“บินไทย” ย้ำผ่านจุดต่ำสุด เดินหน้าแผนฟื้นฟู-สร้างตำนานใหม่

จากผลประกอบการที่ “ติดลบ” ต่อเนื่องเกือบ 10 ปีบวกกับเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ “การบินไทย” ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตั้งแต่ปลายปี 2563 และผู้บริหารได้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูอีกครั้งเมื่อ 20 ตุลาคม 2565 และเป็นแผนการดำเนินงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้อัพเดตความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูและทิศทางการดำเนินงานในเวทีสัมมนา “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศไทย 2023” ในหัวข้อ “Speed up การบินไทย-ท่องเที่ยวไทย” จัดโดยสื่อในเครือบริษัทมติชน (หนังสือพิมพ์มติชน, ประชาชาติธุรกิจ และข่าวสด) ว่า หลังวิกฤตโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมมีความเปราะบางมาก และกระทบต่อธุรกิจการบินอย่างมาก

โควิดทุบการบินขาดทุนทั่วโลก

โดยในช่วงโควิดพบว่าธุรกิจการบินทั่วโลกขาดทุนสูงสุดนับตั้งแต่มีธุรกิจ
สายการบิน ประมาณเกือบ 4 ล้านล้านบาททั้งโลกหยุดหมด และส่งผลต่อเนื่องถึงธุรกิจสนามบิน ธุรกิจผลิตเครื่องบิน ธุรกิจซ่อมบำรุงเครื่องบิน ธุรกิจ/อาหาร แรงงาน ฯลฯ สายการบินหลายแห่งเลิกกิจการ สายการบินบางแห่งล้มละลาย ซึ่งรวมถึง “การบินไทย” ที่ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป

เรียกว่าทุกธุรกิจที่เป็นซัพพลายเชนของธุรกิจการบินต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ผมอยู่การบินไทยมา 3 ปี เห็นวิกฤตมาต่อเนื่อง ปี 2563 หลายประเทศปิดประเทศ ปี 2564 เราเริ่มมีวัคซีน และเปิดประเทศมากขึ้น และดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จากที่หลายประเทศกลับมาเปิดประเทศ”

คาดเอเชีย-แปซิฟิกฟื้นปี 2568

โดยตลาดที่ขยับได้ก่อนคืออินเดีย เพราะจีนยังคงนโยบาย Zero COVID และด้วยจำนวนประชากรที่มาก ทำให้การเตรียมการเปิดประเทศเป็นเรื่องยาก ตลาดยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย จึงกลับมาก่อน

โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าธุรกิจการบินในภูมิภาคยุโรป สหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง จะฟื้นตัวกลับมาได้เท่าก่อนโควิดราวปี 2567 ส่วนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเริ่มฟื้นตัวถึงระดับดังกล่าวได้ในปี 2568-2569

เดินตามแผนฟื้นฟู 20 ต.ค. 65

“ชาญศิลป์” บอกด้วยว่า สำหรับการบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน 2563 และล่าสุดได้แก้ไขแผนที่ใช้ปัจจุบันคือ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแผนที่ดีมาก และจะทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

โดยประเด็นหลักของแผนดังกล่าวคือ เจรจาแฮร์คัตหนี้ การแปลงหนี้เป็นทุน โดยรัฐบาลจะแปลงหนี้เป็นทุน 100% ส่วนเอกชนจะแปลงหนี้เป็นทุน 25% ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของ “การบินไทย” ในปี 2566-2568 มีสัดส่วนทางการเงินที่ดี และมีทุนเป็นบวก และน่าจะกลับมาขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568

พร้อมย้ำว่า ถ้าการบินไทยสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ และแปลงหนี้เป็นทุนด้วยรอดแน่นอน

“โควิด-19 ส่งผลให้การบินไทยต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เพราะบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน สถาบันการเงินไม่อนุมัติปล่อยกู้แก่บริษัท บริษัทมีสภาพคล่องเหลือแค่ราว 4-5 พันล้านบาท ทำให้ต้องปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการเอาที่ปรึกษาระดับโลกมาช่วยดูทั้งในส่วนขององค์กร ฝูงบิน สินทรัพย์ และเทคโนโลยี”

