“ปิยะ ยอดมณี” ขอเวลา เรียกคืนความเชื่อมั่น “นกแอร์”

หลังจากเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ สายการบินนกแอร์ เมื่อกลางเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่ของ “ปิยะ ยอดมณี” ในห้วงเวลานี้ไม่ใช่เพียงแค่ การบริหารจัดการเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อพลิกฟื้น (turn around) สายการบินแห่งนี้เท่านั้น เพราะนับตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา นกแอร์ประสบปัญหาในด้าน “ความเชื่อมั่น” อย่างหนัก โดยเฉพาะในประเด็น “ดีเลย์” และปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์พูดคุยกับ “ปิยะ ยอดมณี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ ถึงผลการดำเนินงานในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหาและเรียกคืนความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค ไว้ดังนี้

“ปิยะ” บอกว่า จากตัวเลขผลประกอบการในช่วงต้นปีที่ผ่านมาพบว่า นกแอร์มีทิศทางที่เป็นบวกมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากแผนฟื้นฟูธุรกิจและการผลักดันองค์กรให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

โดยนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560-กุมภาพันธ์ 2561 นกแอร์มีผลกำไรสุทธิที่ 104.71 ล้านบาท เป็นการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขาดทุน 317.60 ล้านบาท และมีรายได้รวม 4,370 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ส่วนปริมาณผู้โดยสารนั้นมี 2.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.1% และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ cabin factor เพิ่มขึ้นจาก 86% เป็น 93% โดยเส้นทางสู่ประเทศจีนมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 182.9% หรือจาก 83,190 คน เป็น 235,303 คน ซึ่งเป็นผลจากการเร่งขยายการบริการในรูปแบบเช่าเหมาลำสู่ประเทศจีนนั่นเอง

ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินลดลง 31.6% ทำให้ค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินอยู่ในอัตรา 16% ของต้นทุนรวมของสายการบินลดลงจากเดิมที่อยู่ระดับ 23% ไม่เพียงเท่านี้ “นกแอร์” ยังมีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเพิ่มขึ้น 23.1% หรือคิดเป็น 9.96 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวัน จากเดิมที่มีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำอยู่ที่ 8.09 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวัน

“ปิยะ” ย้ำว่า จากสถิติดังกล่าวนี้สื่อให้เห็นว่า ความพยายามในการฟื้นความแข็งแกร่งทางการเงินเริ่มที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขตัวแปรที่สำคัญในหลายจุด ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการลดต้นทุนต่าง ๆ และการขยายเส้นทางบิน แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีการปรับตัวสูงขึ้น

“ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังดีขึ้นนี้ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้นกแอร์สะดุดเรื่องภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นบ้าง โดยเฉพาะเรื่องความไม่ตรงต่อเวลา เครื่องดีเลย์ เครื่องมีปัญหา ฯลฯ ค่อนข้างบ่อยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมา”

“ปิยะ” บอกว่า ขณะนี้ทีมบริหารได้ให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำอีก ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางเรื่องบางประเด็นที่ยังเป็นปัญหานั้นยังคงต้องขอเวลาในการพัฒนาและแก้ไข

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น นกแอร์ได้เลื่อนการปลดระวางเครื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคมออกไปอีกระยะหนึ่งจำนวน 2 ลำ เพื่อสำรองไว้ให้บริการทดแทนเครื่องที่อาจเกิดปัญหาขัดข้อง นอกจากนี้ยังเตรียมทำเทรนนิ่งพนักงานในส่วนงานบริการทุกส่วนงานในด้านการให้บริการ การสื่อสารกับลูกค้าในแต่ละกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์สุดวิสัยเกิดขึ้นพนักงานในทุกส่วนบริการจะต้องมีข้อมูลชี้แจงเพื่อให้ลูกค้ารู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีกระบวนการแก้ไขอย่างไร

นอกจากนี้ นกแอร์ยังมีแผนขยายเส้นทางบินไปสู่เมืองต่างๆ ของอินเดียด้วย โดยในเบื้องต้นทีมบริการจะทำการศึกษาเส้นทางเป้าหมายใน 7 เมืองหลักๆ แต่คาดว่าภายในอีก 1 เดือนจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งภายในปีนี้น่าจะเปิดบริการประมาณ 3 เมือง ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้เครื่องบินของนกแอร์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือเพิ่มเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน

“ปีนี้เราจะให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยบริหารเครื่องบินที่มีอยู่ให้ชั่วโมงการใช้งานเพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มเส้นทางบินหรือชาร์เตอร์ไฟล์ตไปสู่เมืองต่างๆ ของจีนและอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่จะบินในช่วงเวลากลางคืน ส่วนกลางวันเครื่องบินส่วนใหญ่จะบินเส้นทางในประเทศเป็นหลัก”

สำหรับแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่นั้น “ปิยะ” บอกว่า จะเริ่มตั้งแต่ปี 2562 จำนวน 2 ลำ และอีก 2 ลำในปี 2563 และอีก 4 ลำในปี 2564

จากแนวทางดังกล่าวนี้ ทำให้เชื่อว่าน่าจะทำให้ผลประกอบการรวมทั้งปีปรับตัวดีขึ้น โดยในปีนี้นกแอร์ตั้งเป้าเพิ่มรายได้รวมไว้ที่ 16,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจำนวน 2,800 ล้านบาท และมีจำนวนผู้โดยสารที่ 9.6 ล้านคน รวมถึงเพิ่มอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเป็น 93% จาก 86% ในปีที่ผ่านมา