“ไทย-ญี่ปุ่น” ผนึกพลัง ก้าวสู่ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ-ยั่งยืน

ไทย-ญี่ปุ่น

สถาบันวิจัยการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น สำนักภูมิภาคอาเซียน-อินเดีย (JTTRI-AIRO) ได้ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และสถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย จัดเสวนาพิเศษเนื่องในโอกาสจัดตั้งสำนักงาน JTTRI-AIRO เรื่อง “การเปลี่ยนผ่านการท่องเที่ยวสู่ยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นจะสร้างการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพได้อย่างไร ดังนี้

แก้ปัญหา Supply-เพิ่มมูลค่า

“มงคล วิมลรัตน์” ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในหัวข้อ “ก้าวต่อไป การท่องเที่ยวไทยหลังยุคโควิด-19” ว่า ประเด็นที่ภาคท่องเที่ยวไทยต้องจับตา หลังสถานการณ์โควิด-19 คือ ปัญหาด้านอุปทาน (supply) ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งต้องมีการแก้ไข

เช่น ปัญหาโรงแรมผิดกฎหมาย ปัญหาแรงงานขาดแคลน รวมถึงออกแบบแนวทางการทำงานให้เหมาะสมกับแนวทางการท่องเที่ยวใหม่

โดยประเทศไทยมีความพยายามเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก คือ 1.เศรษฐกิจมูลค่าสูง เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มทักษะและฟื้นฟูทักษะแรงงานภาคการท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่อคน

2.สังคมมูลค่าสูง เช่น สร้างการกระจายประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากภาคท่องเที่ยว นำเสนอว่าประเทศไทยสามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปี และขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

และ 3.สิ่งแวดล้อมมูลค่าสูง เช่น บริหารจัดการการท่องเที่ยวและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างการท่องเที่ยวที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

Advertisment

มุ่งท่องเที่ยว “คุณภาพ-ยั่งยืน”

“ซาโตรุ มิซึชิมะ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว (MLIT) ประเทศญี่ปุ่น ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

โดยในปี 2562 ชาวไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นจำนวน 1.32 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 4.1% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นทั้งหมดที่ 31.88 ล้านคน ทางการญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของญี่ปุ่น จึงทำให้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ได้เปิดสำนักงานประจำประเทศไทย

Advertisment

ส่วนทิศทางนโยบายด้านการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น “ซาโตรุ” บอกว่า ทางการจะให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1.กลยุทธ์การสร้างการท่องเที่ยวมูลค่าสูงและยั่งยืน

อาทิ สร้างโมเดลตัวอย่างด้านการท่องเที่ยวที่มีความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม รวมถึงมีการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความเสื่อมโทรมในช่วงที่ผ่านมา

2.กลยุทธ์การฟื้นฟูตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มรายจ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าญี่ปุ่น จากเดิมในปี 2562 นักท่องเที่ยวใช้จ่าย 159,000 เยน หรือประมาณ 40,700 บาทต่อคนต่อทริป เพิ่มขึ้นอีกราว 25% สู่จำนวน 200,000 เยน หรือราว 51,300 ต่อคนต่อทริปภายในปี 2568

และ 3.กลยุทธ์สร้างการขยายตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศ โดยรัฐบาลมีโครงการ “National Travel Support Program” สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งในการท่องเที่ยวต่างจังหวัด พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบทำงานและพักผ่อน (workation) และการท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียม ที่ทุกคน ไม่ว่าคนพิการใครก็สามารถเที่ยวได้

ไทย-ญี่ปุ่น

คาดปี 2568 รายได้ 5.6 ล้านล้าน

ทั้งนี้ ตั้งเป้าในปี 2568 ญี่ปุ่นมีรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ 22 ล้านล้านเยน หรือราว 5.6 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวญี่ปุ่นยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทางการมีแนวคิดแก้ปัญหาโดยการเพิ่มผลิตผลของการทำงานให้มากขึ้น เพื่อรองรับอุปสงค์ (demand) ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแก้ไขปัญหา “ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง” หรือ over-tourism ไปพร้อมกัน เพื่อลดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ

และยังเชื่อว่าการท่องเที่ยวไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และภายใต้สถานการณ์ที่โลกต้องการความสงบสุขเช่นนี้ การท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจด้านวัฒนธรรมซึ่งกันและกันระหว่างคนแต่ละชาติ

ดันซอฟต์พาวเวอร์กระตุ้น

ด้าน “สุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกว่า แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีความสำคัญ และจำเป็นต้องมีแผนที่ชัดเจน

และในการโปรโมตภาคการท่องเที่ยวนั้น มองว่าสามารถใช้ soft power เช่น ภาพยนตร์ เพลงของไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้

เฟ้น ของดีท้องถิ่นปลุกเมืองรอง

ขณะที่ “สึกุฮิโกะ ซาวาโนโบริ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Japan Research Center ภายใต้บริษัท รีครูท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กุญแจสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปยังชนบท สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1.ภาคการท่องเที่ยวต้องมีความชัดเจนว่าแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่นั้น ๆ คืออะไร ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ หรือวัฒนธรรมด้านอาหาร

2.สร้างความน่าดึงดูดให้มากขึ้น เช่น ออกแบบเส้นทางเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น และในเวลาเดียวกันประชากรในท้องถิ่นต้องมีความภูมิใจในแหล่งวัฒนธรรมของตน และ 3.สิ่งใดคือกุญแจสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปยังท้องถิ่น

โดยอาจประชาสัมพันธ์ผ่านบริษัททัวร์ สื่อสังคมออนไลน์และสื่อสารมวลชน พร้อมทั้งให้ข้อมูล ณ จุดสัมผัส (touchpoint) ต่าง ๆ เช่น ศูนย์บริการข้อมูล เคาน์เตอร์โรงแรม

ใช้อินฟลูฯ ดันเที่ยวท้องถิ่น

“ริเอโกะ นากะยามะ” ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ระบุว่า สิ่งที่ไทยและญี่ปุ่นสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในท้องถิ่นแต่ละประเทศได้คือ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกว่านักท่องเที่ยวแต่ละประเทศแท้จริงมีความสนใจแบบใด สามารถนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นนั้น ๆ ได้อย่างไร

สอดคล้องกับ “ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่” ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่บอกว่า การโปรโมตการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ อาจใช้กลยุทธ์การสื่อสารผ่านผู้นำทางความคิด (KOL) หรืออินฟลูเอนเซอร์จากประเทศต้นทาง เพราะบุคคลเหล่านี้มีความเข้าใจในพื้นฐานพฤติกรรมและเกร็ดความรู้ที่นักท่องเที่ยวจากประเทศนั้น ๆ ต้องการ

กล่าวคือ ใช้อินฟลูเอนเซอร์ชาวไทยช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในประเทศไทย ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวฝั่งไทยใช้อินฟลูเอนเซอร์จากญี่ปุ่นช่วยโปรโมตท่องเที่ยวไทย