“บีเอซี” ระดมทุน 1.2 พันล้าน (หวัง) ผลิตนักบินป้อนทั่วโลก

เตรียมแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินมาขยายธุรกิจโรงเรียนการบิน รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมาพักใหญ่แล้วสำหรับ “บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์” หรือ บีเอซี โรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นาวาอากาศโทปิยะ ตรีกาลนนท์” หรือ กัปตันปิยะ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (บีเอซี) ถึงความคืบหน้าในการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงมุมมองต่าง ๆ ต่อธุรกิจการบินดังนี้

เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

“น.ท.ปิยะ” บอกว่า เขาทำแผนเรื่องเข้าตลาดหลักทรัพย์มา 3 ปีแล้ว ประกอบด้วยหลายอย่างมาก การเติบโตของรายได้ กำไรสุทธิ ต้องดี ควรจะกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด 15 ปีของการทำงานที่ผ่านมา ข้อดีที่ผ่านมาคือ การเติบโตมีความมั่นคง อีกประเด็นที่สำคัญคือ เรื่องระบบภายในที่ต้องแข็งแรง

ที่ผ่านมาระบบของ BAC ยังมีลักษณะคล้าย ๆ กับระบบเถ้าแก่ เพราะทำมาโดยอดีตนายทหารอากาศ ดังนั้น การทำบัญชี การบริหารจัดการภายในก็จะไม่ค่อยชัดเจนเท่าที่ควร พอคนอื่นอยากจะเข้ามาถือหุ้นเขาก็อยากเห็นเรื่องของความชัดเจน โปร่งใส

“กัปตันปิยะ” บอกว่า ประเด็นความชัดเจน โปร่งใสนี้ แบ่งออกเป็น 2 เรื่องคือ internal audit และ external audit คือ ใช้ระบบการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอก โดยในส่วนของ external audit นั้นบริษัทได้ใช้ไพร้ซ วอเตอร์ เฮ้าส์ มาแล้วถึง 3 ปี สำหรับการตรวจสอบบัญชี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่วนการตรวจสอบภายใน หรือ internal audit นั้นใช้ธรรมนิติมาช่วยดูเรื่องคัมภีร์ การทำงานทั้งหมด โดยจะดูว่าบุคลากรทั้งหมดของเราได้รับการเทรนนิ่งหรือไม่ มีการมอบหมายงาน ความรับผิดชอบแต่ละตำแหน่งชัดเจนหรือไม่ การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสแค่ไหน การเลือกคู่ค้ามีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ หรือ conflict of interests ไหม

นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องความถูกต้องทางกฎหมาย โดย “กัปตันปิยะ” บอกว่า เขาใช้บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ แม้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะสูงแต่ก็เป็นอะไรที่ดีมาก เพราะเขาได้มาตรวจสอบตั้งแต่เรื่องของใบอนุญาตที่ได้มาว่าใครเป็นผู้ออก ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร มีกี่ใบ อะไรบ้าง การเสียภาษีเป็นอย่างไร มีอะไรที่เป็นสีเทาหรือไม่ หรือมีอะไรที่เป็นความเสี่ยงหรือไม่ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เนื่องจากเราเองมองไม่ทะลุในเรื่องที่เป็นมิติทางด้านกฎหมาย

ขาย IPO ระดมทุน 1,200 ล้าน

ต่อคำถามที่ว่า ตามแผนที่วางไว้นั้นจะระดมทุนจำนวนประมาณเท่าไหร่ “กัปตันปิยะ” บอกว่า มูลค่าในวันที่ BAC จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยมีแผนจะระดมทุนราว 20% ซึ่งน่าจะได้เงินเข้ามาจากการเสนอขายหุ้นใหม่แก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป หรือ ไอพีโอ ประมาณ 1,200 ล้านบาท

“เดิมโรงเรียนการบินบางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ หรือ บีเอซี บนพื้นที่บริเวณคลอง 15 นครนายก 100 ไร่ มีอาคารโรงเรียน รันเวย์ อาคารห้องพัก ฯลฯ

ครบวงจร มีกำลังการผลิตบุคลากรด้านการบินได้แค่ 250 คนต่อปี ไม่ถึง 300 คนต่อปี แต่ปีนี้เรากำลังจะรับมือกับคน 340 คน ซึ่งเกินมา 90 คน โดยจำนวนคนที่เข้ามาเรียนนั้นล้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เราก็เอาคนที่เกินไปไว้ที่โคราช โดยเปิดโรงแรมให้นักเรียน ครู รวมกันประมาณ 30 ห้อง และไปเช่าออฟฟิศที่โคราชเพื่อเปิดโรงเรียนที่โคราช ทำลักษณะคล้าย ๆ เป็นสาขา” กัปตันปิยะแจกแจงรวมทั้งยังคิดการใหญ่ด้วยการไปซื้อที่ดินบริเวณข้าง ๆ สนามบินโคราช 13 ไร่ ลงทุนไป 160 ล้านบาท (เฉพาะสิ่งปลูกสร้าง) สำหรับเปิดโรงเรียนที่ครบวงจรเช่นกัน และเพิ่มจำนวนการผลิตบุคลากรการบินจากที่นครนายก 250 คน เป็นเพิ่มอีก 250 คนที่โคราช และจะทำให้ BAC มีกำลังการผลิตบุคลากรการบิน 2 แห่งรวมกันเป็น 500 คนต่อปี

