รี๊ดฯ ปรับโฉมงานแสดงสินค้า มุ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0

จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ระบุว่า ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจไมซ์ทั้งในและต่างประเทศในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมากว่า 1.5 แสนล้านบาท สร้างอัตราจ้างแรงงานมากกว่า 1.6 แสนตำแหน่ง และมีมูลค่าภาษีจากธุรกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังมีพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าโดยรวมติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชียอีกด้วย

ขณะที่รูปแบบการจัดงานต่าง ๆ ทั้งงานแสดงสินค้า งานประชุมสัมมนา ฯลฯ รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ ก็มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีและพฤติกรรม ความต้องการ ของทั้งในฟากของผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน

“งานแสดงสินค้า” หนุนธุรกิจโต

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ดวงเด็ด ย้วยความดี” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี๊ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้ารายใหญ่ของไทย ถึงแนวทางการพัฒนาการจัดงานแสดงสินค้าให้สอดรับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงสอดรับกับเทรนด์ของโลกไว้ดังนี้

“ดวงเด็ด” บอกว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้จัดงานแสดงสินค้า หรือเอ็กซิบิชั่นรายใหญ่ และเป็นโกลบอลคอมปะนี ประเมินว่าธุรกิจเอ็กซิบิชั่นยังเป็นเซ็กเมนต์ที่ยังเติบโตได้ในอัตราที่สูง และเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่รองรับการจัดงานมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน ที่สำคัญ แพลตฟอร์มการจัดงานของไทยกลายเป็นที่สนใจของกลุ่มผู้จัดงานในยุโรป อเมริกา รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในเซาท์อีสต์เอเชียไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะทีเส็บก็ให้การสนับสนุนอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจมีการใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวทั่วไป

โดยในปีที่ผ่านมาภาพรวมของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้ถึง 20%

ธุรกิจทั่วโลกขับเคลื่อนสู่ 4.0

“ดวงเด็ด” บอกอีกว่า ปัจจุบันกระแสทั่วโลกได้พูดถึงทฤษฎีของอุตสาหกรรม 4.0 มานานแล้ว ทั้งเยอรมนี อเมริกา ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นปรับตัวเพื่อสู้กับการแข่งขันของโลก ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้กำหนดแผนกลยุทธ์และแผนผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม โดยหัวใจหลักคือความพยายามในการทุ่มเทให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเริ่มต้นผลิตชิ้นงานที่มีมูลค่าสูงขึ้น และมีความถูกต้องแม่นยำ เมื่อเป็นแนวทางนี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนเครื่องจักรมาใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงขึ้น ซึ่งในประเด็นนี้คือเรื่องของการนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคการผลิต

รี๊ดฯปรับโฉมงาน ME-2018

“ดวงเด็ด” บอกว่า จากแนวโน้มนี้ทำให้ “รี๊ด เทรดเด็กซ์” ในฐานะผู้นำในธุรกิจจัดงานแสดงสินค้า และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับทุก ๆ ธุรกิจ รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ต้องปรับตัวเองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เพื่อให้งานแสดงสินค้าเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

โดยปีนี้ “รี๊ด เทรดเด็กซ์” ได้ทำการปรับรูปแบบการจัดงาน “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2018” หรือ (ME-เอ็มอี 2018) ให้เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และร่วมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ด้วยการเตรียมความพร้อมและสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ สำหรับสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการผลิตของไทย โดยใช้จุดแข็งของงานแสดงสินค้า

กล่าวคือใช้งานแสดงสินค้าเป็นเวทีนัดพบของผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนให้ได้มีโอกาสมาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ตรง รวมถึงการได้ลองได้สัมผัสเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

“ดวงเด็ด” บอกด้วยว่า สำหรับงาน “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2018” หรือ (ME-เอ็มอี 2018) ในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2561 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา บนพื้นที่ประมาณ 64,000 ตารางเมตร

“เราปรับโฉมให้เป็นงานแสดงโซลูชั่น เชื่อมโยงเทคโนโลยีการผลิตทึ่ครบวงจร และรองรับอุตสาหกรรมการผลิตทุกขนาดที่มีความมุ่งมั่นในการก้าวเข้าสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น และมีความถูกต้องแม่นยำสูง การทำงานอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ทำงานร่วมกับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเร่งการตัดสินใจของกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตชิ้นงาน และก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต”

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีนักเดินทางในกลุ่มธุรกิจเข้ามาร่วมงานประมาณ 8 หมื่นคน ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นนักเดินทางชาวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 7 พันคนไม่ใช่แค่ในส่วนของงานแสดงสินค้าเท่านั้นที่เปลี่ยนโฉมไปจากเดิม ในส่วนของงานสัมมนาก็จะลงเนื้อหาในเชิงลึก โดยจะโชว์เคสว่ามีใครที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และคนที่เปลี่ยนไปนั้นได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง และมองว่าอะไรบ้างที่ยังเป็นอุปสรรค ซึ่งในส่วนของอุปสรรคนั้นก็จะมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามารับฟังและนำไปดำเนินการด้วย

นอกจากนี้ยังมีสถาบันการเงินต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้เป็นงานที่เป็นวันสต็อปเซอร์วิสอย่างแท้จริง รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมชมงาน (customer experience) อีกด้วย

และนี่คือ แนวทางการนำ “งานแสดงสินค้า” มาใช้เป็นเครื่องมือตอบโจทย์และหาบทสรุปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงตัดสินใจเปลี่ยนผ่าน และก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลอย่างแท้จริง