น้องใหม่ RubikTrips สู้ศึก OTA ดึงนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย

เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับ “รูบิกทริปส์” (RubikTrips) แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวครบวงจรสัญชาติไทยรายแรกของประเทศไทย หลังจากเตรียมตัวมากว่า 2 ปี

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ 2 ผู้บริหารหนุ่มอย่าง “ชาญวิทย์ วิทยฐานกรณ์” ประธานกรรมการบริหาร และ “ธีรพล อัศวธิตานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แห่งบริษัท เจนโทเชีย จำกัด ประเทศไทย เกี่ยวกับภาพรวมและกลยุทธ์การรุกเจาะธุรกิจตัวแทนขายสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ (online travel agent : OTA) ในตลาด “จีน” ซึ่งส่งออกคนไปเที่ยวต่างประเทศมากเป็นอันดับ 1 ของโลก

แพลตฟอร์มสัญชาติไทย

“ชาญวิทย์” เริ่มต้นเล่าว่า คอนเซ็ปต์ของ “รูบิกทริปส์” เป็นแพลตฟอร์มที่นักท่องเที่ยวสามารถจองและชำระเงินได้ภายในเวลาอันสั้น รวมถึงแนะนำโปรแกรมท่องเที่ยว และวางแผนการเดินทางให้ตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละบุคคล ผ่านเว็บไซต์ www.rubiktrips.com ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ กิจกรรม ระยะเวลา หรือแม้แต่ค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ยังมีแผนการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมและเป็นเอกลักษณ์ของไทยอีกด้วย เช่น การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน การท่องเที่ยวเชิงการศึกษาด้านมวยไทยและทำอาหารไทย รวมถึงการท่องเที่ยวในรูปแบบการพักผ่อนทั่วไป

มุ่งเจาะนักท่องเที่ยวจีน

ส่วนกลุ่มเป้าหมายจะเป็น “นักท่องเที่ยวจีน” ที่เดินทางแบบอิสระ (free independent traveler : FIT) เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มหลักที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนและผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในไทยให้เติบโต โดยรูบิกทริปส์ยังได้เชื่อมต่อกับ Wechat, Weibo, Youku ในการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ และมีโปรแกรม chatbot คอยให้ความช่วยเหลือหรือให้ข้อมูลต่าง ๆ

“ภาคธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นเซ็กเตอร์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน แต่ยังไม่มีค่อยมีแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจงในตลาดนัก รูบิกทริปส์จึงวางเป้าหมายเป็น “เกตเวย์” แบบ all in one ตั้งแต่ขั้นตอนการค้นหา จอง และทำธุรกรรมจ่ายเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวไม่ต้องข้ามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไปมา”

ขณะที่ “ธีรพล” เล่าเสริมว่า พอกำหนดลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งปัจจุบันนิยมเดินทางแบบเอฟไอที และมักมากับครอบครัวและเพื่อนฝูงกลุ่มเล็ก ๆ มากขึ้น เราจึงวางกลยุทธ์ด้วยการดึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวด้านต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม ต่างจากแพลตฟอร์มท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่เจาะลึกแต่ละด้านไปเลย เช่น ห้องพัก หรือตั๋วเครื่องบิน เพราะต้องการให้ชาวจีนที่ต้องการเที่ยวไทยหันมาจองบนแพลตฟอร์มเราแทน โดยชูจุดขายเรื่องสินค้าและบริการท่องเที่ยวของพันธมิตรผ่านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพจากหน่วยงานภาครัฐ และยังมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ใช่แค่แนวพักผ่อนทั่วไปเท่านั้น ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เพราะไทยมีจุดขายที่หลากหลายกว่าแค่สายการบินและโรงแรม

ผนึกพันธมิตรรอบทิศ

“รูบิกทริปส์” เป็นทั้ง medical hub, retirement & rehabilitation มีบริการด้าน wellness ในระดับโลก มีอาหารที่อร่อย ทั้ง 5 ดาวจนไปถึง street food มีจุดท่องเที่ยว unseen อีกมากที่ชาวต่างชาติยังไม่รู้จัก ตรงนี้เองเป็นจุดแตกต่าง เป็น “ช่องว่าง” ที่สามารถพัฒนาให้บริการได้

ปัจจุบันมีพันธมิตรโรงแรมกว่า 10,000 ราย สายการบินกว่า 300 แห่ง ผู้ให้บริการนำเที่ยวกว่า 300 ราย บริการด้าน medical ต่าง ๆ กว่า 1,000 รายการ แผนการเดินทางที่ครอบคลุม 23 จังหวัด ตลอดจนบริการจัดงานแต่งงานแบบครบวงจร และบริการด้านวัฒนธรรม เช่น มวยไทย อาหารไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมัคคุเทศก์มากกว่า 400 คน พร้อมให้บริการด้วย