โดยในส่วนขององค์กรนั้นได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ พันธกิจ ให้สอดคล้องกับความเป็นองค์กรเอกชน ปรับโครงสร้างองค์กรและลดระดับการบังคับบัญชา ปรับลดขนาดองค์กร ปรับโครงสร้างค่าตอบแทน ปรับปรุงกระบวนการทำงาน

ส่วนของฝูงบินได้ปรับความทันสมัยของฝูงบิน โดยจัดหาเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีและความสะดวกสบายที่ทันสมัยและมีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงต่ำ เจรจาปรับลดค่าเช่า และยกเลิกสัญญาเช่าที่เป็นภาระ

ด้านเทคโนโลยี บริษัทได้หาประโยชน์จากการให้เช่าอาคารสำนักงานและพื้นที่ว่าง และจำหน่ายสินทรัพย์รองที่ไม่อยู่ในแผนการใช้ประโยชน์ เช่น เครื่องบิน เครื่องยนต์ อาคาร ที่ดิน พัสดุสิ้นเปลือง นอกจากนี้ ในด้านเทคโนโลยีได้จัดทำโครงการปฏิรูปทางดิจิทัล ยกระดับองค์กรสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นองค์กรดิจิทัล

“เราปรับโครงสร้างองค์กรและยกระดับความคล่องตัวในการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง โดยการบินไทยเคยมีพนักงานมากถึงกว่า 2.8 หมื่นคนในปี 2562 ขณะนี้เราลดขนาดองค์กรลง เหลือพนักงานที่ประมาณ 1.4-1.5 หมื่นคนเท่านั้น”

เสริมสภาพคล่อง 8 หมื่นล้าน

ด้านโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูฉบับที่ใช้อยู่ (20 ต.ค. 65) นั้น “ชาญศิลป์” บอกว่าขณะนี้บริษัทต้องเพิ่มทุนเงินทุนอีก 8 หมื่นล้านบาท โดยมาจาก 2 ส่วนหลักคือ จากการแปลงหนี้เป็นทุน การขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ในส่วนที่เหลือจะขายให้กับพนักงานประมาณ 6 หมื่นล้านบาท จะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกและหนุนให้แผนสำเร็จได้ภายในปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 เร็วกว่ากำหนดเดิมเล็กน้อย

และ 2.ขายหุ้นเพิ่มทุนทั่วไป หรือให้พาร์ตเนอร์เจาะจงอีก 2 หมื่นล้านบาท

โดยแผนดังกล่าวนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำแผนปฏิบัติการและกำหนดระยะเวลาดำเนินการ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2566 หรืออย่างช้าครึ่งปีแรกของปี 2567

นอกจากนี้ ยังปรับลดเงินกู้ก้อนใหม่ลงเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท จากแผนเดิม 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำรองเผื่อฉุกเฉินในการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ประกอบด้วยหลายส่วน ได้แก่ 1.จดทะเบียนเพิ่มทุนสำเร็จตามเงื่อนไข 2.ต้องมีการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูได้ 3.มีกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาค่าเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปีติดกัน

และ 4.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นตามเงื่อนไข เนื่องจากปัจจุบันนี้ดำเนินการโดยผู้บริหารแผน ต่อไปต้องมีกรรมการใหม่ ที่มาจากตัวแทนผู้ถือหุ้นใหม่

“หลังจากดำเนินการใน 4 ข้อนี้ได้สำเร็จ บริษัทจะเกิดกำไร มีทุนเป็นบวก ซึ่งจะทำให้เราสามารถจะนำบริษัทไปเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ใหม่อีกครั้งได้”

เร่งหารายได้ทุกช่องทาง

ขณะเดียวกัน “การบินไทย” ยังได้พยายามหารายได้เสริมระหว่างที่เกิดวิกฤต เช่น เปิดภัตตาคารลอยฟ้า ที่สำนักงานใหญ่ของการบินไทย เคยสร้างรายได้สูงสุดเฉลี่ย 5 แสนบาทต่อวัน ขายปาท่องโก๋การบินไทย สร้างรายได้สูงสุดเกือบ 10 ล้านบาทต่อเดือน ทำการบินรับวัคซีน ฯลฯ

รวมถึงรับคนไทยกลับจากต่างประเทศในช่วงปิดประเทศ หรือหนีภัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน จัดทำทัวร์ไหว้พระ จัดกิจกรรมทางการตลาด ทั้ง Time to Gold, Time to Smile เป็นต้น

“ชาญศิลป์” บอกด้วยว่า ในภาวะปกติการบินไทยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาทต่อเดือน ช่วงโควิดรายได้เราลดเหลือแค่กว่า 200 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่กลางปี 2564 เป็นต้นมา ทำให้การบินไทยมีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นตามลำดับ

โดยพบว่าผลประกอบการไตรมาส 3/2565 การบินไทยเริ่มมีผลประกอบการจากการดำเนินงานเป็นบวกอย่างเป็นทางการแล้ว โดยเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีศักยภาพในการสร้างรายได้ได้ถึงกว่า 1.3 หมื่นล้าน โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน (Operating Revenue) 32,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.7% จากไตรมาสก่อนหน้า

เพิ่มฝูงบินครึ่งปีแรก 4 ลำรับจีน

“ชาญศิลป์” บอกอีกว่า ปัจจุบัน “การบินไทย” และ “ไทยสมายล์” ครองสัดส่วนจำนวนผู้โดยสารเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิกว่าร้อยละ 30 จากจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการอยู่รวม 64 ลำ (ไทยสมายล์ 20 ลำ) ให้บริการเที่ยวบินรวมกว่า 100 เที่ยวบินต่อวัน หรือกว่า 700 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปยัง 64 จุดหมายปลายทาง

และขนส่งผู้โดยสารรวมประมาณ 30,000 คนต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-70% ของปีก่อนโควิดที่มีผู้โดยสาร 12 ล้านคน/ปี หรือมีจำนวนผู้โดยสารราว 4-5 หมื่นคน/วัน โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงก่อนเกิดโควิดในช่วงปลายปี 2567

“ตอนนี้ความต้องการเดินทางมีปริมาณที่สูงมาก ทำให้มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ Load Factor สูงถึง 80-90% ทำให้เราตัดสินใจนำเครื่องบินที่จอดรอขายกลับมาให้บริการ”

นอกจากนี้ “การบินไทย” ยังเตรียมเช่าเครื่องบินเพื่อเสริมทัพฝูงบินเพิ่มอีกจำนวน 4 ลำ คาดว่าจะเป็นเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 350 และอยู่ระหว่างเตรียมการเพิ่มอีก 10-15 ลำในลำดับต่อไป

โดยส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางสู่ประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงตารางบินฤดูร้อนนี้ (ปลายเดือนมีนาคม 2566) และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีดีมานด์เดินทางสูง เช่น ออสเตรเลีย, ยุโรป เป็นต้น

ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” จะมีจำนวนฝูงบินที่ 80-90 ลำ ซึ่งจะเช่าและเป็นเครื่องบินใกล้เคียงกับแบบเดิม เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดูแลและซ่อมบำรุง

จับตา “ราคาน้ำมัน-แรงงาน”

โดยมองว่าปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจการบินในปี 2566 มี 3 เรื่องหลักคือ 1.ราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ที่ราว 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากอดีตที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ต้นทุนน้ำมันของการบินไทยขยับขึ้นไป 40% จากเดิมมีสัดส่วนกว่า 30%

อย่างไรก็ดี จากดีมานด์ที่สูงขึ้นและสายการบินก็ยังมีเที่ยวบินกลับมาได้ไม่เท่าเดิม เครื่องบินขาดแคลน ทำให้ราคาตั๋วอยู่ในระดับที่ดีและสูงต่อเนื่อง และคาดว่า “ราคาตั๋ว” ของสายการบินทั่วโลกจะยังคงสูงต่อเนื่องตลอดปีนี้

2.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ ซึ่งการบินไทยได้พยายามแก้ปัญหาโดยเร่งจ้างพนักงานภายนอก (Outsource) เสริมการให้บริการ และ 3.สถานการณ์บ้านเมือง

หากทั้ง 3 ประเด็นนี้ไม่มีอะไรรุนแรง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตต่อเนื่องแน่นอน เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

พร้อมทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา “การบินไทย” ได้ผ่านจุดที่ต่ำสุดมาแล้ว ขณะนี้เป็นช่วงของการมองหาโอกาสใหม่ เพื่อกลับมาสร้างตำนานใหม่อีกครั้ง