เปิดวิชั่น ผู้ชิงประธาน สทท. ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ & ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์-ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

หลังจากทั่วโลกเปิดประเทศเต็มรูปแบบ (ยกเว้นจีน) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์ของประเทศไทยที่ทยอยพลิกฟื้นมาตั้งแต่ปลายปี 2564 หลังจากเปิดประเทศภายใต้โมเดล “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” และเติบโตอย่างชัดเจนหลังจากรัฐบาลปลดล็อกการเข้าประเทศเต็มรูปแบบ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคนสำหรับปี 2565 ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

พร้อมตั้งเป้าหมายสำหรับปี 2566 ว่าประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน หรือประมาณ 50% ของปี 2562 และมีรายได้คิดเป็นประมาณ 80% ของปี 2562

ทั้งนี้ หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าตัวแปรสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการในภาคเอกชนที่จะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นสามารถฟื้นกลับมาได้แค่ไหน และมองว่าในช่วงปี 2 ปีนี้จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญและเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย

แน่นอนว่า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ในฐานะภาคเอกชน จึงมีบทบาทสำคัญสำหรับการร่วมขับเคลื่อนและพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะต่อไป

และในวาระที่จะมีการเลือกตั้ง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนใหม่แทน “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ที่หมดวาระ ในวันที่ 3 มกราคม 2566 นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” อดีตประธาน สทท. คนล่าสุดที่อาสากลับมาทำงานต่อในสมัยที่ 2 และ “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” ประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต 2 ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธาน สทท. ไว้ดังนี้

โกจง-ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ อดีตประธาน สทท.

เดินหน้าท่องเที่ยวไทย สมัยที่ 2

“ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” หรือ “โกจง” เป็นเจ้าของบริษัท เกาะพีพีทัวร์, ศรีสวัสดิ์ ทราเวล แอนด์ทัวร์ และอีกหลายธุรกิจในจังหวัดกระบี่ ให้บริการเรือยอชต์นำเที่ยว รถขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร ธีมปาร์ก King Kong Park รวมถึงแพลตฟอร์มขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวออนไลน์อีกส่วนหนึ่งด้วย

“ชำนาญ” ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ที่เข้ามาบริหารในตำแหน่งประธาน สทท. นั้นได้เรียนรู้มาระดับหนึ่งแล้วว่าจุดแข็ง จุดอ่อน ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยคืออะไร และอะไรที่เป็นอุปสรรค และปัญหา ควรเติม ควรแก้ ตรงไหน และอย่างไร

“ผมเข้ามานั่งตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯในช่วงปลายปี 2563 ดังนั้นในช่วงปีแรกของการทำงานคือปี 2564 ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการเปิดประเทศเป็นหลัก กระทั่งต่อเนื่องจนถึงปี 2565 ตกผลึกในหลาย ๆ เรื่อง จึงอยากขับเคลื่อนต่ออีกสมัย เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศเติบโตอย่างถูกทิศถูกทาง”

พร้อมมองว่าในช่วงปี 2 ปีจากนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่ภาคการท่องเที่ยวต้องมีผู้นำที่มีศักยภาพ มีความรู้ในแก่นของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาขับเคลื่อนและวางรากฐานให้ธุรกิจทุกเซ็กเตอร์ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง

“ชำนาญ” บอกว่า แม้ว่าในปี 2565 นี้ภาพรวมของการท่องเที่ยวไทยยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10-11 ล้านคน แต่ส่วนตัวเชื่อมั่นมาตลอดว่าการท่องเที่ยวยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีที่สุด เร็วที่สุด และใช้ต้นทุนต่ำที่สุด

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์

และย้ำว่า ปัจจุบันแม้ว่าการท่องเที่ยวจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการ “พลิกฟื้น” แต่ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาด้าน “ดีมานด์” หรือ demand side นักท่องเที่ยวทั่วโลกยังให้ความสนใจและมีความต้องการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ปัญหาใหญ่คือฝั่ง “ซัพพลาย” หรือ supply side ที่ยังฟื้นกลับมาได้แค่บางส่วนเท่านั้น

โดยมองว่า “ซัพพลายไซด์” คือหัวใจหลักของการท่องเที่ยว “การท่องเที่ยว” จะไม่มีวันฟื้นได้ หากซัพพลายไซด์ยังไม่ฟื้น

