“ไทยแอร์เอเชีย” ไล่กวาด “มาร์เก็ตแชร์” อันดับ 1 ทุกตลาด

ไทยแอร์เอเชีย

สัมภาษณ์

ท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมาที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยถึง 35.4 ล้านคน บวกกับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยอีกถึง 153 ล้านคน-ครั้ง ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีรายได้ถึง 2.78 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา

แต่หากโฟกัสดูเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสายการบินนั้นกลับพบว่า บริษัทสายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับมีตัวเลข “กำไร” ที่ลดลงทุกค่าย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ถึงตัวแปรที่ทุบกำไรของธุรกิจสายการบิน รวมถึงทิศทาง มุมมอง การดำเนินงานในปี 2561 ไว้ดังนี้

Q : ปีที่ผ่านมาตัวเลขกำไรเราดีขึ้น แต่กำไรลดลงนั้นเป็นผลจากปัจจัยอะไรบ้าง

ราคาน้ำมันอย่างเดียวเลยครับ…แต่สำหรับไทยแอร์เอเชียแม้ว่ากำไรจะลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงเป็นโลว์คอสต์เจ้าเดียวที่การดำเนินงานยังคงมีกำไรอยู่

ถ้าเราคิดราคาน้ำมันในอัตราเท่ากับปี 2559 ผลประกอบการในปี 2560 จะพบว่าตัวเลขกำไรของเราจะอยู่ในระดับเดียวกัน คือประมาณ 1,850 ล้านบาท แต่ในปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันโลกขยับไปที่ 63 เหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 52 เหรียญสหรัฐ ทำให้ต้นทุนต่างกันเยอะพอสมควร

สำหรับไทยแอร์เอเชียเราพูดได้ว่าในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขยอดขายหรือรายได้รวม และจำนวนผู้โดยสารของเราไม่เคยพลาดเป้าเลยสักปีเดียว ดังนั้น ตัวแปรเดียวที่มีผลต่อ “กำไร” คือ ราคาน้ำมันที่ขึ้นลงต่างกัน

อย่างในปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นมาอยู่ในระดับกลาง ๆ เราก็ยังไม่ได้เก็บค่าฟิวเซอร์ชาร์จ (fuel surcharge) หรือค่าธรรมเนียมน้ำมัน แต่ถ้าราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปสูงกว่านี้เราก็อาจต้องเก็บค่าฟิวเซอร์ชาร์จเพิ่ม

วันนี้เรามีกำไรน้อยลงไปก็จริง แต่ได้อยู่ในระดับนี้ก็แฮปปี้แล้ว เพราะถ้าเราเก็บ ค่าฟิวเซอร์ชาร์จจะทำให้ราคาตั๋วแพงขึ้น ก็จะทำให้ผู้โดยสารเดินทางน้อยลงกว่านี้ก็ได้

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่รัฐบาลประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินตั้งแต่ต้นปี ทำให้สายการบินทุกแห่งแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากไปอีก พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเราขายตั๋วโดยสารที่ 1,000 บาท เดิมเราจะได้ 1,000 บาท แต่หลังจากปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเราเหลือแค่ 850 บาทเท่านั้น เราต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มอีก 150 บาท ซึ่งสำหรับโลว์คอสต์แล้วแบกรับ 20 บาทก็มองว่าเหนื่อยแล้ว ขณะที่การแข่งขันก็ยังคงรุนแรงเช่นเดิม ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ไปกันใหญ่

Q : มองภาพรวมของไทยแอร์เอเชียปีนี้อย่างไร จะโฟกัสตลาดไหน

ในปีที่ผ่านมาทั้งปีเรามีจำนวนผู้โดยสารที่ 19.8 ล้านคน สูงกว่าเป้าที่วางไว้ที่ 19.3 ล้านคน ได้เพิ่มมากประมาณ 6 แสนคนก็คือว่าแฮปปี้มาก

ส่วนปีนี้เราตั้งตัวเลขผู้โดยสารรวมไว้ที่ 23.2 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้น 17% เนื่องจากปีนี้เรารับเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมอีก 7 ลำ จากเดิมที่วางไว้ที่ 6 ลำ ที่สำคัญเครื่องบินได้ทยอยเข้ามาประจำฝูงบินในช่วงต้น ๆ ปีถึง 3 ลำ ทำให้สามารถใช้งานได้เต็มปี ส่วนที่เหลืออีก 4 ลำคาดว่าจะเริ่มเข้ามาช่วงปลาย ๆ ไตรมาส 3 รองรับช่วงไฮซีซั่นปลายปีพอดี

“ปีนี้เรามีเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมจำนวนมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เพราะเราอยากปิดรอยรั่วของตลาดในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน หรือ CLMV ให้หมด ตอนนี้ก็เริ่มศึกษาและทยอยเปิด โดยล่าสุดเราเพิ่งเปิดบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ระนอง ล่าสุดกำลังจะเปิดกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ชุมพร ในวันที่ 25 มีนาคมนี้” เป็นต้น

