ย้อนรอย 2565 Unlock Thailand จุดเริ่มต้น Re-start “ท่องเที่ยวไทย”

Unlock Thailand

ประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศโดยจากโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และขยายผลต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียง สมุย กระบี่ พังงา เป็นรูปแบบ sealed routes ฯลฯ ก่อนจะเปิดทั่วประเทศด้วยการเปิดให้ลงทะเบียนขอ COE ผ่านระบบ Thailand Pass ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

จากนั้น 1 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลเปิดใช้ระบบ Test & Go ยกเลิกกักตัว แต่ยังให้ตรวจ RT-PCR และทยอยผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องด้วยการยกเลิกระบบ Test & Go เมื่อ 1 พฤษภาคม 2565 และยกเลิกการลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565

เรียกว่า เป็นจุดเริ่มต้นการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย หรือ Unlock Thailand

โดยหลังจากประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ส่งผลให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาพลิกฟื้นอย่างชัดเจนอีกครั้ง โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกิน 1 ล้านคนต่อเดือน

ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ล่าสุดพบว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565-22 ธันวาคม 2565 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมรวม 11.049 ล้านคน โดย 5 อันดับที่เดินทางเข้ามาสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย 1.812 ล้านคน รองลงมาคือ อินเดีย 9.23 แสนคน สปป.ลาว 7.96 แสนคน สิงคโปร์ 5.63 แสนคน และกัมพูชา 5.62 แสนคน ตามลำดับ

ปี 2565 จึงน่าจะเป็นปีที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการ re-start ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอีกครั้ง และเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญไว้ ดังนี้

เคาะเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน”

ลุ้นกันต่อไปสำหรับการจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ของไทย หรือที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว” ตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562 ที่ระบุไว้ว่า ให้รัฐบาลจัดเก็บเงินค่าประกันภัยและประกันชีวิตจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 300 บาทต่อคน

โดยให้นำมาบริหารภายใต้ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ” ภายใต้คณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน ซึ่งแนวทางการดำเนินงานทั้งหมดก็จะให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บที่แบ่งเป็น 2 ส่วน

ประกอบด้วย 1.นำไปจ่ายเป็นค่าประกันภัยและประกันชีวิตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 2.นำไปพัฒนาฟื้นฟูและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว

“ทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ” อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่า ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.อีกครั้ง หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯขอถอนออกจากวาระเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. ไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 ด้วยเหตุผลว่าอยากให้ดูรอบด้านมากกว่านี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

สำหรับแนวทางการจัดเก็บนั้นจะจัดเก็บเฉพาะชาวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทย และเป็นชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวเท่านั้น

ภูเก็ตชิงเจ้าภาพเอ็กซ์โป 2028

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต และกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน เอ็กซ์โป 2028 ภูเก็ต ประเทศไทย (Expo 2028 Phuket Thailand) ภายใต้แนวคิด “Future of Life : Living in Harmony, Sharing Prosperity” หรือ “ชีวิตแห่งอนาคต แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว”

โดยได้นำเสนอวิสัยทัศน์ครั้งแรกไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 หากจังหวัดภูเก็ตได้รับสิทธิจะถือเป็นเมืองแรกในอาเซียนที่ได้จัดงานเอ็กซ์โประดับโลก

โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นบนพื้นที่กว่า 141 ไร่ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถดึงดูดผู้ร่วมงานหมุนเวียนจากนานาประเทศทั่วโลกได้ถึง 7 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศราว 5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้จะประกาศผลการคัดเลือกในเดือนมิถุนายน 2566

“จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ระบุว่า หากจังหวัดภูเก็ตของไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ จะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ไม่แค่เพียงภายในเมืองที่จัดงานเท่านั้น หากยังสร้างรายได้ไปยังกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทยโดยภาพรวม

โดยคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) 39,357 ล้านบาท เกิดการจ้างงานมากกว่า 110,000 ตำแหน่ง รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 9,512 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมถือว่าคุ้มค่าเพราะได้ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) สูงถึง 9 เท่า

ทอท.บริหาร 3 สนามบิน ทย.