“ตลอดเวลาที่ผมป็นประธานสภาท่องเที่ยวรับรู้และเข้าใจปัญหา และความต้องการของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผมเองก็เป็นคนท่องเที่ยวที่เห็นปัญหาและความเจ็บปวดของคนท่องเที่ยวด้วยกันมาเยอะมากจึงอยากเข้ามาขับเคลื่อนต่อ นี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมเสนอตัวเข้ามาเป็นประธานสภาท่องเที่ยวอีกสมัย”

พร้อมวางแนวนโยบายหลักสำหรับการ “ขับเคลื่อน” และ “พลิกฟื้น” อุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติอีกครั้งใน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.ฟื้นซัพพลายไซด์ ปั๊มหัวใจผู้ประกอบการให้กลับมาเต้นอีกครั้งให้ได้ก่อน โดยใช้หลัก 4 เติม ได้แก่ เต็มทุน เติมความรู้ เติมลูกค้า และเติมนวัตกรรม

“เติมทุน” ในรูปแบบของกองทุนท่องเที่ยว “เติมความรู้” โดยการรีสกิลและอัพสกิลผู้ประกอบการ “เติมลูกค้า” ทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ “เติมนวัตกรรม” ในด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มออนไลน์

โดยเฉพาะซัพพลายไซด์ในกลุ่มขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ถึงประมาณ 2 ล้านล้านบาท จากรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท และเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและมาตรการด้านการเงิน (soft loan)

2.Redesign ออกแบบการท่องเที่ยวไทยใหม่เพื่อสร้างสมดุลทั้งในด้านการตลาด (demand-supply) สร้างโอกาสทางการตลาดให้เพียงพอที่จะรักษาซัพพลายไซด์ให้อยู่รอด ด้านสินค้า คือการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้น (man-made) เพื่อลดการพึ่งพาและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

ส่วนการเชิงพื้นที่ (city-community) คือ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี smart tourism เข้ามาช่วยผู้ประกอบการสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ สร้างโอกาสทางการตลาด และแก้ปัญหา over-under tourism ในแหล่งท่องเที่ยวและเมืองหลัก-เมืองรอง

และ 3.สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกระดับ ทั้งคนตัวใหญ่ ตัวกลาง และตัวเล็ก ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

“ปีนี้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 10-11 ล้านคน และรัฐบาลก็ประกาศนโยบายว่าจะโฟกัสนักท่องเที่ยวคุณภาพและไม่ต้องการนักท่องเที่ยวจำนวน 40 ล้านคนเหมือนเดิม แต่ในมุมภาคเอกชนยังคงอยากให้นักท่องเที่ยวกลับมา 40 ล้านคนเหมือนเดิม แล้วใช้หลักการ redesign มาบริหารจัดการ”

และย้ำว่า ส่วนตัวมีความมั่นใจและมีความพร้อมอย่างมากที่จะเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ และเชื่อว่า “คนท่องเที่ยว” ทั้งหลายก็รอให้ตนเข้ามาทำงานต่อในสมัยที่ 2 เช่นกัน เพราะมองในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าการท่องเที่ยวอยู่รอดและกลับมาเติบโตได้ “ประเทศไทย” รอดแน่นอน…

โก้-ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวภูเก็ต

ปรับ “ท่องเที่ยว” สู่ความยั่งยืน

ด้าน “โก้-ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯคนใหม่นั้นเป็นอดีตนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปิดประเทศ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์”

“ภูมิกิตติ์” บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิกฤตที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่า “การท่องเที่ยว” คือเครื่องยนต์ตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยทุกสำนักวิจัยยังวิเคราะห์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจจะฟื้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ช้าหรือเร็ว

ล่าสุดยังระบุว่า เศรษฐกิจที่กลับมาได้ในวันนี้เป็นเพราะการท่องเที่ยวที่พลิกฟื้นกลับมาแล้ว นอกจากนี้ยังวิเคราะห์และคาดการณ์ในหลักการเดียวกันว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับ “การท่องเที่ยว”

