“ไทยแลนด์ อีลิท” ติดลม วันนี้…หมดปัญหาเรื่องการเงิน

เมื่อพูดถึง “ไทยแลนด์ อีลิท” หลายคนอาจมีคำถามว่า “บัตรเทวดา” ใบนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทยด้วยหรือ? บางคนก็มีคำถามว่า โครงการนี้ยังไม่เจ๊งอีกหรือ ? และอีกหลายต่อหลายคำถาม เพราะตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ล้มลุกคลุกคลาน เจอกับวิบากกรรมต่าง ๆ นานา อย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่อง “การเมือง” ส่งผลให้ “ขาดทุน” อย่างหนัก

แต่สถานการณ์ในวันนี้ องค์กรแห่งนี้กลับมาพลิกฟื้น และมีศักยภาพในการสร้าง “กำไร” ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วในปี 2560 ที่ผ่านมา

ชูจุดขาย residency visa

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “พฤทธิ์ บุปผาคำ” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (พีทีซี) ถึงแนวคิดในการบริหารจัดการ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแรงในอนาคตไว้ ดังนี้

“พฤทธิ์” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ถึงจุดเปลี่ยนของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด หรือ “ไทยแลนด์ อีลิท” นั้นเป็นผลจากการที่ได้เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ของโครงการมาเป็น “residency programs” พร้อมปรับภาพลักษณ์ให้ไทยแลนด์ อีลิท เป็นเสมือนตัวแทนของประเทศไทย มีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการดำเนินการด้านวีซ่าให้กับผู้ที่ต้องการอาศัยอยู่ในประเทศไทยระยะยาว ตั้งแต่ 180 วันขึ้นไปถึง 20 ปี

และสื่อสารให้ต่างประเทศเห็นว่า “ไทยแลนด์ อีลิท” คือ resident visa ของประเทศไทยเพียงรายเดียว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของแต่ละแพ็กเกจอย่างชัดเจน จากเดิมที่มุ่งเน้นเรื่องของการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายที่การดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มพรีเมี่ยมเข้ามาจับจ่ายในประเทศไทย

ลูกค้าใหม่พุ่งต่อเนื่อง

จากการปรับเปลี่ยนภาพลักาษณ์และแมสเสจดังกล่าว ทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปี 2560 ที่ผ่านมาบริษัทได้ลูกค้าใหม่เข้ามาถึง 1,040 คน ปีนี้จึงตั้งเป้ามีลูกค้าใหม่ไว้ที่ 1,100 คน ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขลูกค้าใหม่ที่เข้ามาเกินครึ่งทางแล้ว โดยเดือนที่ทำสถิติสูงสุดคือเดือนมกราคม 2561 เดือนเดียวมีลูกค้าใหม่เข้ามาถึง 156 คน คิดเป็นรายได้รวมที่ 108 ล้าน

“ในช่วงแรกเมื่อ 2 ปีก่อนตอนที่ผมมารับช่วงบริหารงาน รายได้ของไทยแลนด์ อีลิท อยู่ที่ประมาณเดือนละ 20 ล้านกว่า ๆ พวกเราขยับเป้าเป็น 40 ล้านบาทต่อเดือน พอได้ 40 ล้านบาทต่อเดือน และมีพาร์ตเนอร์ใหม่ ก็เพิ่มโปรดักต์ใหม่พร้อมขยับเป้ารายได้ไปที่ 70 ล้านบาทต่อเดือน กระทั่งทุกวันนี้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของเราอยู่ที่ 70-80 ล้านบาท”

“จีน-อังกฤษ-อเมริกา” ท็อป 3

ตัวเลขดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการ “ไทยแลนด์ อีลิท” ของลูกค้าจากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันสมาชิกอันดับ 1 คือ จีน มีสัดส่วนการถือครองอยู่ที่ 28% รองลงมาคือ อังกฤษ 15% ตามด้วย สหรัฐอเมริกา 11% ฝรั่งเศส 10% ญี่ปุ่น 9% ออสเตรเลีย 7% บังกลาเทศ 6% รัสเซีย 5% เยอรมนี 5% และอันดับ 10 คือ สวิตเซอร์แลนด์/อินเดีย 4%

ในส่วนของพาร์ตเนอร์นั้น “พฤทธิ์” บอกว่า ขณะนี้มี GSSA หรือ General Sales and Services Agents อยู่ที่ 24 ราย และก็มีบริษัท เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้าน citizenship (การขอสัญชาติ) และการพำนักระยะยาวที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสำนักงานและเครือข่ายกระจายอยู่กว่า 28 สำนักงานทั่วโลก เป็น concessionaire global partnership โดยเฉพาะในตลาดใหญ่ ๆ เช่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