ลุ้นกันนานสำหรับแผนการรับโอนสนามบินสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 30 สิงหาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้ ทอท.

ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบ ดูแล และบริหารท่าอากาศยาน ในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่

จากปัจจุบันที่ ทอท.บริหารท่าอากาศยานหลักอยู่ 6 แห่ง ภาคเหนือ 2 แห่งคือ เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) ภาคกลาง 2 แห่งคือ ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และภาคใต้ 2 แห่งคือ หาดใหญ่ (สงขลา) และภูเก็ต

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน (airport system) และการดำเนินธุรกิจการขนส่งทางอากาศในรูปแบบคลัสเตอร์ และเป็นจุดที่เป็นฮับและเกตเวย์ไปยังประเทศใกล้เคียงตามนโยบายของรัฐบาล

โดยขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านและโอนสิทธิบริหารน่าจะเปลี่ยนผ่านเสร็จภายในประมาณ 5-6 เดือน นับจากตั้งแต่มีมติ ครม. (30 สิงหาคม 2565)

สำหรับงบประมาณลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งดังกล่าวนี้ เบื้องต้น ทอท.กำหนดไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ตลอดสัญญาการบริหาร 30 ปี แบ่งเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี 3,523 ล้านบาท บุรีรัมย์ 460 ล้านบาท และกระบี่ ประมาณ 5,216-6,487 ล้านบาท

ขยายฟรีวีซ่า 45 วัน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยระบุสาระสำคัญว่าเป็นการขยายระยะเวลาในการพำนักในราชอาณาจักรสำหรับคนต่างด้าวบางจำพวกที่เดินทางเข้าประเทศไทย 3 เรื่องหลัก

ประกอบด้วย 1.คนต่างด้าวที่ขอรับการตรวจลงตรา Visa on Arrival ขยายระยะเวลาจากเดิมพำนักได้ไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน และ 2.คนต่างด้าวผู้ถือหนังสือเดินทางของประเทศที่รัฐบาลของประเทศนั้น ได้ทำความตกลงระหว่างกันกับรัฐบาลไทย กรณีการยกเว้นการตรวจลงตรา ขยายจากเดิมไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน

และ 3.คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราว ซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ประเภท ผ.30 ซึ่งเป็นมาตรการที่ไทยให้ฝ่ายเดียว ขยายจากเดิมไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน

โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-31 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

เอเปค ดันเงินสะพัด โรงแรมหรู

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือ APEC 2022 Thailand ที่จัดขึ้นระหว่าง 16-19 พฤศจิกายน 2565 ช่วยให้การท่องเที่ยวของไทยโดยรวมตลอดเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 คึกคักขึ้น ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด

“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงแรมที่ได้รับอานิสงส์หลัก ๆ ในช่วงการประชุมเอเปคส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมระดับ 5-6 ดาวเป็นหลัก

โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมในกลุ่มดังกล่าวเต็มเกือบทุกแห่ง และไม่เพียงแค่ในช่วงการจัดประชุมเท่านั้น ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้ติดตามบางส่วนเดินทางมาก่อนที่จะมีการประชุม และบางส่วนยังอยู่ท่องเที่ยวต่อ ทำให้ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพฯ ดีต่อเนื่องตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565

ทั้งนี้ ประเมินกันว่าการประชุมเอเปคครั้งนี้ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในภาคการท่องเที่ยวมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจโรงแรมน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

รถไฟจีน-ลาวโอกาสเที่ยวไทย

แม้ว่ารถไฟ “จีน-ลาว” ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา จะไม่ได้เชื่อมโยงเข้าสู่แผ่นดินไทย แต่กูรูด้านการท่องเที่ยวหลายรายต่างมองว่า หากด้านการท่องเที่ยว พร้อมผนึกเส้นทาง R3A รถไฟขบวนนี้น่าจะนำพาเม็ดเงินมหาศาลมาสู่ภาคการท่องเที่ยวไทย

โดยตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยมีความตื่นตัวสูงมากในการพยายามมองหา “โอกาส” จากการเปิดให้บริการรถไฟขบวนดังกล่าว

“ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) บอกว่า การเกิดขึ้นของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ชาวจีนตอนใต้ รวมถึงชาวลาวเดินทางเข้าประเทศไทยได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างแน่นอน

โดยคาดการณ์ว่าเมื่อมีการเปิดเส้นทางรถไฟอย่างเต็มรูปแบบจะมีผู้ใช้รถไฟราว 3 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 1-1.5 ล้านคน ส่วนการส่งเสริมนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยได้มากน้อย ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการผ่านแดน

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากจีนและลาวข้ามชายแดนมาท่องเที่ยวในไทยนั้น ทั้ง 2 ประเทศต้องผ่อนคลายกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง-ศุลกากรให้ง่ายขึ้น พร้อมใช้เทคโนโลยีเพื่อลดขั้นตอนทั้งทางบก-ทางน้ำ

ขณะเดียวกันผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือจำนวนนักท่องเที่ยว โดยการออกแบบเส้นทางทั้งทางบก ทางอากาศเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการทัวร์ฝั่งไทยและลาวหลายรายทำแพ็กเกจการท่องเที่ยวรถไฟจีน-ลาวแล้ว

รัสเซียเหมาลำเข้าพัทยา-ภูเก็ต

ผลกระทบจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียชะลอการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงส่งผลให้สายการบินบางส่วนหยุดให้บริการ

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดประเทศไทยนั้นล่าสุดสายการบินทางฝั่งรัสเซียได้ขยับตัวครั้งใหญ่ด้วยการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ทั้งในรูปแบบเที่ยวบินประจำและเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (charter flight) ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้การท่องเที่ยวของไทยมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวรัสเซียแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเก็ต พัทยา (ชลบุรี) และกรุงเทพฯ

โดยสายการบิน Azue Airline ซึ่งเป็นสายการบินเช่าเหมาลำระดับภูมิภาคในรัสเซีย ได้จับมือกับบริษัททัวร์รายใหญ่อย่าง Anex Tour และ Coral Tour ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำจาก 11 เมืองของรัสเซีย ลงสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จ.ระยอง และจาก 6 เมืองของรัสเซียลงสนามบินนานาชาติภูเก็ต

และสายการบิน Ikar Airline สายการบินเช่าเหมาลำอีกรายของรัสเซีย จับมือกับบริษัท เพกัส ทัวริสติค (Pejas) ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำจาก 4 เมืองของรัสเซีย ลงภูเก็ต และอีก 1 เมืองลงกระบี่ (ผู้โดยสารเที่ยวภูเก็ต) นอกจากนี้ สายการบินแอโรฟลอต (Aeroflot Airline) สายการบินแห่งชาติรัสเซีย และสายการบินเอสเซเว่น (S7 Airline)

ที่ให้บริการเที่ยวบินประจำยังเพิ่มความถี่เที่ยวบินต่อเนื่อง ทั้งเส้นทางสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ (กรุงเทพฯ) และสนามบินนานาชาติภูเก็ต โดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

“ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า แผนการบินของสายการบินต่าง ๆ ทั้งส่วนที่เป็นเที่ยวบินประจำ (schedule flight) และเช่าเหมาลำ (charter flight) นี้จะให้บริการไปถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเป็นไปตามตารางการบินฤดูหนาว (winter schedule)

โดยคาดว่าจะทำให้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียสำหรับปี 2565 นี้ ประมาณ 300,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านคนในปี 2566

เปิดสนามบิน “เบตง”

กระทรวงคมนาคม โดยกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ภายใต้งบประมาณราว 1,900 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2562 แต่ก็ไม่สามารถเปิดทำการบินได้

