จีนแห่เพิ่มไฟลต์ คาดปี 2566 บินเข้าไทย 3.68 หมื่นเที่ยวบิน

‘จีน’ แห่เพิ่มไฟลต์

นับเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมาก ๆ ของอุตสาหกรรมการบิน หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศ และอนุญาตให้บริษัททัวร์สามารถจัด “กรุ๊ปทัวร์” ออกต่างประเทศได้ใน 20 ประเทศ ตั้งแต่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 20 ประเทศตามประกาศด้วย

โดยจากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 มีสายการบินสัญชาติจีนขอเปิดเที่ยวบินและเพิ่มความถี่มาไทย และได้รับการอนุมัติจาก กพท.ให้ทำการบินแล้ว 1,035 เที่ยวบิน หรือกว่า 300 เที่ยวบินต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 10 เที่ยวบิน

นอกจากนี้ ยังมีที่ยื่นขอเข้ามาแล้วแต่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีกประมาณวันละ 40 เที่ยวบิน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องประเมินความพร้อมของสายการบินและบริการภาคพื้นที่รองรับผู้โดยสาร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อมาถึงไทย

“ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลว่า เดือนมกราคม 2562 (ก่อนการระบาดของโควิด-19) มีจำนวนเที่ยวบินจากจีนรวม 12,209 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ 394 เที่ยวบิน ขณะที่เดือนมกราคม 2566 คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 1,160 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ 37 เที่ยวบิน

ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 91

“ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 19-25 มกราคม 2566 มีปริมาณเที่ยวบินจากจีนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณรวม 240 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ 34 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินเข้า-ออก ตามตารางการบินปกติ เฉลี่ยวันละ 18 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขอเพิ่มพิเศษ เฉลี่ยวันละ 16 เที่ยวบิน โดยตัวเลขดังกล่าวนี้ไม่รวมเที่ยวบินขนส่งสินค้า”

แต่เชื่อว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปแนวโน้มปริมาณเที่ยวบินจากจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีเที่ยวบินจากจีนรวม 36,896 เที่ยวบิน เพิ่มจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 227.6 หรือ 2 เท่า และคาดว่าจะกลับมาเท่ากับปี 2562 ได้ในปี 2567

“ดร.ณพศิษฏ์” บอกด้วยว่า วิทยุการบินฯ ได้เตรียมมาตรการบริหารจราจรทางอากาศ รองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเข้าร่วมในคณะกรรมการจัดสรรตารางการบิน หรือ slot allocation ให้สอดคล้องกับค่าความสามารถในการรองรับ (capacity) และปัจจัยข้อจำกัดต่าง ๆ ของท่าอากาศยาน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่สูงสุด อีกทั้งจัดเตรียมความพร้อม และกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ แนวทางการบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (air traffic flow management) มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท่าอากาศยาน และสายการบินผู้ใช้บริการ เพื่อให้การบริการการเดินอากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในทุก ๆ ด้าน และทำงานอย่างเต็มที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในน่านฟ้าไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด

และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของไทยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย