แอสเซนด์ แทรเวิล ชูแพลตฟอร์มท่องเที่ยวเจาะ B2B

เกริกพงศ์ งาทวีสุข
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ตลาด OTA หรือ Online Travel Agent บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย Global Data ประเมินไว้ว่า ในปี 2566 นี้ OTA ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตกว่า 40% และมีมูลค่าทั่วโลกราว 3.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการฟื้นตัวได้ตามแนวโน้มการเดินทางที่เริ่มฟื้นกลับมา

สำหรับประเทศไทยนั้นนอกจากจะมี OTA ต่างชาติที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่แล้ว แต่ก็มีผู้เล่นรายใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการทรานส์ฟอร์มธุรกิจกลุ่มดิจิทัลและสตาร์ตอัพ

“เกริกพงศ์ งาทวีสุข” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอสเซนด์ แทรเวิล จำกัด (Ascend Travel) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวทาง มุมมอง ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม OTA หรือ Online Travel Agency สัญชาติไทย ดังนี้

สัญญาณท่องเที่ยวฟื้น

“เกริกพงศ์” บอกว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวประเทศไทยอยู่ในระหว่างการฟื้นตัว เห็นได้จากข่าวการเปิดเที่ยวบินของสายการบินต่าง ๆ หากไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ การท่องเที่ยวไทยในครึ่งปีหลังมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นแน่นอน

ในทางกลับกันผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อยยังเจอความท้าทายในการประกอบกิจการ ต่างจากธุรกิจรายใหญ่ที่ยังสามารถพลิกฟื้นได้ อีกทั้งแรงงานภาคการท่องเที่ยวยังขาดแคลน ธุรกิจบางรายอาจไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มที่ ซัพพลายภาคการท่องเที่ยวอาจไม่สอดรับกับความต้องการออกเดินทาง

“ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเราสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือและทดแทนฝั่งปฏิบัติการ หรือ operation แล้วกระจายแรงงานไปในส่วนของการบริการมากขึ้น”

ชูเทคท่องเที่ยวเจาะ B2B

“เกริกพงศ์” เล่าว่า ประเทศไทยมีผู้ให้บริการ OTA (Online Travel Agency) หลายราย แต่ไม่มีแพลตฟอร์มของคนไทยรายใดที่มุ่งเน้นตลาดลูกค้าธุรกิจ (B2B) โดยตรง ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงพัฒนา Ascend Travel แพลตฟอร์มที่ให้บริการดูแลการเดินทางเพื่อธุรกิจ การเดินทางพักผ่อนของพนักงานในแต่ละองค์กร เช่น การจองที่พัก บัตรโดยสารสายการบิน ฯลฯ

โดยปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรภาคธุรกิจที่ใช้งานแพลตฟอร์มอยู่กว่า 200 องค์กร

ประกอบกับโรงแรมขนาดเล็กในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือมีความต้องการเข้าพักน้อย อาจถูกละเลยจากแพลตฟอร์มรายใหญ่ Ascend Travel จึงเห็นโอกาสเข้ามาเป็นตัวกลางประสานงาน เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้ดูแลโรงแรมรายย่อย แล้วนำโรงแรมดังกล่าวขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มที่จับลูกค้ารายย่อย (B2C) ต่อไปได้

“เราเป็นเหมือนผู้ค้าส่งช่วยกระจายสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ที่ไม่ได้มีอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ได้มากนัก”

โดยจุดเด่นที่ Ascend Travel ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจ เกิดจากแพลตฟอร์มดังกล่าวพัฒนาภายใต้บริษัทของคนไทย ทำให้สามารถออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าได้ และยังมีโซลูชั่นในการจัดการใบกำกับภาษี ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการทำงานของลูกค้าได้

เชื่อมต่อรายย่อยกับรายใหญ่

“เกริกพงศ์” บอกอีกว่า Ascend Travel ต้องการเป็นตัวแทนที่เชื่อมต่อผู้ประกอบการรายย่อยกับธุรกิจรายใหญ่แล้วเชื่อมต่อไปยังลูกค้ารายย่อย หรือ (B2B2C) ซึ่งเป็นการนำผู้ประกอบการรายย่อยไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น

เช่น Ascend Travel เป็นผู้เชื่อมต่อกับโรงแรมรายย่อย จากนั้นเชื่อมต่อข้อมูลดังกล่าวไปยังแพลตฟอร์ม OTA ขนาดใหญ่ ซึ่งเจาะตลาดและมุ่งเป้าขายสินค้าแก่ลูกค้ารายย่อย

และให้ความสำคัญกับตลาด B2B เป็นสำคัญ เนื่องจากเห็นว่าในประเทศไทยยังมีขนาดไม่ใหญ่นัก ขณะที่พื้นที่อื่นบนโลกมีแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวเจ้าตลาดที่ค่อนข้างชัดเจน ผู้เล่นรายใหม่แข่งขันทางการตลาดได้ยาก หากเข้าทำตลาดก็เป็นเหมือนการ “เผาเงินทิ้ง” และอาจเป็นวิถีทางไม่ยั่งยืน

ผู้บริหาร Ascend Travel ยังบอกด้วยว่า บริษัทมีความพร้อมเปิดให้บริษัท-สตาร์ตอัพการท่องเที่ยวอื่น เชื่อมต่อกับ Open API ซึ่งมีข้อมูลอยู่กว่า 40,000 ที่พัก สามารถนำไปต่อยอดหรือเริ่มต้นธุรกิจได้ทันที เช่น ในอนาคตอาจมีบริษัทที่สามารถนำข้อมูลนี้ไปต่อยอด สร้างโซลูชั่นทางธุรกิจให้ลูกค้าทางธุรกิจสามารถจองรถ เรือ ที่พัก ได้พร้อมกัน

“ปัจจุบันเรายังเปิดรับพันธมิตร เช่น บริษัททัวร์ โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อขยาย ecosystem ให้ลูกค้าในวงจรสามารถเชื่อมต่อไปยังบริการที่มากขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้ามีธุรกรรมรวมในตลาดที่ 500 ล้านบาท”

สตาร์ตอัพไทย (ยัง) เหนื่อย

“เกริกพงศ์” บอกอีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์สตาร์ตอัพในไทยเริ่มเข้าสู่ “ภาวะที่เหมาะสม” คือ ผู้ลงทุนเริ่มมองว่าธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ และลดความสำคัญกับการมองหาจำนวนผู้ใช้งาน แล้วหวังการระดมทุนเพียงอย่างเดียว และพบว่าอุปสรรคของการดำเนินงาน คือ สตาร์ตอัพของไทยยังเผชิญข้อจำกัดด้านกฎหมาย ระเบียบ ทำให้บางรายอาจเลือกจดทะเบียนในต่างประเทศ

ในฝั่งของบริษัทเทคโนโลยีการท่องเที่ยวต้องสร้างระบบนิเวศธุรกิจกันเอง และอัตราส่วนกำไรในการประกอบกิจการอาจไม่สูงนัก เนื่องจากมีตัวเปรียบเทียบอยู่จำนวนมาก

ฝากรัฐสางปม พ.ร.บ.โรงแรม

ผู้จัดการทั่วไปบริษัทแอสเซนด์ แทรเวิล เสนอด้วยว่า เพื่อแก้ปัญหาของภาคธุรกิจท่องเที่ยว รัฐบาลใหม่ควรพิจารณาสางปมปัญหา พ.ร.บ.โรงแรม ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์กับการประกอบกิจการโรงแรมปัจจุบัน ประกอบกับมีความยุ่งยากในการขออนุญาต

“วันนี้แม้ที่พักหลายแห่งต้องการจดทะเบียน แต่ด้วยข้อกำหนดบางประการ ทำให้ไม่สามารถจดแจ้งได้ ทำให้อาจมีปัญหาในยามที่ต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐ”

และฝากด้วยว่า ในมุมของบริษัทด้านเทคโนโลยีการท่องเที่ยวนั้น อยากฝากให้รัฐบาลออกนโยบายหรือมาตรการที่สนับสนุนให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มรายใหญ่จากต่างประเทศ เช่น นักท่องเที่ยวที่จองที่พักผ่านแพลตฟอร์มของไทย อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เป็นต้น

โดยเปลี่ยนจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวจับมือกันเพื่อไปเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเป็นภาครัฐ เป็นผู้เดินเข้าหาเอกชน ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเอกชน สนับสนุนส่งเสริมให้ภาคการท่องเที่ยวเติบโตขึ้น