“นกแอร์” ไขกลยุทธ์สู่ Premium Budget Airlines

nokair

ประกาศยุทธศาสตร์มุ่งสู่ “Premium Airlines” มาพักใหญ่แล้วสำหรับสายการบินนกแอร์ โดยมุ่งเน้นที่ความ “คุ้มค่า” และมีความ “แตกต่าง” จากสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามราคาและก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน

“วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ระบุว่า ที่ผ่านมานกแอร์พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของผู้โดยสาร ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์อันเป็นจุดแข็งของสายการบิน เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการให้สูงกว่ามาตรฐานของสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไป และสร้างความประทับใจสูงสุดแก่ผู้โดยสาร

วุฒิภูมิ จุฬางกูร
วุฒิภูมิ จุฬางกูร

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้บริการ “ห้องรับรองพิเศษ” (NOK AIR LOUNGE) ภายในสนามบินดอนเมือง ให้บริการผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารประเภท Nok MAX และนำเสนออีกจุดเด่นของที่นั่งบนเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737-800 ทั้ง 14 ลำ ที่มีระยะห่างระหว่างที่นั่งเฉลี่ย 31 นิ้ว มากกว่าค่าเฉลี่ยสายการบินต้นทุนต่ำที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง

พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบบัตรโดยสาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารที่แตกต่างกัน ได้แก่ Nok MAX ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ มีบริการอาหาร เลือกที่นั่งบนเครื่องบิน รวมน้ำหนักสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่อง เปลี่ยนวันเดินทางโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และใช้บริการห้องรับรองได้

Nok X-tra รวมน้ำหนักกระเป๋า เลือกที่นั่งบนเครื่องบิน และในกรณีเจ็บป่วยกะทันหัน หรือเกิดอุบัติเหตุสามารถเปลี่ยนวันเดินทางโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม Nok Lite การให้บริการปกติตามมาตรฐานสายการบินต้นทุนต่ำ

นอกจากนี้ ในปีนี้ “นกแอร์” ยังเปิดจำหน่ายบริการ “Private Seat” โดยจะเว้นที่นั่งตรงกลางไว้ ทำให้ผู้โดยสารที่ซื้อบริการนี้จะรู้สึกสะดวกสบายมากขึ้นระหว่างการเดินทาง ผู้โดยสารสามารถซื้อบริการเสริมนี้ได้ที่เคาน์เตอร์เช็กอินก่อนการเดินทางล่วงหน้า 4 ชั่วโมง ในราคา 299 บาท/ที่นั่ง

Advertisment

รวมทั้งบริหารจัดการชั่วโมงการปฏิบัติการบินใหม่ ทำให้มี “สถิติมาตรฐานการตรงเวลา” (The On-Time Performance) เกินกว่า 85% ภายในปีนี้ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลก

และต่อยอดการให้บริการ Pet On Board เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง โดยจะกันที่นั่ง 6 แถวหลังสุดเพื่อให้บริการสัตว์เลี้ยงเดินทางไปพร้อมกับผู้โดยสารในบางเที่ยวบิน นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเปิดให้บริการ “WiFi In-Flight Streaming” ด้วย

Advertisment

ส่วนปัญหาเที่ยวบินล่าช้านั้น “วุฒิภูมิ” บอกว่าได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว โดยเน้นบริหารจัดการในส่วนที่สามารถควบคุมได้ โดยในกรณีเครื่องบินไม่สามารถทำการบินได้ ปัจจุบันได้จัดทำสัญญากับสายการบินพันธมิตรเพื่อย้ายผู้โดยสารไปบินกับสายการบินพันธมิตรแทน

ขณะเดียวกัน ยังได้ทำสัญญากับบริษัทจัดการอะไหล่ในการบริหารอะไหล่เครื่องบินไว้ที่สนามบินดอนเมือง ทำให้มาตรฐานการตรงเวลาของนกแอร์สูงเกินมาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“วุฒิภูมิ” บอกด้วยว่า ล่าสุดนกแอร์ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของการปฏิบัติการ IOSA (IATA Operational Safety Audit) จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA อย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้มีแผนจะขยายเส้นทางบินออกสู่ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

เช่น หลายจุดหมายในประเทศอินเดียและจีน โดยส่วนที่ประกาศไปแล้วคือเส้นทางบินดอนเมือง-หนานจิง เริ่มบินวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ส่วนเส้นทางบินภายในประเทศ เตรียมจะเปิดบิน “ดอนเมือง-กระบี่” ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้

“นกแอร์ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเส้นทางบินต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมองว่าปีหน้าสัดส่วนเส้นทางบินในประเทศและระหว่างประเทศจะอยู่ที่ 70 : 30”

จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ที่สูงขึ้น ประกอบกับการลดค่าใช้จ่าย ภายใต้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ทำให้ในปี 2566 ที่ผ่านมา นกแอร์กลับมาทำกำไรครั้งแรกในรอบ 9 ปี โดยมีรายได้รวม 8,750 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 17% มีผลกำไรสุทธิ 47.66 ล้านบาท

เรียกว่าถือเป็นปีที่สายการบินนกแอร์ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการขยับโพซิชันนิ่งใหม่สู่ Premium Budget Airlines