ThaiHand แพลตฟอร์มบริการ “นวด-สปา” ครบวงจร

ภูวดล มุ่งจิตธรรมมั่น
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“ThaiHand” ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรวบรวมร้านนวดและร้านสปา หนึ่งในธุรกิจสตาร์ตอัพของไทยที่ได้รับเงินลงทุนจากทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และนักลงทุนอิสระ (Angel Investor)

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ภูวดล มุ่งจิตธรรมมั่น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไทยแฮนด์ มาสสาจ จำกัด ถึงแนวคิดในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiHand ดังนี้

“ภูวดล” บอกว่า แพลตฟอร์ม ThaiHand เกิดจากหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเป็นผู้ที่หลงใหลในการนวดเพื่อสุขภาพ แล้วพบว่าร้านนวดที่ใช้บริการมีทักษะการนวดที่ดี ตั้งในทำเลที่เหมาะสม แต่ไม่มีลูกค้าเท่าที่ควรจะเป็น

จึงนำไปสู่การเปิดตัว “ThaiHand Massage” เพื่อช่วยยกระดับธุรกิจร้านนวด-สปา ให้การสนับสนุนด้านการตลาด ซึ่งในอุตสาหกรรมฮอสพิทาลิตี้ มีร้านนวด-สปารวมกันมากกว่า 10,000 ร้าน และประมาณ 98% เป็นธุรกิจ SMEs และตั้งเป้าล้างภาพจำว่าร้านนวดเป็นธุรกิจ “สีเทา”

“ภูวดล” บอกว่า ปัจจุบันธุรกิจร้านนวด-สปาคุ้นเคยกับการจองบริการผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ บ้างแล้ว แต่บางรายอาจยังมีความกังวลว่าแพลตฟอร์ม OTA อาจเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นที่สูง ThaiHand จึงต้องให้ความมั่นใจกับร้านนวดว่าข้อตกลงจะต้องเกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

ปัจจุบัน ThaiHand ให้บริการอยู่ 8 ภาษา เช่น อังกฤษ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เยอรมัน เกาหลี มลายู และภาษาไทยแต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นชาวไทย กลยุทธ์ของบริษัทต่อจากนี้คือรักษาฐานลูกค้ารายเดิม และเพิ่มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

โดยในส่วนตลาดจีนนั้นอาจใช้อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีน หรือพาร์ตเนอร์กับธุรกิจที่มีทัชพอยต์กับนักท่องเที่ยวชาวจีน เช่น ซิมการ์ด เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์ รวมถึงความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม 大众点评 หรือ Dianping แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหาร สปา ฯลฯ ของจีนในการประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ ยังมีแผนการเปิดให้บริการ Landing Page และหน้าเว็บให้ข้อมูลภาษาจีน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงประเทศไทยสามารถเปิดเข้าใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวได้

และด้วยพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มองหาการสัมผัสประสบการณ์มากขึ้น บริษัทจึงได้เปิดโรงเรียนสอนนวดแผนไทยให้กับชาวต่างชาติ โดยเปิดคอร์สอบรมระยะสั้น ใช้เวลาประมาณ 1.30 และ 3 ชั่วโมง หวังส่งต่อความเข้าใจเกี่ยวกับการนวดไทยให้ต่างชาติรับรู้

ผู้บริหารหนุ่มยังอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ปัจจุบันบริษัทจะให้บริการสู่ลูกค้ารายย่อย (B2C) เป็นส่วนใหญ่ แต่ในอนาคตเมื่อบริษัทมีข้อมูล Big Data มากขึ้น จะสามารถต่อยอดธุรกิจไปยังลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) มากขึ้น

เพราะธุรกิจ B2B มีโอกาสเติบโตเร็วกว่า และตอบโจทย์การฟื้นตัวของธุรกิจร้านนวด เช่น การกลับมาเปิดให้บริการ เชื่อว่านี่จะเป็นโอกาสผลักดันให้ ThaiHand เติบโตได้อีกมากผ่านการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านบริหารธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ

สำหรับเป้ารายได้นั้น “ภูวดล” บอกว่า ปี 2565 บริษัทมีธุรกรรมรวมในตลาด (GMV) ที่เติบโตจากปี 2564 ประมาณ 300% และในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานที่ยังใช้งานรายเดือน (Monthly Active User) อยู่ที่ประมาณเดือนละ 1 แสนราย


คาดว่าตลอดทั้งปี 2566 นี้ บริษัทจะมียอดธุรกรรมรวมในตลาดเติบโตมากกว่าปีที่แล้วถึง 3 เท่า จากการกลับมาองนักท่องเที่ยวและการเกิดขึ้นของธุรกิจ B2B พร้อมคาดหวังว่าปีนี้ “ThaiHand” จะเป็น Startup ที่ยืนได้ด้วยตนเอง