คนแห่เที่ยว”เมืองน่าน”ดันเที่ยวบินโตต่อเนื่อง-ทัวร์ศูนย์เหรียญ-สภาพศก.กระทบห้วงอากาศภาพรวมหดตัว2%

นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมหอบังคับการบินน่านว่าการให้บริการเที่ยวบินที่สนามบินน่านนครปัจจุบันมี 2 สายการบิน คือ ไทยแอร์เอเชีย และนกแอร์ โดยมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติในเดือน ม.ค.2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 12 เที่ยวต่อวัน ล่าสุดเดือน ม.ค. 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 18 เที่ยวบินต่อวัน

ส่วนในช่วงเทศกาลจะมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจากปกติเล็กน้อย ทั้งนี้อัตราการเติบโตของสนามบินน่านหากวัดจากเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูง เพราะที่ผ่านมาฐานเที่ยวบินยังต่ำ ซึ่งในอนาคตจังหวัดน่านมีโอกาสที่จะโตอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะผลักดันเมืองรองให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมา บวท.ก็จะมีการยกระดับการให้บริการเพื่อให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

“น่านถือเป็นจังหวัดเมืองรองชั้นเอก ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และทัศนียภาพที่สวยงาม มีชื่อเสียงระดับโลกเรื่องของความปลอดภัย จะดึงดูดนักท่องเที่ยว”

สำหรับมาตรการความปลอดภัยที่ต้องเร่งยกระดับ คือ เรื่องของการรบกวนของคลื่นความถี่วิทยุชุมชน การจุดบั้งไฟ การปล่อยโคมลอย ซึ่งมีบางส่วนที่ดำเนินการแบบไม่แจ้งมาทาง บวท. สามารถดำเนินการได้ในช่วงเทศกาลแต่จะต้องมีการแจ้งเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนและก่อให้เกิดอันตรายต่อการบินได้ จะมีการตั้งชุดทำงานขึ้นมาดูโดยเฉพาะ

นางสาริณียังกล่าวถึงภาพรวมปริมาณการจราจรทางอากาศปี 2561-2562 คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 6-7% จากเปีที่ผ่านมาโต 5% ต่ำจากคาดการณ์ไว้ที่คาดน่าจะโตถึง 8-10% เนื่องจากทัวร์ศูนย์เหรียญ สภาพของเศรษฐกิจโลก และในประเทศไทยที่ยังชะลอตัว

“เรามีรายได้ปี 2560 อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท มีรายจ่าย 1 หมื่นล้านบาท และมีรายได้ค่าบริการเกิน 2 พันล้านบาท ปีนี้จะคืนให้ผู้ประกอบการสายการบิน 20% เพื่อเป็นส่วนลดให้ อีก 80% จะเก็บไว้ลงทุนและชำระหนี้ ปีนี้จะมีการลงทุนโครงการต่อเนื่อง 8,000 ล้านบาท แต่เฉพาะปีนี้อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนแม่บทบริหารจัดการห้วงอากาศ เพื่อให้รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่คล่องตัวและยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ เพราะต้องเตรียมความพร้อมรองรับเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น 3 ล้านเที่ยวบินในอีก 20 ปีข้างหน้า