“เรามองว่าถ้าประเทศไทยไม่มีแพลตฟอร์มด้านท่องเที่ยวใด ๆ เป็นของผู้ประกอบการไทยอาจทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยถูกครอบงำจากธุรกิจ OTA จากต่างชาติ ซึ่งเข้ามาต่อรองหาออปชั่นที่ต้องการและกอบโกยอยู่ฝ่ายเดียว”

สำหรับภาพรวมของตลาด OTA ในประเทศจีนนั้น “ธีรพล” บอกว่า ผู้เล่นหลัก ๆ คือ “ซีทริป” (Ctrip) กินส่วนแบ่งตลาดใหญ่สุดที่ 60-70% รองลงมาคือ อาลีทริป (Alitrip)ส่วนแพลตฟอร์มที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับที่รูบิกทริปส์ทำ คือ “ถูหนิว” (Tuniu)

โดยฝั่งถูหนิวเสนอขายแบบ “ทริปแห้ง” มีการกำหนดสถานที่ท่องเที่ยวมาหมดแล้ว ต่างจากของรูบิกทริปส์ที่ลูกค้าสามารถออกแบบและกำหนดเองได้ เช่น การเปลี่ยนกิจกรรมท่องเที่ยว โรงแรมที่ต้องการเข้าพักจริง ๆ และสามารถขอคำแนะนำกับเราได้เลย

รายได้พุ่ง 3.6 พันล้านในปี”63

โดยในปี 2561 ซึ่งเปิดให้บริการเป็นปีแรก คาดมีรายได้สะพัดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากช่องทางบีทูบี (business to business) ที่ 80% ส่วนบีทูซี (business to customer) อยู่ที่ 20% และมีรายได้สะพัดบนแพลตฟอร์มเพิ่มเป็น 3,600 ล้านบาทในปี 2563 หรือปีที่ 3 ของการเปิดให้บริการ แบ่งเป็นรายได้จากช่องทางบีทูซีกลับมาครองสัดส่วนมากกว่าที่ 80% ส่วนบีทูบีเหลือ 20% ทั้งนี้มองว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นไปตามคาด เพราะชาวจีนมองแบรนดิ้งของไทยอยู่ในระดับ “พรีเมี่ยมแบรนด์”

“ธีรพล” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการทำตลาด บริษัทเน้นการทำธุรกิจตาม “ช่องว่าง” สู้กับคู่แข่งในตลาด OTA ประเทศจีน ด้วยการแจกแจงที่มาของราคาแพ็กเกจท่องเที่ยวและบริการอย่างโปร่งใสและชัดเจน อย่างค่าบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ลูกค้าจะเห็นว่าค่าพักเท่าไร และค่ารักษาเท่าไร ซึ่งค่ารักษาจะเท่ากับกรณีวอล์กอินด้วยตัวเอง ทำให้ราคารวมของแพ็กเกจถูกกว่าคู่แข่ง

จ่อขยายสู่ตลาด “ไชนีส สปีกกิ้ง”

สำหรับแนวทางการโปรโมตนั้น บริษัทวางงบฯประชาสัมพันธ์ไว้ที่ 30 ล้านบาทในปีนี้ โดยนอกจากเข้าร่วมงานโรดโชว์กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่ประเทศจีนแล้ว ยังเน้นการทำ “วิชั่น มาร์เก็ตติ้ง” ผ่านการจัดทำวิดีโอในการสื่อสารตลาด

โดยมี “ป้อง-ณวัฒน์” นักแสดงไทยซึ่งได้รับความนิยมจากชาวจีน รวมไปถึงการจัดทริปนำ “อินฟลูเอนเซอร์” ชาวจีนที่เป็นกูรูเฉพาะด้านต่าง ๆ มาเที่ยวไทยจริง ๆส่วนแผนขยายธุรกิจของรูบิกทริปส์ไปยังตลาดอื่น ๆ นอกเหนือจากจีน บริษัทได้เตรียมต่อยอดไปยังตลาด “ไชนีส สปีกกิ้ง” อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า ซึ่งมีสัดส่วนตลาดเอฟไอทีสูง รวมถึงตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ด้วย

เพราะทั้งหมดนี้เป็นตลาดที่มีความต้องการด้านท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพมาก สอดรับกับการชูเป็นจุดเด่นของรูบิกทริปส์นั่นเอง !