พันธมิตรการขายแน่นปึ้ก

และล่าสุด บริษัทได้ตั้งเอเย่นต์มาเพิ่มอีก 1 ราย คือ IBC หรือ IBCAviation เป็นบริษัทที่ให้บริการไพรเวตเจ็ต ที่เข้ามาดูแลเพิ่มในส่วนของตลาดยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เบลเยียมโมนาโก สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศในกลุ่ม French territories speaking อย่างอเมริกากลาง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ก็ได้ประสานเพื่อขอทำชาร์เตอร์ไฟลต์เข้ามาประเทศไทยแล้ว

“ที่ผ่านมาตลาดฝรั่งเศสเราอยู่อันดับ 4 เชื่อว่าหาก IBC แอ็กทีฟจริงจัง ตลาดยุโรปของเราเติบโตอย่างรวดเร็วแน่นอน”

ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของตลาดญี่ปุ่นนั้น บริษัทก็ยังคงเร่งทำการตลาดเต็มที่เช่นกัน โดยในสัปดาห์นี้จะมีงาน Long Stay Foundation หรือ LSF ที่กรุงโตเกียว โดย LSF นี้เป็นหน่วยงานรัฐบาลเหมือนไทยแลนด์ อีลิท มีหน้าที่หาประเทศหรือเดสติเนชั่นใหม่ให้คนญี่ปุ่นที่ต้องการจะไปอยู่นอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

“ในอดีตที่ผ่านมา มาเลเซียเป็นตลาดที่ได้มาร์เก็ตแชร์ญี่ปุ่นไปเยอะมาก แต่หลังจากที่เราทำงานร่วมกันกับ LSF มา 2 ปี พบว่ามีความต้องการของคนญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทยในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่ตัวเลขญี่ปุ่นเข้ามาเลเซียปรับตัวลดลง

“พฤทธิ์” ยังบอกด้วยว่า จากปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อคนทั่วโลกเริ่มรู้จักคอนเซ็ปต์ของ “ไทยแลนด์ อีลิท” ว่าคืออะไรดีขึ้น ผลที่ตามมาคือ ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

มั่นใจโปรดักต์ดีที่สุดในโลก

พร้อมย้ำว่า “ไทยแลนด์ อีลิท” เป็นโปรดักต์เดียว หรือเป็นประเทศเดียวในโลกที่ให้ resident visa พร้อมพริวิลเลจที่มีให้เลือกแบบหลากหลาย ครอบคลุมทุกความต้องการของนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และผู้ที่ต้องการเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศเป็นระยะเวลานาน ๆ

และด้วยโปรดักต์ที่หลากหลายที่บริษัทพยายามสร้างขึ้นมาให้สอดรับความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ความต้องการของคนจากทั่วโลกสนใจเข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับประเทศ

“ลองคำนวณคร่าว ๆ ว่า ปัจจุบันไทยแลนด์ อีลิท มีสมาชิกกว่า 5,000 ราย แอ็กทีฟจริง ๆ อยู่ที่ประมาณ 4,500 ราย ถ้าแต่ละรายมีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ล้านบาท จะสร้างรายได้ให้ประเทศไทยรวมที่ราว 45,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ล้วนสร้างจีดีพีให้กับประเทศ”

สำหรับปีนี้คาดว่าบริษัทน่าจะมีสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 1,300-1,400 คน หรือเฉลี่ยที่ราว 110 คนต่อเดือนขึ้นไป พร้อมทั้งตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 700 ล้านบาท แต่เมื่อผ่านมา 5 เดือน พบว่าบริษัทมีรายได้เกิน 400 ล้านบาทแล้ว ทำให้คาดว่าตัวเลขรายได้รวมปีนี้จะขยับไปได้ถึงกว่า 800 ล้านบาท

จากตัวเลขรายได้และจำนวนสมาชิกใหม่ที่เข้ามานี้ ทำให้บริษัทเชื่อมั่นอย่างมากว่าจะสามารถล้างการขาดทุนสะสมที่ยังมีอยู่กว่า 700 ล้านบาท ได้ทั้งหมดภายใน 3-4 ปีข้างหน้านี้

พร้อมยืนยันว่า ณ วันนี้ “ไทยแลนด์ อีลิท” หมดปัญหาเรื่องการเงินแล้ว เพราะทีมบริหารได้คำนวณต้นทุนการบริหารงานตามอายุของบัตร มีกำไรเท่าไหร่ค่อยตัดมาเป็นค่าบริหารงาน

นั่นหมายความว่า หากเกิดเหตุที่เลวร้ายขึ้น หรือมีความจำเป็นต้องปิดบริษัท หรืออย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ถือบัตร “ไทยแลนด์ อีลิท” ทุกคนมีบริการรองรับตามเงื่อนไขเดิมตอนซื้อบัตรจนกว่าอายุบัตรจะสิ้นสุดแน่นอน…