำหนดราคาเพดานของสายการบินโลว์คอสต์เป็นครั้งแรก ขณะที่ปัจจุบันมีกำหนดเพดานของสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ (ฟูลเซอร์วิส) ที่กำหนดเพดานไว้ที่ 13 บาท/กิโลเมตร

“ปัจจุบันสายการบินโลว์คอสต์อย่างไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ และไทยไลอ้อนแอร์ มีราคาขายเฉลี่ย 5 บาท/กิโลเมตร ซึ่งเป็นราคาค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แต่การกำหนดให้ชัดเจน และหากผู้โดยสารรายใดซื้อหน้าเคาน์เตอร์ก่อนขึ้นเครื่อง ราคาตั๋วจะสูงมาก หากมีเกณฑ์นี้จะช่วยได้” นายจุฬากล่าว

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์