โจทย์ใหม่ “ไทยไลอ้อนแอร์” มุ่งก้าวสู่ “จุดคุ้มทุน-มีกำไร”

สัมภาษณ์

 

เปิดฉากปี 2561 ด้วยความคึกคักของสายการบินต่าง ๆ ที่ต่างกางแผนกลยุทธ์การเปิดเส้นทางใหม่และเพิ่มเที่ยวบินสู่พื้นที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ “อัศวิน ยังกีรติวร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด ผู้ให้บริการสายการบิน “ไทยไลอ้อนแอร์” ถึงแนวทางการบริหารจัดการ ทิศทางการขยายธุรกิจ รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศไว้ดังนี้

“อัศวิน” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ด้วยการประกาศเป้าหมายว่า ในปี 2561 นี้ “ไทยไลอ้อนแอร์” จะต้องก้าวสู่ “จุดคุ้มทุน” ได้ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะถึงจุดคุ้มทุนในปีที่ผ่านมา แต่สุดท้ายแล้วปีที่ผ่านมาก็ยังคงขาดทุนต่อเนื่องอยู่

ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ “ไทยไลอ้อนแอร์” ได้รับมอบเครื่องบินแอร์บัส A330-300 ขนาด 392 ที่นั่ง เข้ามาประจำฝูงบินเพิ่มอีก 3 ลำในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เพราะทุกอย่างที่นำมาใช้เป็นของใหม่หมด และมีการลงในบัญชีรายจ่ายไปในปีที่แล้ว แต่ฝูงบินใหม่ทั้ง 3 ลำดังกล่าวนี้จะหนุนให้เกิดรายได้ที่ชัดเจนในปีนี้

เปิดเส้นทางใหม่สู่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

โดยวางเป้าหมายรุกขยายตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น หลังจากขยายตลาดเส้นทางบินในประเทศได้ดีแล้ว พร้อมวางเป้าหมายการเติบโตด้านผู้โดยสารไว้ที่ 13-15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านคนในปีที่ผ่านมา

ขณะนี้ได้เตรียมนำเปิดบินในเส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่จุดหมายใหม่ใน 2 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือ “ญี่ปุ่น” และ “เกาหลีใต้” หลังจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปลดธงแดงจากหน้าชื่อประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางใหม่นี้อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตทำการบิน

อัศวิน ยังกีรติวร

“อัศวิน” บอกว่า สำหรับเส้นทางสู่ญี่ปุ่นนั้นได้เตรียมเปิด 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-โตเกียว (สนามบินนาริตะ) และ กรุงเทพฯ-ฟุกุโอกะ โดยคาดว่าจะเปิดขายตั๋วล่วงหน้าได้ประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ และสามารถเริ่มทำการบินได้ราวไตรมาส 2-3 ของปีนี้ ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นสร้างฐานลูกค้าคนไทยเป็นตลาดหลัก

ส่วนเส้นทางไปเกาหลีใต้ก็เตรียมเปิด 2 เส้นทางเช่นกัน คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-โซล (สนามบินอินชอน) คาดว่าจะเริ่มทำการบินในไตรมาส 3-4 นี้ และเส้นทางกรุงเทพฯ-ปูซาน น่าจะเปิดทำการบินได้ในช่วงปลายปี

“เรามีแผนรับมอบเพิ่มในปีนี้รวม 4 ลำมาเริ่มบินก่อน ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้ไทยไลอ้อนแอร์จะมีฝูงบินรวม 35 ลำ และค่อย ๆ พัฒนาขนาดตลาดเป็น A330-300 ต่อไป”

เดินหน้าปูพรมตลาดจีน-อินเดีย

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอขั้นตอนการอนุมัติเปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นี้ “ไทยไลอ้อนแอร์” ได้นำเครื่องบินแอร์บัส A330-300 ไปทำตลาดบินเส้นทางสู่ประเทศจีนแล้ว 3 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้, กรุงเทพฯ-หนานซา และภูเก็ต-หนานจิง และอีก 2 เส้นทางบินใหม่ที่จะเริ่มทำการบินในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ-เทียนจิน และภูเก็ต-เทียนจิน

