“ไทยไฟท์” เร่งต่อยอดแบรนด์ ผุด โรงแรม-ปั้นธุรกิจใหม่ดันเข้าตลาดหลักทรัพย์

นพพร วาทิน
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

กว่า 10 ปีที่ “ไทยไฟท์” จัดอีเวนต์ชกมวยมาอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้แบรนด์แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักของทั่วโลก แม้แต่ในปีที่ทั่วโลกเจอกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ไทยไฟท์ก็ได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถจัดการแข่งขันชกมวยตามแผน แต่สามารถรักษาตัวเลข “กำไร” ของบริษัทไว้ได้เหมือนเดิม

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “นพพร วาทิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด ถึงแนวคิดในการบริหารจัดการและต่อยอดแบรนด์ “ไทยไฟท์” เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก รวมถึงแผนการขยายธุรกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้าไว้ดังนี้

เร่งปั้นธุรกิจใหม่

“นพพร” บอกว่าแบรนด์ “ไทยไฟท์” เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 จากการจัดอีเวนต์ชกมวยไทย หัวใจหลักของธุรกิจไม่ใช่การจัดการแข่งขันชกมวย แต่เป็นการสร้างแบรนด์ โดยใช้ศิลปะมวยไทยซึ่งเป็น Soft Power แขนงหนึ่งของประเทศไทยเผยแพร่ไปยังทั่วโลก โดยใช้อีเวนต์ “ชกมวย” มาเป็นเครื่องมือสื่อสารให้แบรนด์เข้าถึงคนทั่วโลก

โดยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไทยไฟท์เดินทางจัดอีเวนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว 20-30 ประเทศ รวมกว่า 100 อีเวนต์ โดยเฉลี่ยปีละ 8 อีเวนต์ ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ต่อยอดแบรนด์ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

เช่น ธุรกิจเมอร์เชนไดซ์ จำหน่ายและลิขสิทธิ์ให้พันธมิตรนำไปผลิตสินค้าที่ระลึก อาทิ เสื้อและสินค้าอื่น ๆ รวมกว่า 300 ไอเท็ม ธุรกิจเครื่องดื่ม หรือสปอร์ตดริงก์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจฟิตเนส (ยิมมวยไทย) เป็นต้น

ดัน “โฮลดิ้ง” เข้าตลาด SET

“นพพร” บอกอีกว่า เป้าหมายใหญ่ของ “ไทยไฟท์” ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าคือ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแผนและจัดโครงสร้างธุรกิจในเครือ โดยตั้งบริษัท “ไทยไฟท์ โฮลดิ้ง” ซึ่งเป็นโฮลดิ้ง คอมปะนี และแบ่งธุรกิจในเครือออกเป็น 5 กลุ่ม

ประกอบด้วย 1.ไทยไฟท์ อีเวนต์ ดูแลธุรกิจจัดการแข่งขันชกมวย 2.ไทยไฟท์ แอสเซส ดูแลและบริหารธุรกิจโรงแรม “THAI FIGHT Hotel 3.ไทยไฟท์ เบเวอร์เรจ ดูแลธุรกิจเครื่องดื่ม อาทิ น้ำ สปอร์ตดริงก์ 4.ไทยไฟท์ ฟู้ดส์ ดูแลธุรกิจอาหาร จำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพและสมุนไพรไทย

4.ไทยไฟท์ ยิม ดูแลธุรกิจฟิตเนส ทั้งสำหรับออกกำลังกายและเรียนศิลปะป้องกันตัว เป็นการออกกำลังกายแขนงใหม่ที่เรียกว่า physports และ5.ไทยไฟท์ ออนไลน์ ดูแลธุรกิจด้านการขายลิขสิทธิ์ให้พันธมิตรนำไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ จำหน่ายทั่วโลก รวมถึงขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการชกมวยไทยไฟท์ด้วย

คาดปี’67 รายได้ 1 พันล้าน

ทั้งนี้ พันธมิตรที่สนใจร่วมทุนสามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนในธุรกิจไหน ซึ่งในอนาคตหากธุรกิจไหนแข็งแรงบริษัทก็พร้อมที่จะผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

“ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้หลักส่วนใหญ่ยังมาจากการจัดอีเวนต์ชกมวยไทยไฟท์เป็นหลัก และมีกำไรคิดเป็นประมาณ 60% ของรายได้ ซึ่งตามแผนธุรกิจดังกล่าวคาดว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่เรามีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ”

และบอกด้วยว่า เชื่อมั่นอย่างมากว่าหลังจากที่ “ไทยไฟท์ โฮลดิ้ง” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถสร้างรายได้ถึง 5,000 ล้านบาท

