อุบลฯ พร้อมขับเคลื่อน ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

กว่า 15-16 ปีที่ “กรมการพัฒนาชุมชน” วางแนวทางในการพัฒนาสินค้าโอท็อป (OTOP) ซึ่งในยุคเริ่มต้นนั้นเรียกว่า “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” สนับสนุนให้คนในชุมชนผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ผ่านมาตรฐานของรัฐ โดยผ่านการคัดสรรสุดยอดโอท็อปจากทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์ของชุมชน และคนในชุมชนทำมาค้าขายได้แบบพออยู่พอกินและพึ่งพาตัวเองได้

แต่ในระยะหลังนี้ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่ามหาศาลต่อปี บวกกับรัฐบาลมีนโยบายให้เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นและชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของคนในชุมชนด้วยการนำ “การท่องเที่ยว” เข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยง

ดัน “ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี”

จากทิศทางดังกล่าวนี้ “กรมการพัฒนาชุมชน” ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลและส่งเสริมกลุ่มผลิตภัณฑ์โอท็อป จึงมีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปรูปแบบใหม่ เรียกว่า ส่งเสริมและสนับสนุน “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” โดยให้ความสำคัญกับการขายผลิตภัณฑ์โอท็อปอยู่ภายในชุมชน และดึงคนหรือนักท่องเที่ยวจากนอกชุมชนเข้ามายังชุมชนของตัวเอง

เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน โดยมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ นำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต อัตลักษณ์ท่องถิ่นนั้น ๆ มาเพิ่มคุณค่าและเป็นตัวดึงดูด จากนั้นนำมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว

อุบลฯประกาศพร้อมขับเคลื่อน

“มงคล ปัตลา” พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีนั้น นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้ทางกรมการพัฒนาชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี เตรียมแผนขับเคลื่อน “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์รัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้ให้กับชุมชน ให้ชุมชนได้เรียนรู้พึ่งตัวเองได้อย่างแท้จริง

โดยในส่วนของกรมพัฒนาชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี มีแผนขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม หรือ 4 โครงการใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.หมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี จำนวน 75 หมู่บ้าน 2.หมู่บ้านโอท็อปท่องเที่ยว 8 เส้นทาง รวม 10 หมู่บ้าน ซึ่งจังหวัดอุบลฯมี 2 เส้นทาง คือ เส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมอีสานใต้ และเส้นทางท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง 3.หมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมครบวงจร 3 หมู่บ้าน คือ บ้านปากกะหลาง ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร, บ้านลาดเจริญ ต.นาแวง อ.โขงเจียม และบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไฝ่ อ.โขงเจียมและ 4.หมู่บ้านท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านตาติด ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ, บ้านช่างหม้อ ต.คำนาแซบ อ.วารินชำราบ และบ้านปากน้ำ ต.กุดลาด อ.เมืองอุบลราชธานี ในจำนวนนี้มีหมู่บ้านเป้าหมายรวมประมาณ 91 หมู่บ้าน หากนับหมู่บ้านแฝดและหมู่บ้านใกล้เคียงรวมด้วยน่าจะครอบคลุมทั้งหมดราว 100 หมู่บ้าน ซึ่งได้คัดเลือกมาจากทั่วจังหวัด

นำท่องเที่ยวมาเชื่อมโยงโอท็อป

“มงคล” ย้ำว่า หัวใจหลักของการขับเคลื่อนปีนี้ คือ การนำเอาแนวคิดของ “นวัตวิถี” มาใช้ทั้งหมด โดยมุ่งเน้น 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ พัฒนาโอท็อปด้วยนวัตกรรม, เพิ่มมูลค่าผสานวิถีชีวิตชุมชน, สร้างสรรค์ สร้างเสน่ห์อัตลักษณ์วิถีชีวิตชุมชนให้มีค่า และตลาดใหม่ในชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวคุณภาพ ยกระดับมาตรฐาน OTOP กลุ่ม D ให้พร้อมขายและสร้างรายได้ รวมถึงพัฒนา 3,273 ชุมชนท่องเที่ยวให้มีการกระจายรายได้ (local economy) ให้มีการหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เรียกว่า เป็นการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งก็คือเศรษฐกิจชุมชน โดยนำเอาการท่องเที่ยวมาเป็นตัวเชื่อมโยง ที่สำคัญ นอกจากชุมชนจะมีรายได้แล้ว คนในชุมชนก็ต้องมีความสุขร่วมกันด้วย

สร้าง “แอ่งเล็ก เช็กอิน”

ดังนั้น นอกจากการนำท่องเที่ยวมาเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์โอท็อปที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนแล้ว ยังมีเรื่องของอาหารพื้นถิ่น หรืออาหารรสไทยแท้ที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้กำหนดให้แต่ละชุมชนมีอาหารรสไทยแท้ 1 สำรับ จำนวน 5 เมนู เพื่อนำมาพัฒนาเพื่อให้เป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่งสำหรับช่วยดึงคนเข้ามาในชุมชนด้วย

นอกจากนี้ ยังพัฒนาภูมิทัศน์เพื่อดึงคนในชุมชนให้มีส่วนร่วม และเป็นแหล่งให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ “เช็กอิน” ซึ่งในธีมหลักของการท่องเที่ยวนวัตวิถีนั้นจะมีสโลแกนว่า “แอ่งเล็ก เช็กอิน” สำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในแต่ละชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีทั้ง 75 แห่งทั่วจังหวัดให้เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลักในแต่ละชุมชน รวมถึงเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักเพื่อให้กระจายออกมาสู่เมืองรองตามนโยบายของภาครัฐมากขึ้นด้วย

วางเป้า “พัฒนาชุมชนยั่งยืน”

“มงคล” ยังบอกถึงเป้าหมายสำหรับการขับเคลื่อน “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” สำหรับปีนี้ด้วยว่า ในเชิงการจำหน่ายจะต้องมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% และชุมชนได้รับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ที่สำคัญ ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีการกระจายรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของกลุ่มเป้าหมาย ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ยั่งยืน มีการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการพัฒนาแบบบูรณาการทุกพื้นที่เป้าหมาย และทำให้คนในชุมชนประกอบอาชีพมีรายได้และอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุขเพราะเชื่อว่า การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่นี้เป็นการท่องเที่ยวที่น่าภูมิใจ เป็นความสุขที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และท้ายที่สุดจะเป็นการพัฒนาที่ทำให้ชุมชนยั่งยืน…