สำหรับเส้นทางสู่ประเทศจีนนั้น “อัศวิน” บอกว่า ปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์ให้บริการแล้วจำนวน 18 จุดบิน จากจำนวนเส้นทางต่างประเทศทั้งหมดรวม 24 จุดบิน โดยอีก 6 จุดบินที่เหลือคือ สิงคโปร์ ฮานอย มุมไบ ไทเป ย่างกุ้ง และเดนปาซาร์ (บาหลี) ส่งผลให้เส้นทางบินไปจีนสร้างรายได้ในสัดส่วนที่มากถึง 40% ของรายได้ทั้งหมด

นอกจากเส้นทางบินใหม่ไปจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้แล้ว “อัศวิน” ยังบอกด้วยว่า ได้เตรียมเปิดเส้นทางใหม่สู่ประเทศอินเดีย คือ กรุงเทพฯ-โคชิ วันละ 1 เที่ยวบิน ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานการบินพลเรือนของประเทศไทย (กพท.) และกรมการบินพลเรือนของอินเดียอยู่ระหว่างการเจรจาขยายสิทธิการบินระหว่างไทยกับอินเดีย

นอกจากนี้ยังได้เตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ จาก 2 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน ในไตรมาส 2 นี้อีกด้วย เนื่องจากได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้โดยสาร โดยมีโหลดแฟกเตอร์กว่า 90% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งนิยมมาเที่ยวไทย และเดินทางเชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์และมาเลเซีย

ขณะที่เส้นทางระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เปิดทำการบินอยู่แล้วนั้น ปัจจุบันภาพรวมโหลดแฟกเตอร์เฉลี่ยอยู่ที่ 80-85%

“แม้หลาย ๆ เส้นทางจะมีผลการดำเนินงานที่ดี แต่ไทยไลอ้อนแอร์ก็ต้องเจอสถานการณ์ปิดเส้นทางบินไปบ้างเช่นกัน เช่น กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ ซึ่งเคยทดลองตลาดเปิดราว 1 ปี เพราะการแข่งขันสูงมาก แต่ยังเหลือเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮานอยไว้”

เป้าหมายใหม่ต้องมี “กำไร”

สำหรับเส้นทางบินในประเทศนั้นพบว่า “ไทยไลอ้อนแอร์” ได้รับการตอบรับจากผู้โดยสารดีมาก สามารถทำรายได้ที่ดี ปัจจุบันครองสัดส่วนราว 60% ของรายได้ทั้งหมด โดยกลยุทธ์ในปีนี้ก็จะเน้นเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางที่ยังมีความถี่ไม่มาก และเพิ่มโหลดแฟกเตอร์ให้สูงขึ้นอยู่ในระดับ 90% เพิ่มขึ้นจากอัตราประมาณ 89% ในปีที่ผ่านมา “อัศวิน” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันตลาดเส้นทางบินในประเทศ มีผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์หลักอยู่ 3 ราย ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยไลอ้อนแอร์ และนกแอร์ ซึ่งแต่ละรายมีส่วนแบ่งการตลาดใกล้เคียงกันที่ระดับ 30% และในแต่ละเส้นทางก็ผลัดกันเป็นผู้นำตลาด

โดยเส้นทางที่ไทยไลอ้อนแอร์มีส่วนแบ่งตลาดนำเป็นอันดับ 1 อย่างชัดเจนนั้นมี 5 เส้นทาง จาก 12 เส้นทาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นทางบินสู่ภาคเหนือและอีสาน ทั้งนี้ ยอมรับว่าคู่แข่งอย่างไทยแอร์เอเชียสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินในประเทศมากเป็นอันดับ 1 ด้วยขนาดฝูงบินและความถี่เที่ยวบินสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก

ดังนั้นเป้าหมายการดำเนินงานของ “ไทยไลอ้อนแอร์” สำหรับปีนี้จะไม่ได้เน้นว่าต้องเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 แต่จะเน้นว่าทำอย่างไรให้สายการบินมีกำไรมากที่สุดและเร็วที่สุด

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์