กระทั่งได้ฤกษ์เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในการเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ของสายการบินนกแอร์ เส้นทางดอนเมือง-เบตง

โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการบินสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ปรากฏว่าหลังจากเปิดให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปแค่ 2 วัน นกแอร์ ซึ่งเป็นเพียงสายการบินเดียวที่ทำการบินสู่สนามบินเบตงก็ประกาศปิดระบบการจองตั๋วโดยสาร และหยุดทำการบินชั่วคราว เนื่องจากมีจำนวนผู้โดยสารไม่เพียงพอกับต้นทุนการดำเนินการ

จากนั้น 8 เมษายน 2565 นกแอร์ได้เซ็น MOU ร่วมกับ 3 บริษัททัวร์รายใหญ่ฟื้นเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-เบตง (ยะลา) อีกครั้ง โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมสนับสนุน ภายใต้แคมเปญ “เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์”

สายการบินนกแอร์จึงเริ่มกลับมาให้บริการเส้นทางบินตรงดอนเมือง-เบตงอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2565

แคมเปญ “เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” ได้ดำเนินงาน 2 เฟส คือ เฟสแรก 3 เดือน (ปลายเดือน เม.ย.-ก.ค.) โดย ททท.ให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วน และส่วนเฟส 2 ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. เป็นช่วงต่อโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” รัฐบาลสนับสนุนการเที่ยวผ่านทัวร์สูงสุด 5,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่สิ้นสุดโครงการ เฟส 2 เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม 2565 “นกแอร์” ก็ประกาศยุติทำการบินเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้สนามบินเบตงต้องปิดให้บริการชั่วคราวอีกครั้งเช่นกัน

คนไทยแห่เที่ยว ‘ญี่ปุ่น’

นทีที่ญี่ปุ่นประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อ 11 ตุลาคม 2565 พบว่ามีคนไทยเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง (FIT) และที่เดินทางผ่านบริษัททัวร์

“เอนก ศรีชีวะชาติ” นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น และประธานบริษัท “ยูนิไทย แทรเวล” ให้ข้อมูลว่า ญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นความนิยมอันดับ 1 ของคนไทย และยังเป็นตลาดที่เหมาะกับคนทุกช่วงวัย เมื่อบวกกับค่าเงินเยนที่ยังอ่อนค่ายิ่งทำให้ “ญี่ปุ่น” ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจากคนไทย

สอดรับกับ “ธนพล ชีวรัตนพร” เจ้าของบริษัท แตงโมทัวร์ จำกัด และบริษัท ควอลิตี้ เอ็กซ์เพรส จำกัด และในฐานะอุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ที่บอกว่า ตลาดคนไทยเที่ยวนอกที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดคือ ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวค่อนข้างดี และเป็นเดสติเนชั่นที่คนไทยนิยมมากที่สุด ตามด้วย เกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกง

และประเมินว่าในปี 2566 ตลาดญี่ปุ่นน่าจะเป็นตลาดที่ยังมาแรง และเป็นตลาดเดียวที่จะกลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 คือมีจำนวนคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นราว 1.3 ล้านคน

ส่วนตลาดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ไต้หวันน่าจะฟื้นตัวได้ราว 50% ขณะที่ตลาดฮ่องกง คาดว่าจะฟื้นตัวได้ประมาณ 60% เนื่องจากคนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับฮ่องกงเป็นอย่างดี

ขณะที่เส้นทางท่องเที่ยวในโซนยุโรปนั้นแม้จะเปิดประเทศก่อนภูมิภาคเอเชีย แต่หลายประเทศยังมีปัญหาเรื่องความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงกระบวนการขั้นตอนการขอวีซ่าที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่สามารถทำตลาดในส่วนของกรุ๊ปทัวร์ได้มากนัก

จึงคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์โดยรวมไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ปี 2566 ตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศน่าจะกลับมาได้ประมาณ 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือมีจำนวนคนไทยเที่ยวต่างประเทศประมาณ 5-6 ล้านคน