ส่วนตลาดประเทศเพื่อนบ้าน หรือ CLMV ก็มีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่สู่เวียดนามอีก 2 แห่ง และเมียนมาอีก 1-2 เมือง ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นในช่วงกลางปี หรือช่วงปลายไตรมาส 3 นี้

และอีกตลาดหนึ่งที่เราให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่คือ อินเดีย โดยปีนี้น่าจะเพิ่มได้อีกประมาณ 2 เมืองในช่วงกลางปีนี้ จากปัจจุบันนี้ที่เปิดให้บริการไปแล้ว 5 เมือง

ตอนนี้มาร์เก็ตแชร์จำนวนผู้โดยสารของไทยแอร์เอเชียเป็นอันดับ 1 ในเกือบทุกตลาด ทั้งตลาดในประเทศ จีน ซีแอลเอ็มวี รวมถึงอินเดีย

Q : วางสัดส่วนผู้โดยสารในแต่ละตลาดไว้อย่างไร

ปีนี้เราวางเป้าจำนวนผู้โดยสารไว้ที่ 23.2 ล้านคน ตลาดหลักของเรายังคงเป็นตลาดโดเมสติก หรือภายในประเทศเป็นหลัก CLMV ประมาณ 20% อินเดียประมาณ 10% ส่วนตลาดจีนที่ผ่านมาเรามีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 20%

ในส่วนตลาดจีนของไทยแอร์ฯตอนนี้แม้ว่าจะมีสัดส่วน 20% หรือประมาณ 4 ล้านคนในปีที่ผ่านมานั้น คิดเป็นรายได้รวมประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งเราจะพยายามรักษาสัดส่วนทั้งผู้โดยสารและรายได้ให้ไว้ในระดับใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะเปิดเส้นทางใหม่ไปจีน 2 เมืองในปีนี้ ก็ต้องเปิดเส้นทางสู่อินเดีย และใน CLMV เพิ่มด้วย เพื่อบาลานซ์สัดส่วนให้รายได้ และไม่ให้ธุรกิจมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไปด้วย

Q : ประเมินราคาน้ำมันในปีนี้อย่างไร

เริ่มต้นปีนี้มาราคาน้ำมันยังค่อนข้างนิ่ง ๆ ไม่ลดและก็ไม่เพิ่มมากนัก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70-75 เหรียญสหรัฐ แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าปี 2560

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในระดับนี้ ไทยแอร์เอเชียก็ยังมีนโยบายว่าจะยังไม่เก็บค่าฟิวเซอร์ชาร์จ เพราะธุรกิจก็ยังคงแข่งขันสูงอยู่ แต่เราคิดว่ายังบริหารจัดการได้ แม้กำไรจะไม่ได้มากมายแต่ก็ไม่ได้น้อยเกินไป

ส่วนตัวมองว่าปัจจัยที่น่ากังวลสุดในปีนี้ยังคงเป็นราคาน้ำมัน ซึ่งต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งบางส่วนเราก็เติมน้ำมันจากต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ก็มีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย แต่ธุรกิจเราก็ใช้วิธีรับเงินต่างประเทศมาเราก็เอาไปจ่ายเป็นค่าเช่าเครื่องและค่าน้ำมัน ไม่ได้แลกเปลี่ยนมากมายนัก และค่าเงินที่แข็งขึ้นที่เราก็ไม่ได้เสียประโยชน์ เพราะเคยคำนวณว่าค่าเงินที่แข็งขึ้นทุก 1 บาทเราสามารถเอาไปจ่ายชดเชยค่าน้ำมันได้ประมาณ 4 เหรียญสหรัฐ

Q : วางเป้าหมายด้านกำไรปีนี้อย่างไรบ้าง

ผมว่าสถานการณ์ปีนี้แตกต่างจากปีที่แล้ว เพราะเรามีเวลาที่จะปรับแผนรับมือ ที่สำคัญผมว่าราคาตั๋วโดยสารปีนี้ก็คงไม่มีใครดัมพ์แข่งกันได้มากนัก ทำให้อาจจะมีปรับขึ้นได้สักประมาณ 5% เพราะปีที่แล้วราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยถูกมาก อย่างของไทยแอร์เอเชียเฉลี่ยอยู่ที่ 1,560 บาทต่อเที่ยว ปีนี้เรามองว่าจะทำให้ได้ประมาณ 1,650 บาทต่อเที่ยว

ดังนั้น ผมเชื่อมั่นว่าโดยรวมแล้วปีนี้ “กำไร” ของไทยแอร์เอเชียจะดีกว่าปีที่แล้วแน่นอน ส่วนจะดีเท่าไหร่ต้องไปรอดูกันอีกที…