ผนึกต่างประเทศถ่ายทอดชกมวย

“นพพร” ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาได้เซ็นสัญญากับบริษัท XANA ผู้นำด้านเทคโนโลยี 1 ใน 5 ของโลกสร้าง NFT และ Metaverse เพื่อต่อยอดแบรนด์และอีเวนต์ของ “ไทยไฟท์” สู่โลกออนไลน์ และถ่ายทอดสด (live broadcast)

โดยกลุ่มธุรกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญคือ ไทยไฟท์ ออนไลน์ ที่ดูแลธุรกิจด้านการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดชกมวยไทยไฟท์ และมวยจากเวทีไบเทค บางนา ทุกสัปดาห์

“ตอนนี้เราได้ลงทุนร่วมกับกลุ่มไบเทค บางนา มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท สร้างโครงการ BEAT ACTIVE X THAI FIGHT ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา เป็นฮอลล์จัดการแข่งขันมวยไทยที่ดีและทันสมัยที่สุดในโลก และเป็นศูนย์รวมกีฬากว่า 55 ประเภท และเราจะใช้พื้นที่ที่นี่สำหรับจัดชกมวยไทยทุกวันเสาร์ และถ่ายทอดสัญญาณสดให้กับพันธมิตรในต่างประเทศไปต่อยอดธุรกิจอีกต่อหนึ่ง ซึ่งฮอลล์ดังกล่าวจะเปิดให้บริการ 14 ธันวาคม 2565 นี้”

ปูพรมสาขา “ไทยไฟท์ ยิม”

นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุน “ไทยไฟท์ ยิม” บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ บริเวณใกล้สวนจตุจักร (ตึกแดง) โดยมีเวทีมวยทั้งสำหรับการชกมวยและสำหรับออกกำลังกาย รวมถึงให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพ และจำหน่ายสินค้าเมอร์เชนไดซ์ คาดว่าจะเสร็จและเปิดให้บริการได้ราวกลางปี 2566

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนขยายไทยไฟท์ยิมไปในเมืองท่องเที่ยวหลักทั่วประเทศภายใน 2 ปีนับจากนี้ โดยปี 2566 นี้ตั้งเป้ามีสาขาประมาณ 40-50 แห่ง โดยจะเน้นขยายธุรกิจในรูปแบบการขายแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจลงทุนเป็นหลัก รวมถึงตลาดในต่างประเทศที่สนใจด้วย โดยเฉพาะในประเทศโซนยุโรป จีน และตะวันออกกลาง

ทุ่มพันล้านผุดโรงแรม

โดยล่าสุดกลุ่มบริษัทไทยไฟท์ได้ขยับเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว ด้วยการต่อยอดแบรนด์ “ไทยไฟท์” สู่ธุรกิจโรงแรม โดยร่วมลงทุนกับตระกูล “ศรีชวาลา” ปั้นโรงแรมภายใต้ชื่อ THAI FIGHT HOTEL มูลค่า 1,000 ล้านบาท บนพื้นที่เกือบ 5 ไร่ ณ หาดละไม เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

โรงแรมแห่งนี้ประกอบด้วย อาคาร 3 หลัง จำนวนห้อง 50 ห้อง และ 4 พูลวิลล่า แต่ละส่วนของโรงแรมจะเป็นสไตล์ไทยโมเดิร์น ห้องพักทุกห้องเป็นธีมมวยไทย มีกระสอบทราย นวม มงคลสวมศีรษะ ประเจียดแขน ฯลฯ รวมถึงน้ำดื่ม ประหนึ่งว่าแขกผู้เข้าพักคือยอดมวยไทย

และภายในโรงแรมแห่งนี้ยังมี “THAI FIGHT PHYSPORTS” สถานที่ฝึกสอนมวยไทย โดยนักมวยไทยชื่อดังของ “THAI FIGHT” รวมถึงบริการอ่างแช่น้ำสมุนไพรเพื่อการผ่อนคลายกับการแช่น้ำว่าน “นิรามัย” น้ำและอาหารไทยดั้งเดิมจากร้าน “ฌัลล์” ที่ให้บริการในบรรยากาศริมชายหาดส่วนตัว

“สำหรับธุรกิจโรงแรมนี้ เราตั้งเป้าเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริหารโรงแรมเช่นเดียวกับเชนต่างประเทศอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนธุรกิจโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจ และให้เราเข้าไปบริหารภายในเครือข่ายของไทยไฟท์โฮเทลแล้วเช่นกัน”

ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของมวยไทยในทุกรูปแบบ และเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า THAI FIGHT HOTEL จะเป็นสถานที่พักผ่อนริมชายหาดที่ไม่สามารถหาที่ไหนได้ในโลกนี้ และเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการต่อยอดแบรนด์ไทยไฟท์ด้วย