เศรษฐา ทวีสิน : The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

The Beach
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

การนำอุปกรณ์ขนาดใหญ่อย่างรถแบ็กโคมาลงพื้นที่ ผ่านการขนส่งตามแนวปะการังน้ำตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์ การถางพันธุ์พืชท้องถิ่นแล้วนำต้นมะพร้าวจากภายนอกมาปลูกเสริมกว่า 60 ต้น ภายใต้ความคลุมเครือของอำนาจการตัดสินใจจากกรมป่าไม้และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

กลายเป็นปฐมบทของการดำเนินการฟ้องร้องบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ฟ็อกซ์ ผู้สร้างภาพยนตร์ดังกล่าวที่เรื้อรังมานานกว่า 20 ปี

นอกจากความเสียหายที่เกิดจากการถ่ายทำโดยตรงแล้ว ปัญหาที่ตามมาหลังจากภาพยนตร์ออกฉายก็คือ ความสวยงาม (ที่ถูกปรุงแต่งแล้ว) ของหาดมาหยาได้ถูกถ่ายทอดออกสู่สายตาคนทั่วโลกมากมาย เมื่อผู้ประกอบการเห็นโอกาสจึงยิ่งเร่งโปรโมตและฉกฉวยโอกาสในการทำรายได้ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ช่วงพีกบางวันมีมากถึงกว่า 5 พันคน มีการนำเรือท่องเที่ยวเข้ามาทอดสมอในบริเวณปะการัง ทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง

โดยหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบก็มิได้มีการสร้างข้อตกลง หรือกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมร่วมกันในการป้องกันการทำลายสภาพแวดล้อมของสถานที่ จนกระทั่งนำมาซึ่งการประกาศปิดหาดมาหยาเป็นเวลานานเพื่อให้สภาพแวดล้อมได้ฟื้นฟู

เรื่องความเสียหายของระบบนิเวศธรรมชาติก็เป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดจากการเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฉากหรือเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ แต่ก็มีผลกระทบอื่น ๆ ที่เกิดจากความไม่เข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี และองค์ประกอบทางสังคมที่เราเคยเห็นกัน

เช่นการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของชนพื้นถิ่นไปนำเสนอในมุมที่ขัดแย้งและสร้างความไม่สบายใจให้กับเจ้าของวัฒนธรรม หรือการจัดแต่งฉากสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยให้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง หรือการนำเสนอวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของไทยที่ถูกด้อยค่าในสายตาต่างชาติ

ผมว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องลงรายละเอียดให้ดี จริงอยู่ที่เรื่องของความเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ น่าจะพัฒนาไปบ้างในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา จากการที่ประเทศไทยได้ถูกนำเสนอสู่สายตาชาวโลกด้วยกระบวนการต่าง ๆ แต่ผมเชื่อว่าในแวดวงบันเทิงที่มีการลงทุนมหาศาลจากนายทุน ความเที่ยงตรงในการนำเสนออาจไม่สำคัญเท่ากับความน่าสนใจและความบันเทิงของเนื้อหาที่จะสื่อออกไป


ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยก็ควรมีกระบวนการสร้างความเข้าใจเบื้องต้นในประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความละเอียดอ่อนของประเพณีความเชื่อ และวัฒนธรรม กับทีมงานถ่ายทำเหล่านี้ให้ดี ๆ มีการกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละเรื่องให้ชัดเจน ทำหน้าที่ประสานและกำกับให้เหมาะสม การที่กองถ่ายเหล่านี้จะนำมาซึ่งการสร้างรายได้ให้กับประเทศมากมายไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้สิ่งดี ๆ ของประเทศเราถูกละเลยและย่ำยีนะครับ อย่าลืม