เล็งซื้อเครื่องบินใหม่ 30 ลำ

“กัปตันปิยะ” บอกอีกว่า แน่นอนเมื่อมีการลงทุนเพิ่ม บริษัทก็ต้องมีหนี้เพิ่ม ซึ่งมีตัวเลขประมาณ 80 ล้านบาท ดังนั้น เงินที่ได้จากการระดมทุนส่วนหนึ่งก็จะถูกนำไปชำระหนี้ก่อน จากนั้นเงินที่เหลือส่วนใหญ่จะนำไปใช้เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็นหลัก อาทิ ซื้อเครื่องบินใหม่ จากเดิมที่มีอยู่ 42 ลำ ใช้กับนักเรียน 300 คน ตามแผนจะเพิ่มอีก 200 คน ก็ต้องมีจำนวนเครื่องบินอีกอย่างน้อย 30 ลำ ซึ่งการซื้อเครื่องบินนั้นมีความจำเป็น เพราะหากซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ ๆ ก็จะช่วยลดต้นทุนเรื่องน้ำมันเชื้อเพลง ลดการซ่อมบำรุงได้ นอกจากนั้นเครื่องบินรุ่นใหม่ ๆ ยังมีประสิทธิภาพที่มากกว่าเครื่องบินรุ่นเก่า ๆ เป็นต้น

“การเพิ่มกำลังการผลิตก็เท่ากับการเพิ่มกำไร แต่ก็ต้องมาดูว่าการตลาดไปด้วยกันได้หรือไม่ นักเรียน 300 คน เรามีอยู่แล้ว การที่จะเพิ่มเป็น 500-600 คนนั้นจะมีคนมาเรียนหรือไม่ แน่นอนว่า คนในประเทศคงมีไม่พอ เราจะต้องมีแนวทางสำหรับการเปิดตลาดไปต่างประเทศด้วย”

โดยมองว่า เมียนมา เป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เขาบูมเรื่องเอวิเอชั่นมาก เพราะรัฐบาลส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับตลาดลาวก็มีความต้องการมาก ที่สำคัญ ประเทศเพื่อนบ้านเรารอบ ๆ เรานั้นยังไม่มีประเทศไหนมีโรงเรียนการบิน แม้กระทั่งสิงคโปร์ นอกจากนี้ประเทศที่เป็นเกาะก็ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ เพราะไม่มีที่ดินสำหรับทำรันเวย์ ไม่มีที่ให้ทำการฝึกบิน หรือตะวันออกกกลาง พื้นที่เขาสามารถทำรันเวย์ได้ แต่จะมีปัญหาเรื่องเครื่องบินฝึกบินที่ยังเป็นเครื่องบินลูกสูบ หากอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศา จะไม่สามารถฝึกบินได้ ส่วนตลาดจีนที่มีตัวแปรหลักอยู่ 2 ประการคือ 1.สภาพอากาศ จีนเป็นประเทศที่มีมลพิษสูงมาก ทำให้ทัศนวิสัยในการบินไม่ดี และ 2.น่านฟ้าจีนยังมีเรื่องของความมั่นคงทางทหาร และไม่อนุญาตให้ทำการฝึกบิน ขณะที่ในโซนยุโรป สภาพอากาศก็จะมีหิมะตกยาวถึง 3 เดือนต่อปี ซึ่งก็จะส่งผลต่อการฝึกบินเช่นกัน ส่วนประเทศไทยสภาพอากาศของเราสามารถฝึกบินได้ตลอดทั้งปี

ฝันผลิตนักบินป้อนตลาดโลก

“ผมอยากให้รัฐบาลไทยไปจับมือกับทางจีนอย่างเป็นทางการ เพราะถ้าเปิดประตูจีนได้ และมีคนจีนไหลมาเรียน ผมเป็นห่วงและกังวลอยู่เรื่องเดียวคือ เราจะเอาเครื่องบินที่ไหนมาฝึกบิน รับไม่พอแน่ ๆ ทุกวันนี้ทั่วโลกมีความต้องการนักบินอยู่ที่ 6-7 แสนคน แต่ภายใน 15 ปีนี้จะมีนักบินเกิดใหม่ได้เพียงประมาณ 1.5 แสนคนเท่านั้น”

นั่นหมายความว่า สถานการณ์ทั่วโลกจะเกิดปรากฏการณ์ขาดนักบินแน่ ๆ แค่จีนประเทศเดียวมียอดคำสั่งซื้อเครื่องบินมากถึง 30% ของทั่วโลก จีนจึงเป็นดีมานด์ที่ใหญ่มากในขณะนี้และในอนาคตหากนักบินไทยสามารถไปทำงานที่เมืองจีนได้ก็จะเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกทางหนึ่ง คำนวณง่าย ๆ เดือนละ 500,000 บาทต่อคน


หากประเทศไทยส่งออกนักบินได้ปีละ 2,000 คน ปีหนึ่งมีรายได้เข้าประเทศมหาศาล และเป็นการทำเงินประเทศแบบไม่มีต้นทุน ดังนั้น รัฐบาลควรให้การสนับสนุน และเรียกเอกชนมาคุยว่าพวกเราต้องการอะไร และให้การส่งเสริมเพราะนี่คือ โอกาสของประเทศไทย