“ก่อนหน้านี้ผมก็มองแค่ภูเก็ตเพราะมีภารกิจอยู่แค่ในพื้นที่ภูเก็ต ก็หาวิธีทำให้ภูเก็ตพลิกฟื้นขึ้นมา แต่วันนี้ท่องเที่ยวมีผลทั้งประเทศ และยังเชื่อว่าในระยะ 6-8 เดือนข้างหน้า การท่องเที่ยวจะยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็พบว่ายังมีอีกหลาย ๆ ประเด็นที่เรายังไม่ได้ลงมืออย่างจริงจัง หรือบางเรื่องก็ยังติดขั้นตอนและเงื่อนไขค่อนข้างมาก”

ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม
ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม

“ภูมิกิตติ์” บอกว่า จากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้คิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากมีส่วนในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ของประเทศต่อไป ซึ่งในหลักการทำงานของภาคเอกชนนั้นหากอยากเข้าไปมีส่วนร่วมก็ต้องเข้าไปมีบทบาทในสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นองค์กรที่มี พ.ร.บ.รองรับ

“ผมว่าความสำคัญของปีนี้และปีหน้าคือ การช่วยกันรีเซตบางเรื่องให้ยั่งยืนขึ้น เช่น การเริ่มลดความเสี่ยงกับบางตลาด และเพิ่มโอกาสให้บางตลาด หรือเพิ่มบทบาทเที่ยวข้ามภาค, เที่ยวเมืองรอง ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ต้องใช้สภาท่องเที่ยวเป็นหน่วยขับเคลื่อน และรีเซตบางเรื่องเพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย”

ขณะเดียวกัน ต้องปรับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวให้ดีขึ้น เพิ่มการเข้าถึงเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวอยู่เพียงแต่เมืองหลัก รวมถึงสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย โดยเน้นทำ 3 เรื่อง ได้แก่

1.ฐานข้อมูล (data) โดยเชื่อว่าหากเรามีข้อมูลที่ดีและมากพอจะสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศและผู้ประกอบการได้ทั้งในมุมการบริหารจัดการและการตลาด

2.ดิจิทัล (digital) โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยทั้งในด้านการตลาด ลดต้นทุนการบริหาร ต่อยอดธุรกิจ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ และ 3.ทบทวน แก้ไข กฎระบียบ โดยนำกฎหมายที่ใช้อยู่มาทบทวน จุดไหนล้าสมัยก็ปรับปรุง หรือบางอย่างไม่จำเป็นก็ยกเลิกไป

“ตอนนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มองเรื่องการท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกับเรามองเหมือนกันหมด เราจึงต้องรีเซตบางเรื่องเพื่อให้ธุรกิจเริ่มต้นได้ทุกที่ทุกทาง และเตรียมพร้อมรองรับกับแนวโน้มใหม่ ๆ ของโลก”

พร้อมย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่การท่องเที่ยวของไทยต้องมีแผนกลยุทธ์ที่ไดนามิกและมองในหลายมิติมากขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการรีเซตท่องเที่ยว เพราะภาพการแข่งขันระหว่างประเทศในปีหน้านี้ดุเดือดแน่นอน การเตรียมพร้อมที่ดีจะทำให้เราจะไม่เสียโอกาสกับคู่แข่ง

ทั้งนี้ ได้วางนโยบายเปลี่ยนผ่านให้การท่องเที่ยวไทยโดยชูเรื่องยุทธศาสตร์ 4C ยกระดับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ประกอบด้วย connectivity, communication, collaboration และ creative

โดย connectivity คือ เชื่อมโยงข้ามภาค สร้างโอกาสให้เมืองรองนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยว และสร้าง B2B platform ให้สมาชิกเชื่อมโยงธุรกิจออนไลน์

communication คือ การสื่อสารทั่วถึงและทันต่อเหตุการณ์ ให้มีข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ และทำหน้าที่เป็น tourism data center

collaboration คือ ประสานงานและร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน โดยประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ

creative คือ สร้างสรรค์เอกลักษณ์และต่อยอดสู่สากล

และให้ความสำคัญกับการสร้างหลักสูตรเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ และประสานงานในการจัดหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการสามารถนำความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาและต่อยอดธุรกิจได้ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย

ทั้งหมดนี้คือ ส่วนหนึ่งของนโยบายเปลี่ยนผ่านให้การท่องเที่ยวไทยสู่ความมั่นคง สมดุล และยั่งยืน