ท่องเที่ยวหนุนไทย “เมืองช็อปปิ้ง” ลุ้นคลังเคาะฤกษ์เปิดจุดคืนแวตกลางห้าง

นักท่องเที่ยวต่างชาติเฮ! คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านท่องเที่ยวฯ หนุน 5 ห้างตั้งเคาน์เตอร์คืน VAT ในเมือง หนุนทัวริสต์ละลายเงินบาทกระตุ้นการใช้จ่ายในไทย ลุ้น “กรมสรรพากร” กำหนดวันดีเดย์เริ่มทดลองใช้ระบบ ด้าน “ททท.” และเอกชนท่องเที่ยว หวังเห็นการขยายจุดคืน VAT ในเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ พร้อมต่อยอดคลอดโมเดล tax-free shop เหมือนญี่ปุ่น ดันไทยเป็น “ช็อปปิ้ง พาราไดส์” แห่งเอเชียอย่างสมบูรณ์

คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ (การจัดประชุมสัมมนา ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และจัดแสดงสินค้า) ได้ผลักดันให้มีการใช้จ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปยังพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ผ่านการจัดตั้งเคาน์เตอร์คืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมือง (Downtown VAT refund counter) ให้นักท่องเที่ยวสามารถขอรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสนามบิน

รอสรรพากรเคาะวันดีเดย์

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้กำหนดจุดบริการทั้งหมดไว้ 5 จุด ได้แก่ สยามพารากอน, เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัล ชิดลม, เอ็มโพเรียม และโรบินสัน สุขุมวิท เนื่องจากต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วในช่วงทดลอง 6 เดือนแรก จึงเลือกจุดที่สะดวกในการดำเนินการและมีผู้ใช้บริการสูง โดยข้อมูลจากสมาคมค้าปลีกไทยระบุว่า 5 จุดดังกล่าวนี้จะครอบคลุมกว่า 70% ของ Vat refund ที่ใช้อยู่ตามห้างสรรพสินค้าทั้งหมด

“เรื่องขั้นตอนการทำงานทั้งระบบและสถานที่ถือว่าเรียบร้อยดี โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลองทดสอบภายใน เนื่องจากเราให้ทางล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ที่เป็นคนทำระบบ Vat refund ของกรมสรรพากรอยู่แล้วเป็นคนทำแพลตฟอร์ม ขณะนี้รอทางกรมสรรพากรออกระเบียบให้สอดคล้องกับที่ตกลงกันไว้ ส่วนจะดีเดย์เริ่มทดลองเปิดให้บริการได้จริงเมื่อไร ต้องขอรอให้ทางกรมสรรพากรเป็นผู้ยืนยันอีกครั้ง” นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับขั้นตอนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ 1.ซื้อสินค้าที่ร้านค้ามีตราสัญลักษณ์ VAT REFUND FOR TOURISTS โดยซื้อสินค้าจากร้านค้าเดียวกัน ไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อวัน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 2.ขอคืน VAT ณ Downtown VAT Refund Counter โดยแสดงใบกำกับภาษี แบบ ภ.พ. 10 และหนังสือเดินทาง โดยทาง VAT Refund Counter จะพิมพ์ใบสรุปการจ่ายคืน VAT ให้นักท่องเที่ยว 2 ฉบับ สำหรับเก็บไว้และยื่นให้เจ้าหน้าที่ที่สนามบิน

ทั้งนี้ การขอเงินคืนสามารถขอคืนเป็นเงินสดสกุลเงินบาทเท่านั้น โดยต้องขอคืนได้ไม่เกิน 12,000 บาทต่อคน และ 3. นำสินค้าไปแสดงต่อศุลกากรที่สนามบินขาออก เพื่อประทับตรารับรองในแบบฟอร์ม ภ.พ.10 โดยสินค้ามูลค่าเกิน 10,000 บาทขึ้นไป ต้องนำติดตัวผ่าน immigration เพื่อแสดงต่อสรรพากรอีก 1 ครั้ง

Tax-free Shop ดันเมืองช็อปปิ้ง

ด้านนายศุภฤกษ์ ศูรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด และนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การตั้งเคาน์เตอร์คืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองถือเป็นแนวคิดที่ดี เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถนำเงินที่ได้รับคืนไปใช้จ่ายต่อได้เลย ถ้าทำได้จริงจะถือว่าดีมาก ดีกว่าให้นักท่องเที่ยวไปทำเรื่องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สนามบิน เพราะบางทีนักท่องเที่ยวต้องรีบขึ้นเครื่องบิน บางทีคิวยาวจนรอไม่ไหว หรือนักท่องเที่ยวได้รับเงินแล้วก็นำกลับไปประเทศตนเองเลย ไม่ได้ใช้จ่ายในไทยต่อ

“ถ้าจะให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์แห่งการช็อปปิ้ง (ช็อปปิ้ง พาราไดส์) ต้องเร่งผลักดันให้มีการขยายร้านค้า Tax-free shop เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเลย เพราะถ้าทำได้ จะสนับสนุนให้ไทยเป็นช็อปปิ้ง พาราไดส์ อย่างแท้จริง จากเดิมที่เป็นอยู่แล้วในระดับเอเชีย เพราะมีจุดเด่นเรื่องความคุ้มค่าเงิน เมื่อเทียบกับฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดหมายที่มีค่าครองชีพสูง เป็นตัวแปรสำคัญต่อราคาสินค้าซึ่งในภาพรวมถือว่าแพงกว่าในไทย”

“เจแปนโมเดล” คืนเงินทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในโมเดลที่ถูกพูดถึง เพราะนอกจากจะยืนพื้นด้วยบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สนามบิน และการตั้งเคาน์เตอร์คืนภาษีในเมืองกระจายไปในหลาย ๆ ห้างสรรพสินค้าแล้ว ยังขยายจุดไปยังร้านค้าย่อยที่ติดป้ายตราสัญลักษณ์ Japan Tax-free shop ด้วย

โดยส่วนใหญ่ร้านค้าที่มีป้ายสัญลักษณ์ดังกล่าวจะกระจายอยู่ในย่านช็อปปิ้งชื่อดังที่มีนักท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่จำนวนมาก เช่น ชิบุยะ ชินจูกุ กินซ่า อุเอะโนะ ในกรุงโตเกียว และพนักงานจะคิดราคาสินค้าแบบไม่บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 8% ให้ทันที ในกรณีที่นักท่องเที่ยวแสดงหนังสือเดินทาง และซื้อสินค้าในราคารวมมากกว่า 5,000 เยนขึ้นไปต่อบิล (หรือประมาณ 1,500 บาท) และอยู่ในหมวดหมู่สินค้าที่กำหนด เช่น สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค

โมเดลดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นโมเดลการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นอย่างมาก และสามารถนำเงินที่ได้รับจากการคืนภาษี ณ จุดขายไปใช้จ่ายต่อขณะท่องเที่ยวในญี่ปุ่นได้เลย