“ดุสิต” พลิกตำรา…บุกรอบทิศ เร่งปูพรมโรงแรมครบทุกเซ็กเมนต์ !

นับตั้งแต่ “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จวบจนวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว หนึ่งในแผนธุรกิจที่ซีอีโอหญิงแย้มถึงตลอดคือ การเปิดตัวแบรนด์โรงแรมใหม่ เพื่อเติมพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มดุสิตฯ ให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์มากยิ่งขึ้น ล่าสุดได้ฤกษ์ดีเปิดตัวแบรนด์โรงแรมน้องใหม่ ภายใต้ชื่อ “อาศัย” (ASAI) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ถึงแนวคิดและทิศทางการบริหารโรงแรมในพอร์ตไว้ดังนี้

มุ่งสู่ 3 เป้าหมายหลัก

“ศุภจี” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ว่า ทิศทางกลยุทธ์ที่กลุ่มดุสิตฯเน้นมี 3 เป้าหมายคือ 1.สร้างสมดุลให้แก่พอร์ตโฟลิโอของธุรกิจมากขึ้น ทั้งในมุมของรายได้ภายในและภายนอกประเทศ การลงทุนด้วยตัวเองและรับบริหารโรงแรม 2.ขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างน้อย 3 เท่าตัว จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีโรงแรมที่เปิดให้บริการแล้วทั้งที่ลงทุนเองและรับบริหารรวม 27 แห่ง และเตรียมเปิดให้บริการเพิ่มอีกกว่า 70 แห่งทั่วโลกภายใน 4 ปีข้างหน้า

โดยในปี 2561 จะเปิดให้บริการโรงแรมใหม่อย่างน้อย 11 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียเป็นหลัก และ 3.กระจายความเสี่ยง โดยพยายามหาธุรกิจอื่นมาเสริมให้พอร์ตโฟลิโอมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

เพราะปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ของกลุ่มดุสิตฯ ยังมาจากโรงแรม แต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ลงทุนในธุรกิจอาหารเต็มรูปแบบ ด้วยการตั้งบริษัทย่อย “ดุสิต ฟู้ดส์” เข้าซื้อหุ้นประมาณ 26% ในบริษัทเอ็นอาร์อินสแตนท์โปรดิวซ์ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารแห้ง รวมถึงเครื่องปรุงรสให้กับบริษัทข้ามชาติชั้นนำ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 660 ล้านบาท

นับเป็นการลงทุนนอกธุรกิจโรงแรมครั้งแรกของกลุ่มดุสิตฯ โดยวางเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้ จะมีรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงแรมให้ครองสัดส่วน 10% ของรายได้ทั้งหมด

เล็งเจาะ “ไลฟ์สไตล์เซ็กเมนต์”

“ศุภจี” แจกแจงให้ฟังว่า ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีมี 4 แบรนด์โรงแรมให้บริการในกลุ่มฟูลเซอร์วิส ได้แก่ ดุสิตธานี ดุสิตดีทู ดุสิตปริ๊นเซส และดุสิต

เดวาราณา ที่ครอบคลุมตลาดทั้งระดับบนและระดับกลาง ยังไม่มีเซ็กเมนต์ใหม่ที่สำคัญอย่าง “ไลฟ์สไตล์” ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในตลาดโรงแรมมากขึ้น รวมไปถึงเซ็กเมนต์ “บัดเจต” ที่จริง ๆ แล้วควรมาก่อนแบรนด์ “อาศัย” ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปด้วยซ้ำ แต่ยังจบไม่ลง ซึ่งอาจจะเป็นการร่วมทุนกับบริษัทอื่นที่มีแบรนด์ในกลุ่มบัดเจตอยู่แล้วก็เป็นไปได้

และหลังจากปี 2560 กลุ่มดุสิตฯได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพด้านที่พักแบบแชร์อีโคโนมี “เฟฟสเตย์” แล้วเรายังมองการลงทุนในสตาร์ตอัพเจ้าของแพลตฟอร์มแชร์อีโคโนมีของต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการให้กับนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น

