อพท.ผุดโมเดล”อพท.น้อย” หนุนท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน

อพท.เดินหน้าใช้มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผุดโมเดล “อพท.น้อย” หวังกระจายงานให้ท้องถิ่นลุกขึ้นพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นชุมชนแห่งการท่องเที่ยว

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท.ได้พัฒนามาตรฐานสำหรับใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวคิดและแนวปฏิบัติสากลขึ้น โดยชื่อว่า “มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

โดยมาตรฐานดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือช่วยให้องค์กรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ มีแนวทางในการดำเนินงานสำหรับประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนภาคีให้ร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน และพร้อมรับต่อความเปลี่ยนแปลงหรืออีกนัยหนึ่ง การมีมาตรฐานจะช่วยให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารการพัฒนาการท่องเที่ยวที่คล้ายคลึงกับ อพท. แต่มีขนาดพื้นที่รับผิดชอบที่เล็กกว่าและกระจายตัวเพื่อบริหารการพัฒนาการท่องเที่ยวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่ง อพท.รวมเรียกแนวคิดและเป้าหมายการสร้างชุมชนรูปแบบนี้ว่า “อพท.น้อย” เพื่อจะใช้โมเดลการพัฒนาชุมชนของ อพท.ที่มีอยู่ สร้างความสุขให้แก่ชุมชน

สำหรับปีงบประมาณ 2560 นี้ องค์กรที่เข้าร่วมโครงการจะได้เข้าร่วมอบรม และลงมือปฏิบัติตามมาตรฐานจำนวน 3 ครั้ง ตลอดการดำเนินการจะมีการทบทวนตรวจสอบเป็นระยะ ซึ่งพบว่าองค์กรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติได้ครอบคลุมตามข้อกำหนด และมีองค์กรที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 11 องค์กร อพท.หวังว่าทุกองค์กร ทุกภาคีที่เข้ามามีส่วนร่วมกันในโครงการนี้ จะร่วมมือกันพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยเราให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 11 องค์กรที่ได้รับประกาศนียบัตรครั้งนี้มาจาก 2 พื้นที่พิเศษของ อพท. ได้แก่ พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จำนวน 4 องค์กรในจังหวัดสุโขทัย คือ เทศบาลตำบลบ้านกล้วย องค์การบริหารส่วนตำบลนาเชิงคีรี องค์การบริหารส่วนตำบลสารจิตร และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองอ้อ พื้นที่พิเศษเลย จำนวน 7 องค์กร คือ เทศบาลตำบลเชียงคาน เทศบาลตำบลด่านซ้าย เทศบาลตำบลภูเรือ เทศบาลตำบลร่องจิก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา องค์การบริหารส่วนตำบลลาดค่าง และองค์การบริหารส่วนตำบลแสงภา ซึ่งเมื่อรวมกับปี 2559 ที่มีองค์กรผ่านมาตรฐานและรับประกาศนียบัตร 14 องค์กร จะเท่ากับวันนี้ อพท.สามารถพัฒนา อพท.น้อย ได้ 25 องค์กร กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