ธุรกิจ”การบิน”ไทยโตพุ่ง “ทีจี” รับมอบ A350 เสริมทัพบินไกล

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสร่วมเดินทางกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปยังเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อรับมอบเครื่องบิน “แอร์บัส A350-900” ลำที่ 11 จากทั้งหมด 12 ลำ ได้รับนามพระราชทานว่า “ชุมพลบุรี” หลังแอร์บัสได้ทำการส่งมอบ A350 ลำแรกไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2559 ที่ผ่านมา

สำหรับเครื่องบินตระกูล “แอร์บัส A350 XWB” ประกอบด้วย เครื่องบิน 2 ขนาด ได้แก่ A350-900 รองรับผู้โดยสารได้ 325 ที่นั่ง และ A350-1000 รองรับผู้โดยสารได้ 366 ที่นั่ง ถือเป็นตระกูลเครื่องบินลำตัวกว้างทรงประสิทธิภาพรุ่นล่าสุด ประหยัดทั้งเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาถึง 25% เมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นอื่นขนาดใกล้เคียงกัน ทั้งยังมีความทันสมัย และสามารถมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะเรื่องของความเงียบภายในห้องโดยสารที่ดีมาก ควบคู่ไปกับความกดอากาศภายในห้องโดยสารที่ไม่สูง ระบบกำหนดแสงสี (ไลติ้ง) และอื่น ๆ

โดยการบินไทยได้นำ A350 มาใช้บินเส้นทางหลัก ทั้งในและข้ามทวีปที่มียอดผู้โดยสารหนาแน่น เช่น กรุงโรมมิลาน บรัสเซลส์ เมลเบิร์น ดูไบ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โตเกียว โอซาก้า โซล สิงคโปร์

“บินไทย” ลูกค้ารายใหญ่”

“วาเนสซ่า เฌอคองเซเซอครี” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเครื่องบิน แอร์บัส A350 XWB ลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทแอร์บัส บอกว่า ปัจจุบัน “การบินไทย” มีเครื่องบินแอร์บัสที่ปฏิบัติการอยู่ 54 ลำ แบ่งเป็น A350 จำนวน 11 ลำ, A380 จำนวน 6 ลำ, A330 จำนวน 17 ลำ และ A320 นำไปใช้บินในเส้นทางของไทยสมายล์ จำนวน 20 ลำ และเหลือเครื่องบิน A350-900 ที่จะส่งมอบอีก 1 ลำ ซึ่งเป็นลำที่ 12 ของการบินไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561

สำหรับภาพรวมกำหนดของการส่งมอบเครื่องบินแอร์บัส A350 XWB ของแอร์บัส จากจำนวนคำสั่งซื้อ 854 ลำนั้น ได้ส่งมอบไปแล้ว 154 ลำ แก่ลูกค้า 17 ราย ทั้งสายการบินและบริษัทให้เช่าเครื่องบิน เหลืออีก 700 ลำที่อยู่ระหว่างการผลิตเพื่อส่งมอบต่อไป โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการผลิตและส่งมอบได้ทั้งหมดในอีก 7 ปีข้างหน้า

A350 XWB ตระกูลยอดนิยม

“เครื่องบิน A350 XWB ถือเป็นตระกูลที่ได้รับความนิยมจากสายการบินในเอเชียอย่างมาก มีลูกค้าถึง 14 ราย สั่งซื้อแล้ว 287 ลำ หรือคิดเป็น 35% ของคำสั่งซื้อทั้งโลก และในจำนวนดังกล่าวเป็นของการบินไทย 12 ลำ เพราะเป็นเครื่องบินพิสัยไกล ใช้น้ำมันน้อยกว่าเครื่องบินรุ่นก่อน สามารถนำไปทำการบินจากเอเชียไปยังยุโรปและอเมริกา ทำให้ต้นทุนการดำเนินการที่ดีขึ้น 25% ทั้งเรื่องมิติการประหยัดน้ำมัน การซ่อมบำรุง และการบินและเครื่องช่วยเดินอากาศ”

“บอร์น่า เวอร์โดยัค” หัวหน้าสื่อสารการตลาด ลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท แอร์บัส เล่าว่า แอร์บัสให้ความสำคัญกับตลาด “เอเชีย” เพราะถือเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของธุรกิจการบินอย่างมาก

โดยเฉพาะประเทศไทย ปัจจุบันมีเครื่องบินพาณิชย์ของทุกสายการบินในไทยรวมกันมากกว่า 500 ลำแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 1,300 ลำ ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า มีทั้งเครื่องบินใหม่ที่เข้ามาและแทนที่เครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง

ลงทุนอู่ตะเภาหนุนไทยฮับเอเชีย

ส่วนเรื่องที่รัฐบาลไทยเร่งพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และยกให้อุตสาหกรรมด้านการบินเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยขณะนี้ทางแอร์บัสและการบินไทยอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการร่วมลงทุนธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านการบินอย่างครบวงจรแห่งเอเชีย

“ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสำหรับการเป็นฮับการบินของเอเชียอย่างมาก มองว่าสิ่งที่ควรจะทำคือการเร่งวางแผนล่วงหน้าให้ชัดเจน เพื่อรองรับโอกาสและแนวโน้มของธุรกิจการบินที่มีแต่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ไม่มีลดลงแน่นอน”

จับตา “เครื่องใหญ่” กำลังมา

โดยจะมีการเติบโตเป็นเท่าตัวในทุก ๆ 15 ปี จึงต้องมีการคิดและวางแผนล่วงหน้าเพื่อรองรับความหนาแน่นดังกล่าว โดยเฉพาะเที่ยวบินระยะไกลที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และกรุงเทพฯ ถือเป็น 1 ใน 85 เมืองใหญ่หรือเมกะซิตี้ ซึ่งเป็นจุดหมายของนักเดินทางทั่วโลก ทำให้ในอนาคตสนามบินต่าง ๆ อาจมีสลอตหรือตารางเวลาบินไม่เพียงพอต่อความต้องการของสายการบิน

หนุนให้แอร์บัส “คิดล่วงหน้า” ไว้แล้วว่า สายการบินมีแนวโน้มต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น จึงได้ผลิตเครื่องบินตระกูลแอร์บัส A350 XWB ออกมานั่นเอง!