ส่ง “อาศัย” จับกลุ่มมิลเลนเนียล

“ศุภจี” ขยายความเพิ่มเติมถึงแบรนด์ใหม่อย่าง “อาศัย” ว่า บริหารอยู่ภายใต้บริษัท อาศัย โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ดุสิตฯถือหุ้น 100% เจาะนักเดินทางกลุ่มมิลเลนเนียลไลฟ์สไตล์ ซึ่งชื่นชอบการเดินทาง ใช้ชีวิตแบบไม่ยึดติดกรอบเดิม ๆ และเสาะหาประสบการณ์เที่ยวแบบคนในท้องถิ่น

ปัจจุบันโรงแรมแบรนด์ “อาศัย” อยู่ระหว่างการพัฒนา 6 แห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 2 แห่ง คือที่สาทรซอย 12 ลงทุนเองมูลค่า 470 ล้านบาท วางเป้าให้เป็นโรงแรมเรือธง (แฟลกชิป) ของแบรนด์อาศัย อีกแห่งคือที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โดยจะเปิดให้บริการได้เป็นแห่งแรกในช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 ส่วนอีก 4 แห่งในต่างประเทศนั้นมีที่ฟิลิปปินส์ 3 แห่ง และเมียนมา 1 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2562

“เรามีแผนขยายโรงแรมอาศัย 10 แห่งต่อปี ทั้งร่วมทุนและรับจ้างบริหาร ในระยะยาวแบรนด์อาศัยจะขึ้นเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนรายได้ของเรา โดยทำเลหนึ่งที่มองไว้ในการลงทุนเองคือ สมุย ซึ่งกลุ่มดุสิตฯมีที่ดินพร้อมพัฒนาราว 70 ไร่ เป็นจุดที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ที่มีโรงแรมหลายแบรนด์ รวมถึงเรซิเดนซ์และเวลเนสลิฟวิ่ง”

เล็งหารายได้ชดเชย “ดุสิตธานี”

สำหรับความคืบหน้าของโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่มูลค่ารวมกว่า 3.67 หมื่นล้านบาท ที่กลุ่มดุสิตฯร่วมทุนกับเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็นนั้น “ศุภจี” บอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแบบเพื่อนำไปขอ EIA ภายในครึ่งปีแรกนี้ ก่อนจะปิดให้บริการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 มกราคม 2562

อย่างไรก็ตาม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ปกติสร้างรายได้ในสัดส่วน 20% หรือประมาณ 800-900 ล้านบาทต่อปีให้กับกลุ่มดุสิตฯ ดังนั้นในช่วงที่ดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะปิดเพื่อพัฒนาใหม่ในช่วง 3 ปีนับจากที่ปิดให้บริการนั้น บริษัทได้เตรียมหารายได้ชดเชยด้วยการซื้อกิจการโรงแรมในต่างประเทศอย่างน้อย 1 แห่ง ในทำเลเมืองหลักระดับเกตเวย์ทั้งเอเชียและยุโรป โดยคาดว่าจะสามารถสรุปดีลได้ภายในปีนี้

เตรียมบุก “ญี่ปุ่น”

ซีอีโอหญิงแกร่งยังบอกด้วยว่า สำหรับประเทศที่ต้องการเข้าไปเปิดให้บริการโรงแรมมากที่สุดในตอนนี้คือ “ญี่ปุ่น” เพราะเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตจากทั้งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 28 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก ขณะที่ตลาดคนญี่ปุ่นเที่ยวในประเทศมีขนาดใหญ่ถึง 490 ล้านคน-ครั้งต่อปี ยังมีช่องให้เราเข้าไปได้

นอกจากนี้ ยังเป็นจุดหมายที่กลุ่มดุสิตฯยังไม่มีโรงแรมเปิดเลย โดยเฉพาะเมืองเป้าหมายในโตเกียวและโอซากา โดยเมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมทุนกับคัลเลอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ “ดุสิต คัลเลอร์ส” เพื่อจัดตั้งโรงแรมภายใต้แบรนด์ดุสิตในญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว ซึ่งถือเป็นเมืองแรกที่กลุ่มดุสิตฯ มองไว้สำหรับเปิดโรงแรมระดับ 5 ดาว