ย้ำภาคี”เครือข่ายท่องเที่ยวอพท.”ช่วยกระจายรายได้

แฟ้มภาพไม่เกี่ยวข้องกับข่าว
“อพท.” เผยผลสำเร็จการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนช่วยกระจายรายได้ เผยตัวเลขการจ้างแรงงานท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษกลุ่มภาคีเครือข่ายโตลิ่ว 62% มั่นใจใช้มาถูกทาง ตั้งเป้าปีนี้พัฒนาชุมชนเพิ่มอีก 38 จังหวัดใน 9 คลัสเตอร์ท่องเที่ยว

 

พันเอกนาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ได้ร่วมมือกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยการจ้างแรงงานในพื้นที่พิเศษเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายและที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่าย ในปีงบประมาณ 2560

จากผลการวิจัยพบว่า อัตราการจ้างแรงงานท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษมีการจ้างแรงงานในท้องถิ่น 34.25% ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายของ อพท. มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นในอัตราสูงถึง 62.46% โดยอัตราการเติบโตของการจ้างแรงงานเปรียบเทียบปี 2559 กับปี 2560 พบว่า ธุรกิจท่องเที่ยวภาพรวมในพื้นที่พิเศษมีการจ้างแรงงานท้องถิ่นลดลง 29.73% ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายของ อพท. มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 32.96%

และเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกอันจะนำไปสู่การพัฒนาในระยะต่อไปตามที่ อพท. นำมาตรฐานเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) ที่ให้ความสำคัญกับการจ้างงานในผู้สูงวัยและผู้พิการ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่พิเศษ

นอกจากนี้ อพท. ยังศึกษาเจาะลึกลงไปโดยจำแนกตามประเภทแรงงาน โดยในปี 2560 พบว่า ภาพรวมการจ้างแรงงานในพื้นที่พิเศษ ทุก ๆ 100 คน มีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 34 คน ผู้พิการ 1 คน และผู้สูงอายุ 6 คน ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายของ อพท. ในพื้นที่พิเศษมีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 62 คน ผู้พิการ 1 คน และผู้สูงอายุ 5 คน

“จากตัวเลขดังกล่าวเห็นได้ว่า ผลจากการดำเนินงานพัฒนาชุมชนและภาคีเครือข่ายของ อพท. ในพื้นที่พิเศษสามารถช่วยกระจายรายได้ในภาคท่องเที่ยวให้กลับคืนสู่ชุมชนเจ้าของพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น จากตัวเลขอัตราการจ้างแรงงานท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่เป็นภาคีเครือข่ายของ อพท. อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ก่อเกิดการกระจายรายได้อย่างแท้จริง ช่วยสร้างประโยชน์ให้ชุมชน มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ผู้อำนวยการ อพท. ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 ด้วยว่าจะยังคงดำเนินการในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เน้นย้ำการทำงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเพิ่มศักยภาพให้ชุมชน และใช้กลไกทางการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ นำมาซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามนโยบายของพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล อพท.

“ปีงบประมาณ 2561 อพท. ยังคงใช้แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ที่มีเครื่องมือเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน โดยจะขยายไปยังชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่พิเศษ และชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 9 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 38 จังหวัด”

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในปีนี้นั้น ผู้อำนวยการ อพท. คาดว่าจะสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้การบริหารจัดการตามเกณฑ์ GSTC มาสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนในแหล่งพื้นที่ท่องเที่ยวมีความเข้มแข็งบนพื้นฐานของชุมชนเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อาทิ ประชาชนในพื้นที่พิเศษผ่านเกณฑ์ประเมินระดับความอยู่ดีมีสุขไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่มีความสุขไม่น้อยกว่า 70% ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15% ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชาชนในพื้นที่พิเศษต่ำกว่า 0.41 เป็นต้น

 

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat