อินฟอร์มา โหมงานระดับโลก ย้ำ No.1 ธุรกิจ “งานแสดงสินค้า”

สรรชาย นุ่มบุญนำ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ในปี 2562 ธุรกิจไมซ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านรายได้ประชาชาติที่ 550,200 ล้านบาท คิดเป็น 3.27% ของจีดีพีประเทศไทย เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 818,176 อัตรา และภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้จากการจัดงานไมซ์ที่ 39,130 ล้านบาท

โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” ประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจจัดแสดงสินค้า งานประชุม สัมมนา (MICE) ไว้ว่า ปี 2566 นี้การฟื้นตัวของธุรกิจไมซ์จะกลับขึ้นมาอยู่ที่ราว 40-50% ของปี 2562 และอยู่ที่ประมาณ 70% ในปี 2567 และฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 ได้ในปี 2568

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “สรรชาย นุ่มบุญนำ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย จำกัด ถึงแนวโน้มของธุรกิจแสดงสินค้าของไทยในปี 2566 ไว้ดังนี้

“อินฟอร์มา” No. 1 ของโลก

“สรรชาย” บอกว่า ช่วงปี 2562 ก่อนโควิด อินฟอร์มา หรือ In forma (INF.L) ผู้จัดงานแสดงสินค้ารายใหญ่ของโลก ได้ควบรวมในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลกับ UBM บริษัทผู้จัดงานประชุม งานแสดงสินค้าระดับโลกเช่นกัน และเปลี่ยนชื่อเป็น “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์”

การควบรวมที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทำให้ “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์” กลายเป็นบริษัทจัดงานแสดงสินค้าอันดับ 1 ในหลายภูมิภาคของโลก อาทิ อันดับ 1 ในประเทศไทย อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นต้น

“หลังจากควบรวมเราก็เจอโควิด ทั่วโลกมีมาตรการปิดประเทศ ทำให้นักธุรกิจและผู้ประกอบการต่างชาติไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ ส่งผลให้เรามีผลประกอบการขาดทุนในช่วง 2 ปีช่วงโควิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

มุ่งพัฒนาคน-ครีเอตงานใหม่

“สรรชาย” บอกด้วยว่า แม้ในช่วง 2 ปี (2563-2564) บริษัทจะประสบกับตัวเลข “ขาดทุน” แต่ทีมงานได้หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านดิจิทัลและพัฒนาบุคลากรให้ก้าวสู่ดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวสู่โลกยุคดิจิทัล รวมทั้งวางแผน มองหาโอกาส และหาพันธมิตรใหม่เข้ามาจัดงานในประเทศไทย

โดยมีเป้าหมายว่า เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ธุรกิจเริ่มกลับมา “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์” จะมีงานใหม่ ๆ เข้ามาจัดในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และจากกลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้ในช่วงปลายปี 2565

ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ ธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าเริ่มทยอยกลับมาชัดเจนขึ้น “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์” ก็มีงานใหม่เกิดขึ้น

อาทิ งาน Cosmoprof CBE ASEAN งานจัดแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงาม ซึ่งได้จัดแสดงมาแล้วทั่วโลก เช่น อิตาลี ฮ่องกง อินเดีย สหรัฐอเมริกา งาน Vitafoods Asia 2022 งานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินระดับเอเชียที่ครอบคลุมทุกมิติของการผลิตสินค้าเสริมอาหาร เป็นต้น

รวมทั้งขยายงานออกไปในภูมิภาคด้วย เช่น งาน MIRA (Maintenance Industrial Robotic and Automation Event) งานแสดงเทคโนโลยีด้านการบำรุงรักษา หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติ โซลูชั่นอุตสาหกรรมจากแบรนด์ชั้นนำ พร้อมกับงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เพื่อเจาะกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ครอบคลุม 3 จังหวัดเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตมากที่สุดของประเทศไทย

“ในมุมมองของเราไม่คิดว่าทุกงานที่เราเคยจัดในปี 2562 จะกลับมาได้เท่าเดิม ขนาดงานเท่าเดิม รายได้เท่าเดิม เพราะเราประเมินแล้วว่ารูปแบบการจัดแสดงสินค้าจะมีแนวโน้มขนาดเล็กลง ดังนั้นแนวทางการเพิ่มงานใหม่จึงเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้บริษัทสามารถ
รีคัฟเวอรี่ได้เร็วที่สุด”

โหมจัดงานระดับโลก

“สรรชาย” บอกอีกว่า สำหรับปี 2566 นี้ “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์” มีแผนจัดงานทั้งหมดรวม 16 งาน โดยเป็นงาน Trade Exhibition ในทุกอุตสาหกรรมสำคัญ มีกลุ่มเป้าหมายคือนักธุรกิจและภาครัฐ (B2B และ G2G) ทั้งไทยและต่างประเทศ

ที่สำคัญทั้งหมดล้วนแล้วเป็นงานที่มีมูลค่าสูงทั้งในด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ที่ช่วยสร้างมูลค่า รายได้ ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ อาทิ งาน Jewellery and Gem ASEAN Bangkok งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับแห่งภูมิภาคอาเซียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

งาน Plastic & Rubber Thailand งานแสดงเทคโนโลยีการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางแบบครบวงจร ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ และถือเป็นจุดเริ่มต้นและเล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า

รวมถึงแนวคิดการผลิตพลาสติกด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและวางแผนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โดยย้ำว่าทั้ง 16 งานที่จะจัดขึ้นในปีนี้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรและการผลิต ได้แก่ ProPak Asia, Intermach, Subcon Thailand, Plastic & Rubber Thailand, MIRA and Subcon EEC และ Pumps and Valves Asia

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ASEAN Sustainable Energy Week, Electric Vehicle Asia, Thai Water Expo และ ASEAN Paper Bangkok กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ ได้แก่ Food & Hospitality Thailand และ Food Ingredients Asia

กลุ่มอุตสาหกรรมยาและอาหารเสริม ได้แก่ CPHI South East Asia และ Vitafoods Asia กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ Jewellery & Gem ASEAN Bangkok และกลุ่มอุตสาหกรรมความงาม คือ Cosmoprof CBE ASEAN Bangkok

“งานใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา และในปี 2566 นี้ เกิดจากการทำงานในช่วงโควิดทั้งสิ้น”

คาดธุรกิจรีคัฟเวอร์ปี 2568

ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า จากแผนการจัดงานดังกล่าว บวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย” วางเป้ารายได้ปี 2566 ไว้ที่ประมาณ 90% ของปี 2562 หรือประมาณ 900 ล้านบาท และคาดว่ารายได้รวมจะกลับมาได้เท่ากับปี 2562 ในปี 2567 นี้

“เป้าหมายรายได้ดังกล่าวนี้ หากไม่นับรวมงานใหม่ที่เกิดขึ้น เราจะมีสัดส่วนรายได้กลับมาได้เพียงแค่ประมาณ 70-75% เท่านั้น ดังนั้นกลยุทธ์หลักของเรา คือ ต้องดูแลงานเก่าให้เติบโตขึ้นและมีงานใหม่เข้ามาเสริมทุกปี”

โดยปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องคำนึงถึงในปีนี้ คือ สถานการณ์โควิดที่ยังไม่หมดไป รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการการค้าของแต่ละประเทศ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางในการจัดงานแสดงสินค้าสูง มีความพร้อมในด้านสถานที่การจัดงาน ที่พัก การเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ จึงเชื่อมั่นว่าไทยจะยังมีศักยภาพในการเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าในภูมิภาคต่อไป

  • แอคคอร์ กางแผนเปิด 6 โรงแรมทั่วไทย รุกตลาดคนรุ่นใหม่-ธุรกิจไมซ์